เมื่อวานนี้ (23 ม.ค. 67) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ วิลเลียม ไฮเน็ค นักธุรกิจสัญชาติไทยเชื้อสายอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง ไมเนอร์กรุ๊ป หรือ MINT ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ในวัย 74 เขายังดูแข็งแรงและกระฉับกระเฉง ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แตกต่างไปจากเมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ชีวิตของเขาแทบพัง

จากตัวเลขกำไร 10,698 ล้านบาท ในปี 2562 กลายเป็นตัวเลขขาดทุนสูงถึง 21,407 ล้านบาทในปี 2563

เขาเคยออกมาพูดว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของไมเนอร์ เมื่อโรงแรมทั่วโลกซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ขององค์กรไม่มีรายได้เข้ามาเลย

เมื่อพายุร้ายผ่านไปในปี 2565 ไมเนอร์ กรุ๊ป กลับมาทำกำไรได้อีกครั้งที่ 4,286 ล้านบาท

ส่วน 9 เดือนแรกปี 2566 ทำรายได้ 113,501 ล้านบาท กำไร 4,630 ล้านบาท

ถึงวันนี้วิลเลียมมั่นใจว่าไมเนอร์จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากหลากหลายนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว

แต่เขายังมีข้อเสนอแนะรัฐบาลในอีกหลายเรื่องเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ตามไปอ่านเรื่องราวและข้อเสนอแนะของนักธุรกิจที่มีอิทธิพลคนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผู้เริ่มต้นสร้างอาณาจักรจากธุรกิจทำความสะอาด เงินลงทุนก้อนแรกคือการซื้อถังน้ำพลาสติกและไม้ม็อบถูพื้น

ปัจจุบันไมเนอร์กรุ๊ปประกอบไปด้วย  3 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์

78% ของรายได้ทั้งกรุ๊ปมาจากธุรกิจโรงแรม ทั้งในรูปแบบเป็นเจ้าของเอง บริหารจัดการ และร่วมลงทุนซึ่งมีมากกว่า 530 แห่ง จํานวนห้องพักทั้งสิ้น 78,588 ห้อง ใน 60 ประเทศทั่วโลก

เป็นรายได้จากประเทศในยุโรปสูงสุด 70% อันดับ 2 มาจากประเทศไทย 11% (จำนวนโรงแรมในเมืองไทยมีประมาณ 34 แห่ง)

ถึงแม้ทั้งกรุ๊ปจะเจอวิกฤตหนักในช่วงโควิด-19 แต่ผลประกอบการโรงแรมในช่วงสิ้นปี 2566 (ที่จะประกาศในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 67) สูงกว่าระดับในช่วงก่อนโควิดแล้ว และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2567

สร้างความมั่นใจให้เขากล้าวางแผนจะต้องมีโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็น 780 แห่งใน 3 ปีข้างหน้า และจะกลับมาบุกตลาดในเอเชียมากขึ้นโดยตั้งเป้าว่า 12% ของจำนวนห้องพักทั้งหมดในเอเชียจะเพิ่มเป็น 23% ในปี 2569

วิลเลียมกล่าวชื่นชมรัฐบาลว่าผลประกอบการที่แข็งแรงขึ้นของไมเนอร์ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาลในหลายเรื่อง เช่น การขยายเวลาเปิดให้บริการของสถานบันเทิง การลด-เลิกภาษีไวน์ สุรา และการสร้างสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน

เขาย้ำว่า

“การลด-เลิกภาษีไวน์ สุราเป็นเรื่องที่ผมขอกันมาหลายรัฐบาล แต่เพิ่งจะเป็นจริงในรัฐบาลนี้เอง”

ตัวเลขที่ยืนยันความสดใสในปีนี้ คือ ปริมาณการจองห้องพักของโรงแรมในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปี 2567 ที่สูงกว่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 20-30% และจำนวนห้องพักที่นักท่องเที่ยวชาวจีนได้จองไว้ก็พุ่งทะยานไปเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทำให้มั่นใจว่ายิ่งถ้ามีมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนเป็นการถาวรตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 นี้ จะยิ่งทำให้คนจีนมาเมืองไทยมากขึ้นไปอีก และจะกลับมาเป็นที่ 1 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยอีกครั้ง

เขายังมั่นใจว่าปี 2567 ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะไม่สูงเท่าปี 2019 แต่ยอดใช้จ่ายต่อหัวอาจจะเท่าหรือสูงกว่าในปี 2019 ด้วยซ้ำ ดังนั้น ยอดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้สำคัญเท่านักท่องเที่ยวที่มามีคุณภาพมากขึ้น และพร้อมเที่ยวพร้อมจ่ายในช่วงเวลานี้

ซึ่งในเรื่องของพลังค่าใช้จ่ายต่อหัวนั้น ไมเนอร์กรุ๊ป ซึ่งจับกลุ่มไฮเอนด์จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

