จากข่าวครึกโครมที่สร้างรอยแผลเป็นให้กับตลาดหุ้นไทยจากกรณีหุ้น Stark ที่นักวิเคราะห์ทั่วฟ้าเมืองไทยต่างพูดไปในทางเดียวกันว่า พวกเขามีเจตนาตกแต่งบัญชีให้ดูมีกำไรสวยงาม ผลการดำเนินการสวยหรูเกินจริงหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้อนาคตบริษัทดูดีทำอะไรก็มือขึ้นไปเสียหมด ทำให้นักลงทุนทั้งน้อยใหญ่ ทั้งกองทุนระดับประเทศ ไปจนถึง นักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นกู้และหุ้น ต่างหลงเชื่อใส่เงินไปชนิดหมดแม็ก

ตัดภาพมาปัจจุบันพอความจริงถูกเปิดเผยโดยสำนักบัญชี PwC ว่าบริษัทไม่ได้กำไรอย่างที่กล่าวอ้าง ทำให้ราคาหุ้น Stark ดิ่งลงจนมีมูลค่าไปแตะต่ำสุดของระดับที่ตลาดหุ้นไทยมีได้คือ 0.01 บาท หรือ 1 สตางค์เท่านั้น จากบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน กลายเป็นเพียงบริษัทมูลค่า 100 ล้านภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เชื่อหรือไม่ว่าเรื่องนี้มีประเด็นบริษัทตรวจสอบบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น คงเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้รู้จักผู้ที่อยู่เบื้องหลังความถูกต้องของตัวเลขบนหน้างบการเงิน พวกเขาเปรียบเสมือนชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ให้กับตลาดหุ้นไทย และบริษัทในตลาดทุนย่อมต้องเคยใช้บริการ 4 บริษัทด้านบัญชียักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกกันมาบ้างไม่ว่าจะเป็น PwC (PricewaterhouseCooper), EY (Ernst & Young), Deloitte, KPMG ที่ให้บริการด้านการเงินโดยเฉพาะการสอบทานและเซ็นรับรองความถูกต้องของงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักพวกเขาทั้ง 4 กันตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทไปจนถึงการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

4 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

PricewaterhouseCoopers (PwC)

PricewaterhouseCoopers (PwC) ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 จากการควบรวมกิจการของบริษัทบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่ง ได้แก่ Price Waterhouse และ Coopers & Lybrand

บริษัท Price Waterhouse ก่อตั้งขึ้นในปี 1849 โดย Samuel Lowell Price นักบัญชีจากลอนดอน บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วมากและกลายเป็นหนึ่งในบริษัทบัญชีชั้นนำของโลกในปลายศตวรรษที่ 19

ทางด้านบริษัท Coopers & Lybrand ก่อตั้งขึ้นในปี 1854 โดย William Cooper นักบัญชีจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันกับ Price Waterhouse

การควบรวมกิจการของ Price Waterhouse และ Coopers & Lybrand ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในอุตสาหกรรมการบัญชี ก่อกำเนิดบริษัทใหม่นามว่า PricewaterhouseCoopers (PwC) เป็นบริษัทบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้นจวบตนมาถึงทุกวันนี้

ส่วน PwC Thailand นั้นได้เปิดดำเนินการมากกว่า 64 ปีกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญในสายงานกว่า 1,800 คนคอยให้คำปรึกษาทางด้านบัญชี การประกันความมั่นคงในสถานะการเงิน และบริการด้านภาษี โดยมีลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมรวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ  PwC มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในอุตสาหกรรม “Healthcare”

 

Ernst & Young (EY)

Ernst & Young (EY) ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 และเกิดจากการควบรวมกิจการของบริษัทบัญชีระดับโลก 2 แห่ง ได้แก่ Ernst & Whinney และ Arthur Young & Co.

Ernst & Whinney ก่อตั้งขึ้นในปี 1849 โดย Arthur Whinney และ Frederick Whinney ลูกชายของเขา บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วในปลายศตวรรษที่ 19 และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทบัญชีชั้นนำของโลก

Arthur Young & Co. ก่อตั้งขึ้นในปี 1906 โดย Arthur Young นักบัญชีจากชิคาโก บริษัทยังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทบัญชีชั้นนำของโลก ปัจจุบัน EY สาขาทั้งหมด 150 สาขาทั่วโลกด้วยจำนวนพนักงานกว่า 300,000 คน

EY ให้บริการในด้านการประกันทางด้านการเงิน ให้คำปรึกษาด้านภาษี เพื่อให้ลูกค้าปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านภาษีของไทยอย่างถูกต้อง รวมไปถึงให้คำปรึกษาด้านการทำ Due diligence หรือการตรวจสอบสถานะเป็นกระบวนการรวบรวมและประเมินข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจหรือโอกาสในการลงทุนก่อนตัดสินใจซื้อ ขาย หรือควบรวมกิจการ

นอกจากนี้ EY ยังให้คำปรึกษาในด้านการบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ EY มีความเชี่ยวชาญพิเศษในธุรกิจ “พลังงาน”

 

Deloitte Touche Tohmatsu (Deloitte)

 Deloitte ก่อตั้งขึ้นในปี 1845 โดย William Welch Deloitte นักบัญชีจากลอนดอน Deloitte เป็นบุคคลแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สอบบัญชีอิสระของบริษัทมหาชน อย่าง Great Western Railway ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ดำเนินธุรกิจให้บริการเดินรถราง

บริษัทของ William Deloitte เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทบัญชีชั้นนำของโลก นอกจากนี้ Deloitte ยังมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนามาตรฐานการบัญชีสมัยใหม่ ที่ช่วยให้นักลงทุนมั่นใจถึงความโปร่งใสและความรับผิดชอบของบริษัทมหาชน

ต่อมาในปี 1970 Deloitte ได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทบัญชีชื่อ Haskins & Sells ก่อตั้งเป็น Deloitte Haskins & Sells และในปี 1989 Deloitte Haskins & Sells ได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทบัญชีสัญชาติอังกฤษนาม Touche Ross และก่อตั้งเป็น “Deloitte & Touche”

ปี 1993 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Deloitte Touche Tohmatsu ส่วนในระดับสากลทางบริษัทจะใช้ชื่อสั้น ๆ ว่า “Deloitte” ซึ่งชื่อใหม่นี้สะท้อนถึงการเข้าถึงบริษัททั่วโลกและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่วนคำว่า “Tohmatsu” มาจาก ชื่อ “โทมัทสึ” มาจากชื่อบริษัทบัญชีญี่ปุ่น Tohmatsu Awoki & Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Deloitte Touche Tohmatsu (ดีลอยท์ ทูช โทมัทสึ)

Tohmatsu, Awoki & Co. ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 โดย Iwao Tomita ซึ่งเป็นอดีตหุ้นส่วนของ Touche Ross Tomita ต้องการสร้างบริษัทบัญชีของญี่ปุ่นที่สามารถแข่งขันกับบริษัทบัญชีระหว่างประเทศได้ เขาจึงคัดเลือกผู้ตรวจสอบบัญชีชาวญี่ปุ่นที่เก่งที่สุดในโลก และได้สร้างสายสัมพันธ์กับ Touche Ross

ในปี 1989 Tohmatsu, Awoki & Co. ได้รวมกิจการกับ Deloitte Haskins & Sells (DH&S) เพื่อก่อตั้ง Deloitte Touche Tohmatsu การควบรวมกิจการได้สร้างบริษัทบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น และเข้าถึงได้ทั่วโลก

ชื่อ “โทมัทสึ” ยังคงใช้โดยบริษัทในเครือ Deloitte Touche Tohmatsu ของญี่ปุ่น ชื่อนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงมรดกของญี่ปุ่นของบริษัท และยังเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นของบริษัทในการให้บริการคุณภาพสูงแก่ลูกค้าชาวญี่ปุ่น

ด้าน Deloitte ประเทศไทย เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ Deloitte Touche Tohmatsu Limited ให้บริการด้านการรับประกัน ภาษี  ให้คำปรึกษาและคำแนะนำด้านความเสี่ยงแก่ลูกค้า Deloitte นั้นมีความเชี่ยวชาญพิเศษในอุตสาหกรรม “คอนซูเมอร์โปรดักส์”

 

KPMG

มาถึง KPMG ซึ่งมีประวัติและที่ไปที่มาค่อนข้างซับซ้อนแต่ถ้าให้เล่าโดยย่อก็คือ KPMG เป็นการควบรวมกิจการที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นั่นก็คือการควบรวมกิจการกับ Peat, Marwick, Mitchell & Co. ในปี 1987

การควบรวมกิจการครั้งนี้ได้สร้างบริษัทบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น และช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของ KPMG ในฐานะผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมการบัญชี การควบรวมกิจการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ KPMG คือการควบรวมกิจการกับ Klynveld Main Goerdeler (KMG) ในปี 1979 ทำให้บริษัทมีการเข้าถึงทั่วโลกและสถานะที่แข็งแกร่งในยุโรป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา KPMG เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการควบรวมกิจการ ในปี 2002 บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ Pannell Kerr Forster (PKF) ซึ่งเป็นบริษัทบัญชีขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ในปี 2009 บริษัทได้เข้าซื้อกิจการที่ปรึกษาของ PricewaterhouseCoopers (PwC) ในสหรัฐอเมริกา

จะเห็นว่าการควบรวมและซื้อกิจการเหล่านี้ช่วยให้ KPMG เติบโตทางธุรกิจและขยายการเข้าถึง ปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทบัญชี Big4 ของโลก และมีสำนักงานในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

โดยรวมแล้ว การควบรวมและซื้อกิจการของเคพีเอ็มจีเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตและความสำเร็จของบริษัท บริษัทได้ใช้การควบรวมกิจการเพื่อขยายธุรกิจ เข้าถึงตลาดใหม่ และได้รับทักษะและความสามารถใหม่ ๆ การควบรวมและซื้อกิจการเหล่านี้ช่วยให้เคพีเอ็มจีกลายเป็นหนึ่งในบริษัทบัญชีชั้นนำของโลก

 ดังนั้น ตัวละครสำคัญในตัวอักษร “K” “P” “M” “G” จะมาจาก

K ตัวแรกมาจาก Piet Klynveld นักบัญชีชาวฮอลแลนด์ได้เปิดบริษัทบัญชีร่วมกับ Jaap Kraayenhof ในชื่อ Klynveld Kraayenhof & Company (KKC) ในปี 1917 ซึ่งเป็นบริษัทบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้น

P มาจากชื่อของ William Barclay Peat นักบัญชีชาวสกอตแลนด์เข้าทำงานที่บริษัทบัญชีชื่อว่า Robert Fletcher & Co ซึ่งผลงานของเขาก็โดดเด่นมากจนมาในปี 1891 Peat เข้ารับตำแหน่งผู้นำของ Robert Fletcher & Co ต่อมา Peat ได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Robert Fletcher & Co เป็น  William Barclay Peat & Co.

M ในปี 1897 บริษัทบัญชีชื่อดังของสหรัฐฯ นาม Marwick, Mitchell & Company ถือกำเนิดขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย James Marwick และ Roger Mitchell ทั้งคู่เป็นนักบัญชีที่เป็นผู้อพยพชาวสกอตแลนด์

G ตัวสุดท้ายมาจากชื่อของ Reinhard Goerdeler นักบัญชีสัญชาติเยอรมัน เขาเคยเป็นนักบัญชีที่ทำงานให้กับ Deutsche Treuhand-Gesellschaft (DTG) ซึ่งเป็นบริษัทบัญชีของเยอรมนี DTG ถือเป็นบริษัทบัญชีที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี และด้วยความเก่งกาจของ Goerdeler ทำให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งประธาน DTG ในที่สุด ซึ่งด้วยบทบาทความเป็นประธานบริษัททำให้เขาต้องขยายบริษัทไปสู่เครือข่ายระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อหาลูกค้ารายใหญ่ ความพยายามของเขาทำให้เขาได้พบกับ Klynveld และได้ก่อตั้งบริษัทบัญชีชื่อว่า Klynveld Main Goerdeler ในปี 1979

KPMG นั้นมีความเชี่ยวชาญในหลายสาขาอย่างเช่นกันกับบริษัทบัญชีอื่น ๆ แต่อุตสาหกรรมที่ KPMG มีความถนัดที่สุดจะอยู่ในหมวดธุรกิจ “อุตสาหกรรมการผลิต

 

รายได้แต่ละบริษัทไม่ธรรมดา

ในปีที่ผ่านมา (2022) บริษัทตรวจสอบยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 มีรายได้ที่ค่อนข้างสูงมากซึ่งหลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าเพียงแค่ตรวจสอบบัญชีทำไมมีรายได้มากขนาดนี้ แต่ก็ต้องบอกว่า จริงอยู่ที่บริษัทมีงานหลักในการตรวจสอบบัญชีไปจนถึงการเซ็นรับรองงบการเงิน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและทักษะ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับนักลงทุน อีกทั้งบริษัท Big 4 ยังมีการให้บริการในสาขาความเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ อีกหลายแขนง ดังนั้น รายได้มหาศาลในแต่ละปีจึงมีที่มาที่ไปที่สมเหตุสมผล จากรายงานของเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแต่ละบริษัทได้รายงานผลประกอบการของบริษัทในปีงบประมาณ 2022 ที่ผ่านมา พบว่า

 

  • Deloitte มีรายได้ 59,300,000,000 ดอลลาร์
  • PwC มีรายได้ 50,300,000,000 ดอลลาร์
  • EY มีรายได้ 45,400,000,000 ดอลลาร์
  • KPMG มีรายได้ 34,640,000,000 ดอลลาร์

 

ทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการสอบทานงบการเงิน

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในตลาดฯ หรือนอกตลาดฯ ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งงบการเงินและจำเป็นต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมาตรวจรับรองความถูกต้องของงบการเงินด้วยกันทั้งนั้น

และเนื่องจากข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 56 ประกอบมาตรา 199 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องจัดทำงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผสานกับสาระสำคัญใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้มีการกำหนดให้ “ผู้สอบบัญชีของกิจการในตลาดทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)”

อีกทั้งตามประมวลรัษฎากรและพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ที่กำหนดว่า เมื่อกิจการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะต้องมีหน้าที่จัดทำงบการเงิน โดยงบการเงินดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบ และแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีเพื่อยืนยันว่างบการเงินที่กิจการทำขึ้นมานั้นมีความถูกต้อง

และการที่กฎหมายกำหนดว่าให้นิติบุคคลต้องจัดทำงบการเงินและผลการดำเนินงานโดยมีผู้สอบบัญชีที่น่าเชื่อถือและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทคอยตรวจสอบความถูกต้อง เพราะงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนจะถูกใช้โดยนักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับบริษัท สิ่งสำคัญคือข้อความเหล่านี้ต้องถูกต้องและเชื่อถือได้ และให้มุมมองที่ถูกต้องและยุติธรรมเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัท

ทำไมบริษัทในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ถึงใช้บริการ Big 4 ในการตรวจรับรองงบการเงิน

ความเป็นจริงภาพจำของนักลงทุนไทยมักจะคุ้นเคยว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น มักจะใช้บริการของ Big 4  แต่กฎหมายตลาดทุนและหลักทรัพย์ในประเทศไทยไม่ได้บังคับให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบงบการเงินโดยใช้บริษัทออดิท Big 4 เท่านั้น

หากแต่บริษัทที่ต้องการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและเงื่อนไขที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงต้องมีการตรวจสอบงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับการรับรองจากองค์กรสอบบัญชีระดับสูง (Certified Public Accountant: CPA) ซึ่งสามารถเป็นบริษัทใดก็ได้ที่ได้รับการรับรองจากกรมสอบบัญชีกลาง (Auditor General’s Department) หรือองค์กรสอบบัญชีระดับสูงอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้สอบบัญชีในประเทศไทยเพื่อให้สามารถตรวจสอบงบการเงินได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ

แต่ที่บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ใน SET50 ใช้บริการ Big 4 ก็เป็นเพราะชื่อเสียง ความเชี่ยวชาญของ บริษัททั้ง 4 และเพื่อเป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือของงบการเงินที่ต้องรายงานต่อสาธารณชน การใช้บริการของบริษัท Big 4 ย่อมได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่า

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าบริษัทบัญชีจะมีความเชี่ยวชาญมากขนาดไหนแต่ต้องบอกว่านวัตกรรมทางการเงินและการบัญชีก็มีวิวัฒนาการไปเร็วไม่แพ้กัน ดังนั้น นักบัญชีเองก็ต้องอัปเดตข้อมูลหรือยุทธวิธีที่ทันสมัยและต้องทัน “เหลี่ยม” กลลวงพรางทางบัญชีที่บรรดานักบัญชีในบริษัทตั้งใจจะซุกซ่อนซ่อนเงื่อนไว้เพื่อลวงหลอกนักลงทุนให้หลงกับดักเอาเงินมาลงทุน ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนทั้งน้อยใหญ่ในตลาดทุน

 

อ้างอิง

https://kpmg.com/

https://www.pwc.com/

https://www.deloitte.com/

https://www.ey.com/

https://www.connectacc.co.th/%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B5/2533/

https://www.longtunman.com/1579

https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/AuditorAccount.aspx

https://weblink.set.or.th/dat/content/rule/th/BorJorPor0100_Nof110558Eff160558TH.pdf

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online