โมโน วางแผนปั้น MONOMAX สู้ศึกสตรีมมิ่ง งานนี้มีแค่ซีรีส์จีน ปัง ปัง ไม่พอแล้ว
วันนี้ตลาดสตรีมมิ่งในประเทศไทยกำลังแข่งขันกันดุเดือด
แฟลตฟอร์มรายใหญ่ทุนหนาข้ามชาติ เช่น Netflix HBO Disney We Tv QIY VIU กำลังแย่งชิงลูกค้ากันอย่างดุเดือด
แต่ MONOMAX จากค่ายโมโนก็ประกาศว่าพร้อมขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง “สตรีมมิ่งไทย” เพื่อสร้าง Cash Cow เพิ่มขึ้นอีกตัวนอกจากช่องโมโน 29
อะไรคือความมั่นใจ
จุดแข็งเดิม ๆ ที่มีซีรีส์จีนแนวโรแมนติกดราม่าสร้างยอดวิว เช่น หมาป่าจอมราชันย์‘ ‘หยุนซี หมอพิษหญิงยอดอัจฉริยะ‘ ‘คำสาปรัก ชายาผมขาว‘ ฯลฯ คงไม่พอแน่นอน
ตามไปถอดรหัสวิธีคิดกับปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ CEO บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) ว่า อะไรคือกลยุทธ์ที่เขามั่นใจ
เมื่อ 8 ปีก่อนต้องบอกว่า “MONOMAX” เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของคนไทยผู้มาก่อนกาล เพราะคนไทยหลายคนยังไม่เคยคุ้นกับคำว่า SVOD (Subscription Video on Demand) หรือผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าสมาชิกแบบรายเดือนหรือรายปีจากสมาชิกผู้ใช้บริการ โดยสมาชิกสามารถรับชมเนื้อหารายการบน OTT
แต่วันนี้สตรีมมิ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนทั่วไปแล้ว
ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ CEO บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือโมโน บอกว่า
“สาเหตุที่เกิด MONOMAX เมื่อ 8 ปีก่อนเป็นเพราะมีความคิดว่าทีวีในอนาคตรายได้จะลดลงมา แน่นอน เพราะสิ่งที่กำลังมาแรงคือออนไลน์ ดังนั้น จึงกำหนดให้ MONOMAX เป็นธุรกิจรองในการสร้างรายได้”
จุดเด่นที่ผ่านมาของ MONOMAX ก็คือ การเป็นซีรีส์ต่างประเทศโดยเฉพาะจีนและเกาหลี และเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาเมื่อพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของโมโนแมกซ์คือกลุ่มคนผู้สูงอายุและกลุ่มคนในต่างจังหวัด การตัดสินใจให้มีการพากษ์ไทย 100% เพื่อซัปพอร์ตกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่สะดวกอ่านซับไตเติล ก็เกิดขึ้น
“ค่ายอื่น ๆ ไม่พากย์ไทย อย่างเช่น WETV อ้ายฉี่อี้ เพราะลูกค้าหลักเขาเป็นกลุ่มวัยรุ่นซึ่งไม่ชอบเสียงพากษ์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาเพิ่มต้นทุนตรงจุดนี้ เลยเป็นจุดต่างที่กลายเป็นจุดแข็ง และที่สำคัญลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและพึงพอใจในการพากย์ของเรา”
ปัจจุบัน MONOMAX มีซีรีส์จีน 129 เรื่อง และ ซีรีส์เกาหลี 123 เรื่อง ที่สามารถให้ลูกค้าหมุนเวียนรับชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ในปีที่ผ่านมา MONOMAX ยังให้ความสำคัญในการผลิตรายการเอง ทั้งคอนเทนต์หนังและซีรีส์ที่อยู่ภายใต้การผลิตของโมโนออริจินอล
“เมื่อก่อนเราขึ้นชื่อเป็นคนซื้อหนัง ซื้อซีรีส์เก่ง แต่การผลิตไม่เก่ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อซื้อมาแล้วเวลาผ่านไป 2- 3 ปี ก็หมดอายุการใช้งาน และบางเรื่องต่างประเทศอยากจะขายก็ขาย ไม่อยากขายก็ไม่ขาย การซื้อมาทำให้หนังเขาดัง แต่เราก็เหมือนเอาชีวิตไปแขวนไว้กับเขา ดังนั้น การผลิตเองบ้างก็เหมือนสร้างการบาลานซ์ให้กับตัวเราเองเหมือนกัน”
โมโนออริจินอล ประเดิมซีรีส์เรื่องแรกไปแล้วกับเรื่อง “ฟางเล่นไฟ” และภาพยนตร์ “My Next doll ยัยตุ๊กตาซ้อมรักยกกำลังสอง” รวมถึงกระแสซีรีส์เรื่องล่าสุด “เปลือกรักปมลวง HANGOUT” ที่ได้ 5 นางเอกดังมาร่วมงาน
“วันที่ 14 ธันวาคมเดือนหน้านี้ เราจะมีการเปิดตัวซีรีส์และหนังอีก 24 เรื่อง ในงบที่เราวางไว้ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบจัดสรรและไม่ได้ทุ่มเงินทั้งหมดในครั้งเดียว แต่จะค่อย ๆ ผลิตไปลงทุนไป โดยมีการคาดการณ์การใช้”
ปฐมพงศ์ กล่าวว่า
“SVOD เส้นเดิม ซีรีส์จีนช่วยพยุงไว้ได้ทำให้คนสมัครเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ส่วนที่ทำให้ยอดสมาชิกเพิ่มขึ้นชัดเจนอีกทางคือตัวโมโนออริจินอล ทุกครั้งที่ปล่อยคอนเทนต์ไทยเราจะเห็นได้ว่าจะโตขึ้น 15-25 เปอร์เซ็นต์ในเดือนนั้น แต่ทำไมที่ผ่านมามันไม่ดีดขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะเราผลิตไม่ทัน แต่หลังเดือนธันวาคมนี้เราผลิตได้ทันต่อเนื่องแน่นอน”
งบในปีต่อไปของโมโนออริจินอล คือ 1 ใน 3 (ประมาณ 33%) ของงบรวมทั้งบริษัทจากเงิน 1,200-1,400 ล้านต่อปี ซึ่งจะสามารถผลิตได้ประมาณ 16-24 เรื่อง
นอกจากนั้น โมโนแมกซ์ยังได้ AIS และ 3BB มาช่วยสร้างยอดสมาชิกด้วย
“การที่โมโนแมกซ์ไปจับมือกับ 3BB GIGATV เมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าเหมือนชาเขียวไปเจอเซเว่นอีเลฟเว่น ไปเจอจุดขายที่เหมาะสมกันพอดี เพราะ 3BB โตแข็งแรงมากในต่างจังหวัด กลายเป็นว่า MONOMAX โตขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์ทันทีในปี 2021”
และเมื่อการควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB เกิดขึ้นสถานะของ MONOMAX ก็น่าจะแข็งแรงเพิ่มขึ้นอีก
“MONOMAX เติบโตบนกล่อง 3BBGIGATV มาตลอด พอเอไอเอสควบรวม 3BB แล้ว เอไอเอสได้ทำข้อตกลงกับ MONOMAX แล้วเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชม MONOMAX ในแพ็กเกจเหมือนเดิม ซึ่งหลังการควบรวมเชื่อมั่นว่าทิศทางธุรกิจ ความร่วมมือที่วางแผนค้างไว้จะนำมาดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกค้าใครจะได้บริการ MONOMAX ต่างกันหรือไม่ สุดท้ายเป็นลูกค้า AIS ทั้งหมดที่จะเข้าถึง MONOMAX ผ่านแพ็กเกจในราคาต่าง ๆ ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้า”
ทิศทางของช่อง MONO 29 และ MONOMAX
“หลายคนอาจจะมองว่ารายได้ทีวีไม่ได้เติบโตมากนักเพราะผู้ชมย้ายไปออนไลน์ แต่ปัจจุบันธุรกิจทีวีช่อง MONO29 ยังคงเป็นอันดับหนึ่งในการสร้างรายได้ให้โมโนอยู่ครับ เพราะเวลาเราพูดถึงสินค้าที่เป็นสเกลใหญ่ อย่างเช่น บ้าน รถ ที่อยากให้คนรับรู้ในภาพลักษณ์ที่ดี ผมว่าตัวทีวียังคงมีความสำคัญต่อแบรนด์ในการสร้างความรับรู้และความน่าเชื่อถือไม่เปลี่ยนแปลง”
รายได้ของทีวีมาจากเม็ดเงินโฆษณาของอุตสาหกรรมโดยรวมที่ต้องพึ่งพายอดเรตติ้งเป็นหลัก
ส่วน SVOD ธุรกิจดาวรุ่งของโมโนมีรายได้มาจากลูกค้าที่เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก MONOMAX ซึ่งได้เห็นทิศทางกระแสโลกว่าจำนวนคนดูทีวีเริ่มอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่ SVOD มันยังสามารถโตได้อีก คอนเทนต์แต่ละรายมีจุดแข่งขันต่างกันและหลากหลายแบบ long-tail จึงมีโอกาสเติบโตจากเม็ดเงินในตลาดที่ขยายตัวได้อีกเป็นไปตามเทรนด์โลก
9 เดือนแรกของปี 2565 โมโนเน็กซ์มีรายได้ 1,546 ล้านบาท มาจากทีวี 1,060 ล้านบาท โมโนแมกซ์ 293 ล้านบาท 3BB ทีวี 123 ล้านบาท ช้อปปิ้ง 20 ล้านบาท อื่น ๆ 54 ล้านบาท
ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2566 โมโนเน็กซ์ มีรายได้ 1,387 ล้านบาท มาจากทีวี 795 ล้านบาท โมโนแมกซ์ 400 ล้านบาท 3BB ทีวี 123 ล้านบาท ช้อปปิ้ง 20 ล้านบาท อื่น ๆ 49 ล้านบาท
จากการสำรวจและวิจัยจะพบว่าการดูทีวีจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ของทุกปี เพราะคนรุ่นใหม่จะคุ้นเคยกับการชมคอนเทนต์ทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า
“เด็ก ๆ วัยรุ่นสมัยนี้เขาไม่ดูทีวี และไม่สนใจว่าต้องมีทีวีในห้องหรือในบ้าน ขอแค่โน้ตบุ๊กหรือไอแพดเครื่องเดียวพอ”
ดังนั้น ธุรกิจของ โมโน ต่อไปนี้จะไม่ได้พึ่งพารายได้โฆษณาทีวีอย่างเดียว จะมีรายได้ของ MONOMAX ที่เติบโตขึ้นมาคู่กัน
คู่แข่งรายแรกที่เป็นโกลบอลพรีเมียมของเรา คือ Netflix
ตามการอ้างอิงของข้อมูล TV and SVOD Viewership เรตติ้งโดยรวมแพลตฟอร์มดิจิทัลเดือนกันยายน 2566 โดย Nielsen (นีลเส็น) บริษัทที่ทำการวิจัยตลาด MONOMAX อยู่ในลำดับที่ 11 มีอัตราการเข้าถึงครัวเรือน (penetration) 17%
“คู่แข่งรายแรกที่เป็นโกลบอลพรีเมียมของเรา คือ Netflix อยู่ในลำดับที่ 7 ถ้าเปรียบเฉพาะตลาด SVOD เราตาม Netflix เพียงค่ายเดียว จากอันดับตรงนี้ ผมหวังว่า MONOMAX ยังเติบโตได้อีก”
ตัวเลขจากการคาดการณ์ ในปี 2022 ของ กสทช. ระบุว่า รายได้ของ OTT ในประเทศไทยประมาณ 14,600 ล้านบาท จากจำนวนครัวเรือนปี 2022 ประมาณ 22 ล้านครัวเรือน อัตราการเข้าถึงของ OTT/SVOD 36 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022
ปัจจุบัน MONOMAX มียอดผู้ใช้งานของ MONOMAX อยู่ที่ 860,000 ราย โดยคาดว่าจะมีสมาชิก 2 ล้านรายในปี 2567 พร้อมมีเป้าหมายผลักดันรายได้กลับขึ้นมาในระดับ 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2568-2569”
ในเรื่องโครงการระยะยาวกำลังจับมือกับบริษัทที่ทำ AI เพื่อทำซับไตเติลได้หลายภาษามากขึ้น อาทิ จีน ไทย ภาษาประเทศเพื่อนบ้านและภาษาอังกฤษ
“นอกจากนั้น ก็เริ่มใช้ AI พากย์เสียงโดยใช้เสียงต้นแบบที่ใกล้เคียงเสียงนักแสดงคนนั้น ๆ โดยจะเริ่มกับการดูคลิปออนไลน์ของ MONO29, ซีรีส์, หนัง, คอนเทนต์ดูดวง ฯลฯ ตอนนี้อยู่ในช่วงพัฒนาอยู่ครับ”
CEO ของโมโนยังย้ำว่า
“จุดเด่นของเราคือการพากษ์ไทย แต่จุดอ่อนเราเป็น Local Business จะให้สเกลของธุรกิจแรงเท่าระดับโลก บางครั้งก็ยอมรับว่าเราไม่มีพลังพอ แต่เราก็จะพยายามต่อไป”
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