เมื่อก่อนรัฐต้องง้อธนาคาร เพราะธนาคารนั้นถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของประเทศ ทั้งธุรกิจน้อยใหญ่ ประชาชนทั่วไป ดังนั้น ล้มไม่ได้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธนาคารถูกกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ย้อนกลับไปเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษก่อน ภาครัฐเริ่มเข้าแทรกแซงธนาคารเมื่อประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างในเหตุการณ์วิกฤตการเงินโลกปี 2007-2008 และกับเหตุการณ์ล่าสุดกับการล้มของธนาคารใหญ่หลายธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งต่อไปจะนำไปสู่การผลักให้ระบบธนาคารไปอยู่ในการควบคุมของรัฐมากขึ้น

ธนาคารในเงื้อมมือรัฐ

11 พฤษภาคม Federal Deposit Insurance Corporation หรือหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าธนาคารขนาดใหญ่ของอเมริกาต้องเผชิญกับการสูญเสียเงินรวมกันกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์ผลพวงมาจากการที่ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ล้ม และเผลอ ๆ ตัวเลขอาจจะมากกว่านั้น เพราะอย่าลืมว่าการล่มสลายของ First Republic ซึ่งเป็นผู้ให้ธนาคารเจ้าอื่นในอเมริกา อังกฤษ และยุโรป กู้ ดังนั้น งานนี้อเมริกาเจ็บตัวสุด ๆ

พอมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทำให้ฝั่งรัฐบาลอเมริกาเริ่มคิดว่าพวกเขาควรจะให้ความคุ้มครองเงินฝากกับธนาคารขนาดใหญ่อยู่หรือไม่ เหตุการณ์ที่ธนาคารใหญ่ ๆ ในสหรัฐฯ ล้มละลายเป็นเพียงหลักฐานล่าสุดของการลดอำนาจของธนาคาร และการเพิ่มขึ้นของอำนาจรัฐในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่การประกันเงินฝาก การให้กู้ยืมฉุกเฉิน ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่ธนาคารเอาเงินฝากของประชาชนไปลงทุน การเข้าแทรกแซงเรื่องเหล่านี้ทำให้อำนาจในการดูแลตัวเองของธนาคารลดลง ตรงกันข้ามอำนาจต่อรองของภาครัฐกลับเพิ่มมากขึ้น

หน่วยงานกำกับดูแลรู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความโกลาหลนั้นจะเป็นการสปอยล์ธนาคารขนาดใหญ่จนติดเป็นนิสัยเพราะพวกเขารู้ว่ายังไงพวกเขาก็ไม่ล้ม Andrew Haldane อดีตเจ้าหน้าที่ของ Bank of England ได้เปรียบเทียบมาตรการคุ้มครองธนาคารของรัฐบาลอเมริกาว่า เปรียบเสมือน “ยางยืดที่ยืดจนเกินไป” เมื่อยางได้ยืดออกแล้ว ก็จะไม่หดกลับเป็นขนาดเดิมอีกต่อไป (เปรียบเทียบกับขนาดของมูลค่าการป้องกันไม่ให้ธนาคารล้ม)

ประกันเงินฝาก

เริ่มด้วยมาตรการ “ประกันเงินฝาก” ซึ่งในอดีตประธานาธิบดี แฟรงกลิน รูสเวลต์ มักได้รับเครดิตว่าเป็นผู้คิดค้นมาตรการนี้ แต่ในความเป็นจริงเขาต่อต้านการนำมาตรการนี้มาใช้ในปี 1934 โดยเขากังวลว่ามาตรการนี้จะนำไปสู่ความหละหลวมในการบริหารจัดการภายในของธนาคาร เนื่องจากผู้ฝากเงินที่มีประกันไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของเงินฝากประชาชนจะทำอะไรก็ได้เพราะยังไงเสียก็มีรัฐบาลคอยตามล้างตามเช็ด

โดยปกติแล้วเวลาที่เกิดวิกฤตหน่วยงานกำกับดูแลของอเมริกาก็จะรีบเข้าไปอุ้มธนาคารในแทบจะทันที (ไม่เกิน 2-3 วัน) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและเมื่อย้อนกลับไปในเหตุการณ์ที่ SVB, Signature Bank และ First Republic ล้มเราก็จะเห็นว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรีคลัง และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่างออกมาแถลงเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินฝากในธนาคารทั้งหมดมีความปลอดภัยดี นั่นก็เพราะว่า ความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของระบบการธนาคารอันเป็นการจะป้องกันไม่ให้คนแห่ไปถอนเงินพร้อมกันอันจะทำให้ธนาคารล้มทั้งระบบได้

เงินกู้ฉุกเฉิน

ถัดมาเป็นเรื่อง “เงินกู้ฉุกเฉิน” ที่บทบาทของภาครัฐกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารต้องการผู้ให้กู้ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายเนื่องจากความไม่มั่นคงในสถานะทางการเงิน ผลิตภัณฑ์เงินฝากนั้นผู้ฝากสามารถจะมาถอนเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ แต่กับเงินกู้ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อไปนั้นกว่าจะได้คืนก็อีกนาน ดังนั้น จึงไม่มีสถาบันการเงินใดที่จะมีเงินสดสำรองมากพอในกรณีผู้ฝากเงินพากันแห่มาถอนเงินพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก

Walter Bagehot อดีตบรรณาธิการของ The Economist แนะนำว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตธนาคารกลางควรปล่อยกู้อย่างเสรีแก่สถาบันการเงินที่ “มีสินทรัพย์มากเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้อย่างสบายๆ” โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ดีและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

ยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีมาตรการช่วยเหลือธนาคารมากเท่าไร ก็ยิ่งมีเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องกำหนดความเสี่ยงที่ธนาคารอาจต้องเผชิญในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น แหล่งที่มาที่สามของการควบคุมสถานะของธนาคารที่กำลังย่างใกล้เข้ามา นั่นก็คือ “การควบคุมคุณภาพสินทรัพย์”

ธนาคารทุกแห่งในอเมริกา “ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่จำกัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ธนาคารไปลงทุนและรัฐจะเข้าควบคุมว่าบรรดาต้องถือเงินทุนสำรองอยู่ในระดับเท่าใด” ดังนั้น ความเสี่ยงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการกำหนดนโยบายแทรกแซงกฎการให้ยืมเงินกันระหว่างธนาคาร

ในอเมริกา เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในตลาดการจำนอง ซึ่งถูกครอบงำโดยองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 2 แห่ง ได้แก่ Fannie Mae และ Freddie Mac ทั้งสองสถาบันร่วมกันรับประกันความเสี่ยงด้านสินเชื่อมากกว่าครึ่งหนึ่งของการจดจำนองทั้งหมดของอเมริกา

การค้ำประกันของพวกเขาทำให้คนอเมริกันชำระเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นเวลา 30 ปี เรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นภาพว่าทำไมระบบการเงินของอเมริกาถึงมีความเสี่ยงจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยมากกว่ายุโรป ซึ่งที่ยุโรปนั้นตลาดการจำนองมักจะใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว

กฎเกณฑ์ที่หละหลวม

นับตั้งแต่ Fannie and Freddie รับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยกันเอง พวกเขาก็เรียกเก็บเงินจากผู้ริเริ่มการจำนองเป็น “คะแนน” ซึ่งแปรผันตามคะแนนเครดิตของผู้กู้และอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าของทรัพย์สิน ระบบนี้เป็นไปตามอำเภอใจสำหรับผู้กู้ โดยผู้ที่อยู่ผิดด้านของเส้นแบ่งจะถูกตอก และบางครั้งความเด็ดขาดก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากการรับรู้ถึงความเสี่ยง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม กฎใหม่ถูกนำมาใช้โดย Federal Housing Finance Agency โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับผู้กู้ที่มีคะแนนสูงและตัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้กู้ที่มีคะแนนต่ำ ความตั้งใจของผู้กำกับดูแลที่ออกกฎนี้มาก็คือ การทำให้คนจนสามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

มีความจริงที่ว่าสินเชื่อที่เข้าถึงง่ายและปล่อยกู้ง่ายนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยในการทำให้ที่อยู่อาศัยในอเมริกานั้นมีราคาไม่แพง รัฐบาลได้มีคำสั่งว่าถ้าสถาบันการเงินเหล่านี้ (ที่ปล่อยกู้ง่าย) ล้ม ก็ไม่ควรได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมสำหรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ดูเหมือนว่าในช่วงระบบการธนาคารของอเมริกากำลังจะมาในรูปแบบของการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก หน่วยงานกำกับดูแลได้เพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ที่ควบคุมดูแลในเรื่องของงบดุลของธนาคารเพิ่มขึ้นมาก

ที่จริงแล้วสินทรัพย์ที่แตกต่างกันก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน หมายความว่าสิ่งที่ธนาคารเลือกที่จะลงทุนจะส่งผลต่อข้อกำหนดเงินทุนสำรองขั้นต่ำโดยรวม เช่นเดียวกับความพยายามในการกำหนดระดับของความเสี่ยงสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความซับซ้อนสูง แต่การกำหนดสัดส่วนของความเสี่ยงเหล่านี้ก็ยังมีความผิดพลาด

ยกตัวอย่างในรายละเอียดหนังสือบันทึกประวัติการขอกู้ยืมเงินของธนาคาร First Republic ที่เพิ่งล้มละลายไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าธนาคารได้มีการรับจำนองสินทรัพย์ของคนรวยที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ แต่ด้วยกฎเกณฑ์บางอย่างกำหนดให้พวกเขากลายเป็นมีความเสี่ยงสูงแทน

เหตุผลเบื้องหลังเรื่องกฎเกณฑ์นี้อาจจะมาจากการที่ผู้กำกับดูแลด้านโยบายการกู้ยืมได้มีการทำสัญญาชดเชยความเสี่ยงไว้กับธนาคาร JP Morgan Chase ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการซื้อขายหนี้ของธนาคาร ส่งผลทำให้น้ำหนักความเสี่ยงลดลง ซึ่งก็ไม่มีใครคาดว่าจะเกิดเหตุการณ์สูญเสียมาก แต่ภาครัฐอาจจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการออกกฎที่อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียที่ร้ายแรงตามมา

รัฐบาลจะไปแทรกแซงจุดไหนของระบบการธนาคารอีก? นอกเหนือจากการขยายวงเงินการประกันเงินฝากแล้ว การตอบสนองของหน่วยงานกำกับดูแลต่อความวุ่นวายในระบบการเงินที่เกิดขึ้นล่าสุดก็คือการปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยให้เข้มงวดขึ้น

กฎระเบียบในปัจจุบันอนุญาตให้ธนาคารนับมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตรรัฐบาลในช่วงระยะเวลาใดก็ได้เป็นสภาพคล่องที่มีคุณภาพสูงสุด (เช่น กองทุนที่สามารถเข้าถึงได้ในช่วงวิกฤต) ตามที่ธนาคารหลายแห่งได้เรียนรู้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พันธบัตรเหล่านี้มีมูลค่าลดลงอย่างรวดเร็วเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

สินทรัพย์ที่ว่ากันว่าปลอดภัยสุดคือ พันธบัตรระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาล และยิ่งธนาคารถือหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาลมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมธนาคารห่างไกลจากหลักการขั้นพื้นฐานของความเป็นธนาคารมากขึ้นเท่านั้น สาระสำคัญของเรื่องนี้ก็คือระบบการธนาคารกำลังจะเปลี่ยนเงินฝากระยะสั้นเป็นสินทรัพย์ระยะยาว

อนาคตของระบบธนาคาร

หลายคนอาจจะบอกว่าการที่ธนาคารมีรัฐคอยเข้ามาควบคุมก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าอยู่แล้ว ซึ่งสถาบันการเงินต่าง ๆ จำเป็นต้องถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอต่อความต้องการในการถอนเงิน ในสหรัฐฯ แนวทางนี้ได้รับการเสนอครั้งแรกในปี 1933 ในชื่อ “Chicaco Plan” ภายหลังจากที่เศรษฐกิจและระบบการเงินถูกภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซัดจนน่วม

ในปี 2013 กองทุนตลาดเงินได้รับสิทธิ์ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Fed ที่มาจากการทำ Reverse-Repo (การดึงสภาพคล่องออกจากระบบ โดยที่ Fed  นั้นจะทำการขายพันธบัตรคืนกลับสู่ตลาดและ Fed ได้เงินสดกลับมา) ทำให้คนอเมริกาสามารถฝากเงินสดไว้ในกองทุนตลาดเงิน ซึ่งจะเท่ากับการฝากเงินไว้ที่ธนาคารกลาง (FED) โดยตรง และเป็นการหลีกเลี่ยงระบบธนาคารโดยสิ้นเชิง

ผลก็คือกองทุนตลาดเงินมีกระแสเงินสดไหลกว่า 435,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการล้มของธนาคาร SVB นี่เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่ธนาคารกำลังจะต้องเผชิญในอนาคต และยิ่งถ้าหาก Fed หรือธนาคารกลางที่สำคัญอื่น ๆ ในโลก เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเองแล้วก็ยิ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เพราะสิ่งนี้จะทำหน้าที่แทนบัญชีธนาคารได้เลย

Sir Paul Tucker อดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางอังกฤษ บอกว่า ธนาคารต่าง ๆ ควรพร้อมที่จะเสนอหลักประกันที่เพียงพอแก่ธนาคารกลางในการขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินที่ครอบคลุมเงินฝากทั้งหมดของธนาคารที่มาขอกู้ เพื่อให้ธนาคารสามารถอยู่รอดได้ทั้งหมด

สิ่งนี้จะนำมาซึ่งวิธีการอื่นที่รัฐควบคุมธนาคาร อย่างเช่นรายการสินทรัพย์ที่มีสิทธิ์ใช้เป็นหลักประกันสำหรับเงินกู้ฉุกเฉิน ซึ่งต่อไปในอนาคตธนาคารจะสามารถใช้เงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น

 

อ้างอิง

https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/05/18/the-financial-system-is-slipping-into-state-control



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน