Moshi Moshi สาขาแรกและมีพื้นที่ใหญ่สุดอยู่ที่สำเพ็ง และวันนี้ Marketeer มีนัดกับสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI ที่นี่

เขาย้อนอดีตให้ฟังว่าเกิดมาในครอบครัวคนจีน ที่มีพ่อเป็นเซลส์ขายของไปทั่วประเทศ จนในปี 2516 ได้เปิดร้านขายของใช้ประจำวัน เครื่องเขียน และกิฟต์ช็อปเล็ก ๆ อยู่ย่านสี่แยกบ้านแขก ชื่อร้าน “พร้อมภัณฑ์”

จุดเด่นของ “พร้อมภัณฑ์” คือในร้านจะมีสินค้าพวกของขวัญของใช้น่ารัก และเครื่องเขียนมากกว่าสินค้าอื่น ๆ นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในย่านนั้น เช่น บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศึกษานารี แสงอรุณ จึงเป็นลูกค้าประจำที่สำคัญ

จากร้านค้าปลีก ต่อมาพี่ชายของเขาเริ่มขยายธุรกิจไปเป็นร้านค้าส่ง ส่งสินค้าไปขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“ตอนเด็ก ๆ ผมชอบเอาสินค้าพวกนี้ใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่ไปเดินเร่ขายตามถนนหน้าโรงเรียนต่าง ๆ และตามย่านสำเพ็ง สนุกด้วย ได้เงินช่วยที่บ้านด้วย”

แล้วจากเด็กเดินเร่ขายสินค้ากลายมาเป็น CEO บริษัทสินค้าไลฟ์สไตล์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างไร

จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาเกิดขึ้นในช่วงที่เรียนอยู่ในชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อเซลส์ที่รับผิดชอบงานขายต่างจังหวัด 2 คนลาออกพร้อมกัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก และทางครอบครัวก็ไม่สามารถหาคนมาแทนได้แน่นอนในระยะเวลาอันสั้น

ตอนนั้นสง่าเลยตัดสินใจพักการเรียนชั่วคราว เพื่อออกไปช่วยงานที่บ้าน

ตั้งใจไว้ว่าจะหยุดเรียนก่อนแค่ 6 เดือน หาคนมาแทนได้แล้วจะกลับไปเรียนต่อ แต่ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ผมไม่เคยได้กลับไปเรียนต่ออีกเลย (หัวเราะ)”

ความตั้งใจของเขาในตอนนั้นก็คือต้องการสร้างยอดขายให้มากขึ้น  ขยายร้านค้าเพิ่มขึ้น และทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง และที่สำคัญคือคำชมของผู้เป็นพ่อ อยากทำให้ท่านภูมิใจ  

การได้เข้าไปเรียนรู้งาน เข้าไปพูดคุยกับลูกค้า ได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคผ่านร้านค้าด้วยตัวเองเป็นช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับเขาอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยและโหดมากเพราะต้องเดินทางไปทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค

คือเราจะเห็นเลยว่าสินค้าแบบไหนลูกค้าชอบไม่ชอบ สีนี้ใช่ ไม่ใช่ ไอคอนภาษาจีนลูกค้าไม่ชอบนะ ราคาที่โอเคควรจะเป็นเท่าไร”

สินค้าจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งขายได้ด้วยตัวเอง อีกกลุ่มต้องอาศัยแรงเชียร์จากทางร้าน ซึ่งจะเป็นภาระกับร้านค้าเป็นเรื่องที่ต้องเอากลับมาแก้ไขปรับปรุง

ดังนั้น นอกจากดูฝ่ายขายแล้ว สง่ายังได้กลับมาดูในส่วนพัฒนาสินค้าด้วยตัวเอง

เราต้องการทำให้สินค้านำเซลส์ คือไม่ต้องอาศัยแรงขายจากเซลส์อย่างเดียว เพราะถึงเซลส์ไม่เก่ง เซลส์ขาด แต่สินค้าต้องไปได้ ยังขายดีด้วยตัวมันเอง”

ซึ่งประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เขาได้เอามาใช้กับ Moshi Moshi ในเวลาต่อมา

หลังจากดูแลฝ่ายขายและการตลาดได้ประมาณ 5 ปี ในวันที่เขาอายุไม่ถึง 30 ปี คุณพ่อและพี่ชายจึงไว้วางใจให้สง่าดูแลภาพรวมของบริษัท และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท กิฟท์แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจขายส่งของครอบครัวอย่างเต็มตัว