นอกจากจีนแล้ว กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินเดียก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่วิลเลียมมองว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และเข้ามาในเมืองไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“สมัยก่อนชาวอินเดียอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช้จ่ายสูงนัก แต่ปัจจุบันเป็นกลุ่มที่พร้อมจ่าย ดูจากการเข้ามาจัดงานแต่งงานที่โรงแรมของเราที่จะจัดงานหรูหราจ่ายไม่อั้น”

ในขณะเดียวกัน ปีนี้ความพร้อมในการเตรียมตัวของสายการบินต่าง ๆ ที่จะขยายจำนวนเที่ยวบินก็มีเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

4 เรื่องสำคัญในการนำเสนอต่อรัฐบาล

วิลเลียมยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในหลายเรื่องคือ

1. การส่งเสริมด้านซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยใช้สถานที่ในประเทศไทยที่มีทัศนียภาพอันสวยงาม เรื่องอาหารไทย การดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ด้านกีฬา ตลอดจนดนตรี

“รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางการเงิน (incentive) สนับสนุนการจัดคอนเสิร์ตระดับโลกในเมืองไทยให้มากขึ้น ดังเช่นที่ให้การสนับสนุนการถ่ายทำหนังและภาพยนตร์ในประเทศไทยมาแล้ว”

2. การสนับสนุนสายการบินและสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และการปรับลดค่าโดยสารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การทำการตลาด เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและลดความเสี่ยง

3. มาตรการลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซั่น ในไตรมาส 2 และ 3 ของแต่ละปี

4. การส่งเสริมวีซ่าเกษียณอายุ ซึ่งไม่เพียงแต่จะดึงดูดชาวต่างชาติที่เกษียณแล้วให้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สูงขึ้น

“ผมมั่นใจว่านโยบายต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยผลักดันธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีกในปี 2567 นี้”

สำหรับในเมืองไทย ไมเนอร์ ยังมีแผนที่จะเปิดโรงแรมอย่างต่อเนื่อง และเตรียมเปิดโรงแรมใหม่ที่ปารีสอีก 3 แห่ง เพื่อรองรับกีฬาโอลิมปิก รวมทั้งมีแผนเปิดโรงแรมที่เฮลซิงกิ เมืองหลวงของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไปบุกตลาดในย่านนั้น

นอกจากนี้ MINT ยังเป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,600 สาขา ใน 24 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, ไทย เอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, คอฟฟี่ เจอนี่ และกาก้า

นอกเหนือจากร้านอาหารพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กว่า 1,000 สาขา (เช่น S&P และเบรดทอล์ค) อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และรับจ้างผลิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ อเนลโล่, เบิร์กฮอฟฟ์, บอสสินี่, ชาร์ล แอนด์ คีธ,

รู้จัก วิลเลียม ไฮเน็ค

ตำนานการสร้างตัวของ วิลเลียม ไฮเน็ค นักธุรกิจสัญชาติไทย เชื้อสายอเมริกัน คนนี้อาจจะไม่ต่างจากมหาเศรษฐีไทยที่มีบรรพบุรุษหอบเสื่อผืนหมอนใบล่องเรือมาจากเมืองจีน เพียงแต่ของวิลเลียมจะเป็นเวอร์ชั่นจากภาคตะวันตก

เขาย้ายมาเมืองไทยพร้อมพ่อและแม่ในช่วงสงครามเวียดนามขณะอายุได้ 14 ปี  ในวัย 17 เขาเริ่มต้นสร้างอาณาจักรไมเนอร์กรุ๊ป ที่ทำรายได้ต่อปีกว่า 1 แสนล้านบาท ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก แค่หลัก 2 หมื่นกว่าบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ถังพลาสติกและไม้ม็อบถูพื้น และซื้อเวลาโฆษณาจากสถานีวิทยุท้องถิ่น เพื่อสื่อถึงธุรกิจแรกของเขา

จากนั้นอัปเลเวลมาเป็นเจ้าของโรงแรมและร้านอาหารเล็ก ๆ ในเมืองพัทยา ก่อนที่จะขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นนักธุรกิจที่มีกิจการอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

เป็นตำนานนักธุรกิจที่สู้ชีวิตคนหนึ่ง ที่หลายครั้งชีวิตก็สู้กลับ แต่เขาก็ผ่านมันมาได้

——————————————————————–

ผลประกอบการ 5 ปีของ MINT

ปี 2562 รายได้   129,061 ล้าน           กำไรสุทธิ 10,698 ล้าน

ปี 2563 รายได้  58,232 ล้าน               ขาดทุน 21,407   ล้าน

2564 รายได้   76,211  ล้าน                 ขาดทุน  13166  ล้าน

ปี 2565 รายได้ 123,809 ล้าน             กำไร 4,286 ล้าน

9 เดือนแรกปี 2566  รายได้  113,501 ล้าน กำไร  4,630 ล้าน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online