บริษัท กิฟท์แลนด์มีทั้งสินค้าที่ผลิตเอง รับจ้างผลิต เป็นตัวแทนขายสินค้า และมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง

เป็นช่วงที่เหนื่อยและสนุก ด้วยวัยที่ยังหนุ่ม ไฟก็แรง และที่สำคัญเมื่อเราลงไปเรียนรู้งานเองในทุก ๆ จุด ทำให้เข้าใจโจทย์ เข้าใจปัญหาสามารถตอบมันได้ทุกข้อ แล้วค่อย ๆ ถอยออกมาสร้างคนใหม่ไปแทนเรา และมาโฟกัสเรื่องกลยุทธ์ เรื่องคู่แข่ง ยอดรายได้ก็ตามมาทำให้มีกำลังใจต่อเนื่อง”

ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย กลับต้องเจอกับ “ต้มยำกุ้ง” วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งในยุคนั้นมีทั้งลูกค้าที่สั่งของไปมีเงินแต่ไม่ยอมจ่าย และลูกค้าที่ไม่มีเงินจ่ายจริง ๆ

กลยุทธ์ลดราคา 10% ให้กับลูกค้าเป็นครั้งแรกเลยเกิดขึ้น ทำให้ลูกค้าที่ยังพอมีเงินก็ยอมจ่าย มีลูกค้าส่วนน้อยเท่านั้นที่ลดราคาแล้วยังไม่ยอมจ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ทำให้บริษัทสามารถมีเงินสดไหลเวียนเข้ามาประคับประคองธุรกิจให้ผ่านไปได้

ในช่วงเวลานั้นสง่าเริ่มมองเรื่องการส่งออก เพราะการที่ค่าเงินบาทลดมันน่าจะเป็นโอกาส จากที่ไม่เคยทำเรื่องส่งสินค้าไปขายต่างประเทศมาก่อน ขายให้ใคร ทำอย่างไร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นศูนย์ เขาได้เข้าไปหาข้อมูลพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เริ่มนับหนึ่งกับเรื่องนี้ และได้รับคำแนะนำให้ไปออกงานแสดงสินค้า และเลือกงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกงเป็นที่แรก

วันไปเราแพ็กของใส่เครื่องบินไป พอไปถึงฮ่องกงก็นั่งแท็กซี่ไปงานแสดงสินค้าอย่างทุลักทุเล เพราะของก็เต็มรถ คือเราไม่รู้แม้กระทั่งว่าที่จริงมีคาร์โก้ที่สามารถเอาของไปส่งให้เราจนถึงที่บูทเลย”

ไปแบบใจกล้ามาก ไม่รู้อะไรเลย และในงานต้องเจอคู่แข่งที่มีสินค้าประเภทนี้เต็มไปหมด ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง รู้อย่างเดียวว่าราคาเราสู้ได้  ที่บ้านก็ห้าม แต่ขอลองสักครั้งและคิดว่าถ้าเสียก็คือค่าบูท ค่าเครื่องบิน แต่ถ้าได้มันได้มากกว่าแน่นอน

ผลก็คือ วันแรกเขาเองก็แทบช็อกเมื่อมียอดสั่งของได้เกือบ 10 ตู้คอนเทนเนอร์ จากลูกค้ารายใหญ่ชาวญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้ากิฟท์ พวกสมุด ดินสอ กระเป๋าเล็ก ๆ กระจก หวี  

“ สินค้าธรรมดาที่ผู้ผลิตในประเทศเขาก็มีมากมาย แต่จุดตัดสินใจที่สำคัญคือ ราคา เพราะตอนนั้นจีนที่น่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของเราในเรื่องราคา ยังไม่เปิดประเทศ การค้าขายกับจีนในยุคนั้นยังไม่ง่าย กับอีกเรื่องคือคุณภาพ เป็นของดีราคาถูกจากไทยแลนด์ที่เขาชอบกันมาก”

เป็นการเปิดตลาดใหม่ และเปิดโลกความรู้ของสง่าครั้งใหญ่เช่นกันที่ได้ไปเห็นสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ได้เรียนรู้ว่าคนประเทศไหน ชอบไม่ชอบสินค้าแบบไหน

และที่สำคัญคือทำให้บริษัทผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้โดยไม่เจ็บตัว และหลังจากนั้นได้มีการออกงานกิฟต์แฟร์ในประเทศต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง และขายได้ทุกงาน 

แต่ก็มีพลาด

ครั้งหนึ่งเราขายไม่ได้เลยคือที่แฟรงเฟิร์ต แฟร์ ในประเทศเยอรมนี ฝรั่งกับสินค้าพวกกิฟต์สไตล์ญี่ปุ่นน่ารัก ๆ ไม่ใช่สไตล์เขา คนยุโรปชอบอะไรที่ออกแบบแปลก ๆ เท่ ๆ มากกว่า”

การรู้จักความต้องการของลูกค้า การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า เข้าใจกระบวนการผลิตมากขึ้นเพื่อปรับสินค้าให้ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุน  

ทั้งหมดคือประสบการณ์ที่สง่าสะสมก่อนตัดสินใจมาเปิดร้านขายปลีกเองภายใต้แบรนด์ Moshi Moshi (ภาษาญี่ปุน ที่แปลว่าสวัสดี) เมื่อประมาณปี 2559 โดยธุรกิจเดิมให้ครอบครัวรับผิดชอบบริหารต่อ

ธุรกิจขายส่งกำลังไปได้ดี ทำไมต้องมาสร้างแบรนด์ค้าปลีกเอง

สง่าเล่าต่อว่าก่อนหน้านั้นประมาณปี 2557  สินค้าไลฟ์สไตล์เป็นที่นิยมในบ้านเราอย่างมาก  มีผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาก็ประสบความสำเร็จอย่างดี ขยายสาขาออกไปมากมาย

ในช่วงนั้นเขาได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศจีน แล้วไปเห็นสินค้าไลฟ์สไตล์อีกแบรนด์หนึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เขามั่นใจว่าอีกไม่นานแบรนด์นี้เข้ามาในเมืองไทยแน่นอน

(แบรนด์ดังกล่าวได้เข้ามาในเมืองไทยด้วยการมาตั้งสาขาแรกที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ สาขาศรีนครินทร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559)

ถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายของกิฟท์กับสินค้าไลฟ์สไตล์ของคู่แข่งจะต่างกัน กิฟท์ของเขาโฟกัสไปที่ลูกค้าอายุ 13-18 ปี  แต่สินค้าไลฟ์สไตล์จับกลุ่มลูกค้าอายุ 18-25 ปี แต่สินค้าไลฟ์สไตล์พวกนั้นก็จะมีกิฟท์อยู่ส่วนหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าไม่ปรับตัวธุรกิจขายส่งเดิมที่ทำอยู่จะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ที่สินค้ามีความใกล้เคียงกันมาก เขาเลยตัดสินใจมาสร้างแบรนด์ค้าปลีกเตรียมชนกับคู่แข่งเอง โดยชูจุดเด่นเรื่องคุณภาพ การออกแบบ และราคาที่แข่งขันได้  และเริ่มต้นด้วยราคาสินค้าที่ 20 บาท 

2 สาขาแรกของ Moshi Moshi  คือที่สำเพ็ง ที่ปีแรกเขาขอครอบครัวใช้พื้นที่ชั้นล่างเพียงชั้นเดียวชั้น 2-4 ยังเป็นออฟฟิศของธุรกิจเดิม (ปี 2565 ที่ผ่านมาเพิ่งขยายเป็น Moshi Moshi  ทั้งหมด 4 ชั้น เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) และที่ห้างแพลทินัม ย่านประตูน้ำ

สินค้าที่วางมีความแตกต่างหลากหลายจากสินค้าเดิมที่เคยมีเกิน 80% เกือบทุกอย่างถูกดีไซน์ใหม่หมด

ประสบการณ์เดิมที่สง่ามีน่าจะทำให้เขาเริ่มธุรกิจใหม่ได้ไม่ยากแต่ Moshi Moshi กลับเจอปัญหาใหญ่เรื่องต้นทุนการผลิต เพราะเป็นสินค้าที่ถูกทำใหม่เพื่อไปขายเพียง 4 สาขา (ในปีแรก)  ทำให้ยอดผลิตต่อชิ้นยังน้อยมาก

การขยายสาขาเพื่อขยายสเกลคือบทเรียนครั้งสำคัญ เมื่อห้างใหญ่ ๆ ระดับประเทศบางแห่งไม่ยอมรับ

ผมเคยคิดว่าการขยายสาขาไม่น่ายาก เรามีเงิน มีสินค้า ต้องการเข้าห้างไหนในกรุงเทพฯ ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หลายห้างในช่วงแรก ๆ ปฏิเสธเรา Moshi Moshi  คือแบรนด์จากสำเพ็ง แต่แบรนด์อื่น ๆ ชื่อดังมาจากเมืองนอกเขาก็ต้องเลือกแบรนด์ที่คนรู้จักมากกว่าเข้าไป”

สง่าต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ เมื่อเข้าห้างดังในเมืองหลวงไม่ได้ ก็กลับไปใช้คอนเนกชันเก่าสมัยเป็นเซลส์ขอเข้าห้างในต่างจังหวัดแทน

กลยุทธ์แบบป่าล้อมเมืองก็เกิดขึ้นโดยดึงกลุ่มนักเรียน กลุ่มวัยรุ่นของแต่ละจังหวัดเข้ามาเป็นลูกค้าซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก  

จังหวัดแรกที่ไปเปิดคือห้างเทอร์มินอล 21 โคราช ทำเลที่ได้ก็ไม่ดีนักแต่วันเปิดห้างร้าน Moshi Moshi กลับคึกคักมาก ทำให้เจ้าของห้างรายอื่น ๆ ที่มาแสดงความยินดีกับผู้บริหารของห้างเทอร์มินอลเห็น อย่างเช่นเจ้าของห้างเมญ่าเชียงใหม่ ก็มาเชิญเราไปเปิดที่นั่น หรือการไปเปิดที่แฟรี่พลาซ่า ขอนแก่น ก็สามารถดึงวัยรุ่นเข้ามาได้ ทำให้ห้างระดับทอปของจังหวัดเรียกเราไปคุย”

เป็นการตอบรับที่ดีทำให้ชื่อของ Moshi Moshi เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ แล้วในที่สุดก็ได้มาเปิดตัวที่ห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ

ปัจจุบันมีร้านค้าปลีก Moshi Moshi จำนวน 106 สาขา, (กทม. 23 สาขา ต่างจังหวัด 85 สาขา) ร้านค้าปลีกแบบมีส่วนลด Moshi Moshi จำนวน 2 สาขา รวมทั้งสิ้น 108 สาขา (ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 66) 

3 ปีทอง ที่เดินเร็วยังไม่พอ ต้องวิ่งอย่างเดียว ถ้าอยากแซงคู่แข่ง

จากปีแรก (2559) Moshi Moshi มีมาร์เก็ตแชร์เพียง 3% ของสินค้าไลฟ์สไตล์ แต่หลังจากนั้นภายใน 3 ปี สง่าบอกว่าเขาสามารถสร้างมาเก็ตแชร์ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้

จากพนักงานที่มีไม่ถึง 50 คน ใน 3 ปีมีเพิ่มเป็นเกือบพันคน ในขณะที่ยอดขายแค่ 50 ล้าน ปีที่ 3 ก็สามารถแตะยอดกว่า 1.7 พันล้านบาท

แต่เป็น 3 ปีที่ผมเหนื่อยมากจากการขยายสาขา เดินเร็วยังช้า ต้องวิ่งอย่างเดียวแบบไม่หยุดด้วย”

กราฟรายได้กำลังพุ่ง Moshi Moshi  กำลังวางแผนจะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร

 แต่ก็ต้องมาเจอกับกับวิกฤตโควิด-19  ในปี 2563

น่าจะเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัส เพราะสาขาส่วนใหญ่ของ Moshi Moshi  อยู่ในห้างสรรพสินค้า ห้างปิดร้านก็ปิด ห้างเปิดคนก็ยังกลัวไม่ไปเดินอยู่ดี 

แต่สง่ากลับบอกว่ามันแค่สะดุด Moshi Moshi  กลับผ่านไปได้ และสามารถสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องติดต่อกันจนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

กลยุทธ์หลายรูปแบบเพื่อสู้กับวิกฤตออกมาในช่วงนั้น เช่น เริ่มบุกขายทางออนไลน์ ออกสินค้าใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เบาะรองหลัง เบาะรองนั่ง อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับปลูกต้นไม้ อุปกรณ์แต่งบ้าน แต่งครัว เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น รวมทั้งให้พนักงานไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ ที่ติดโควิดก่อนเราว่าเขามีสินค้าอะไรออกมาบ้าง

เป็นข้อดีของโลคอลแบรนด์ที่สามารถปรับตัวได้เร็ว สินค้าหลายอย่างเราใช้เวลาในการตัดสินใจและการผลิตที่เร็วมากไม่เกิน 2 เดือน”

เกมการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเอาสินค้ามาขายลดราคา

เราเอาสินค้า Best selling items ซึ่งไม่ควรลดราคา เพราะมันขายได้อยู่แล้ว มาปรับราคาลง ผลิตมาทีละมาก ๆ สร้างวอลุ่มให้มันเยอะขึ้น ปรากฏว่าจากที่เราเคยขายได้ 2 หมื่นชิ้นต่อเดือนกลายเป็นเราขายได้เป็นแสนชิ้นต่อเดือนจากการยอมลดกำไร กลายเป็นกำไรมากขึ้นเพราะจำนวนที่มากขึ้น”

ผลประกอบการในปี 2562-2565 บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,699 ล้านบาท, 1,362  ล้านบาท 1,255  ล้านบาทและ 1,895 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิ 311 ล้านบาท, 101 ล้านบาท  131 ล้านบาท และ 253 ล้านบาท ตามลำดับ

ผลประกอบการไตรมาส 1/2566 ทำรายได้ 562 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท และคาดหวังว่าปีนี้น่าจะทำรายได้สูงที่สุดตั้งแต่เปิดบริษัทมา

สง่าเชื่อว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คือเส้นทางที่จะทำให้เขาสามารถขยายสาขาได้เร็วขึ้น โดยในปีนี้บริษัทฯ วางเป้าหมายจะขยายสาขาใหม่จำนวน 20 สาขา

รวมทั้งขยายโปรดักส์ไลน์ได้หลากหลายขึ้น และที่สำคัญสามารถบุกไปสร้างแบรนด์ในต่างประเทศได้ด้วย โดยประเทศที่วางไว้ในระยะแรกคือกลุ่มเพื่อนบ้าน CLMV ที่มีไลฟ์สไตล์ไม่ต่างจากคนไทย

เป็นการวางแผนระยะยาวเพราะผมเชื่อว่าต่อไปแบรนด์อื่น ๆ เขาก็ต้องมีการปรับตัว ถ้าเราไม่ปรับก่อนก็อาจจะเล็กลง ๆ ได้ในอนาคต”

สง่าสรุปว่า Key Success  ของแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ Moshi Moshi เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานของทีมผู้บริหาร ที่ผนึกกำลังทางความคิดกับทีมงานรุ่นใหม่ในการดีเวลลอปเมนต์ทีม และฝ่ายวางกลยุทธ์ รวมทั้งการ Speed  ให้ทันกับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างเช่นในเร็ว ๆ นี้จะมีแคทิกอรีใหม่เป็นสินค้าเกี่ยวกับสุนัขและแมว ตอบสนองกระแส “Pet Parent” การเลี้ยงสัตว์แบบเลี้ยงลูกกำลังมาแรงไปทั่วโลก

เขาย้ำว่า

วันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญในราคาที่ถูกอย่างเดียวต่อไป แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพควบคู่ไปด้วย เมื่อก่อน Moshi Moshi อาจจะทำของดี ราคาถูก ลูกค้าก็พอใจขายได้แล้ว แต่ในวันนี้ ถูก ดี และต้องสวยดูทันสมัยด้วย ถ้าตอบโจทย์ใน 3 เรื่องนี้ได้ ตลาดก็จะเป็นของเรา”

สง่าทิ้งท้ายว่า

สำหรับผมทำงานมากว่า 40 ปี ปัญหามีทุกวัน ปัญหาเป็นเรื่องปกติ เลยไม่ได้คิดว่าต้องเครียด ก็ไล่แก้ไปเรื่อย ๆ จบก็แก้กันใหม่ เลยคิดว่าไม่กลัวปัญหา และอยู่กับมันได้ ถึงแก้ได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็จะเกิดความเสียหายกับงานน้อยที่สุด”

หลังจากล่ำลากัน เขายังหันมาบอกกับ Marketeer ด้วยเสียงหัวเราะว่า เดี๋ยวเปิดประตูห้องนี้ออกไป ปัญหาก็มายืนรออยู่ข้างนอกแล้วครับ

เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ Moshi Moshi  ไม่ได้ง่าย สวยงาม น่ารัก เหมือนสินค้า คิขุ คิขุ ตามชั้นต่าง ๆ ที่วางโชว์เอาไว้เลยจริง ๆ



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน