ร้านขายโทรศัพท์มือถือ หรือเรียกกันติดปากว่า ร้านตู้มือถือ จากอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กให้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ จนทำให้มนุษย์เงินเดือนหลายคนลาออกจากงานประจำมาเป็นเจ้าของร้าน จนเกิดปรากฎการณ์ร้านตู้มือถือมีทำเลตั้งแต่ในห้างยันตลาดนัดจนไปถึงในซอยเลยทีเดียว

แต่ตอนนี้ร้านตู้มือถือกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ และหายสาบสูญไปหลายร้าน ถึงจะไม่มีตัวเลขยืนยันว่าหายไปเท่าไร แต่หลักฐานที่มีน้ำหนักนอกจากสายตาเราที่มองเห็นแล้วนั้น

ทั้ง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่เปิดเผยผลสำรวจว่าในอนาคตลูกค้าจะซื้อ Smartphone จากร้านตู้เหลืออยู่แค่ 15% สุดท้ายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยกให้ธุรกิจร้านตู้มือถือติด 1 ใน 10 ธุรกิจดาวร่วงประจำปี 2018

ทำไมร้านตู้ขายมือถือถึงต้องเลิกกิจการไปหลายร้าน ทั้งๆ ที่ยอดขาย Smartphone เติบโตต่อเนื่องทุกปี

กลยุทธ์ ร้านตู้มือถือ

วิกฤติทุกอย่างย่อมมีที่มา ปัญหาที่รุนแรงที่สุดนั้นคือการแข่งขัน AIS, dtac และ True ในกลุ่ม Smartphone ราคา 10,000 บาทอัพ ที่ในหลายๆ รุ่นราคาถูกกว่าร้านตู้มือถือ ถึงจะแลกมากับเครื่องที่ผูกติดสัญญาแต่ลูกค้าก็เลือกจะซื้อกับ Operator เพราะถึงอย่างไร ก็ต้องใช้บริการเครือข่ายสัญญาณ 4G อยู่ดี

Operator เลือกจะหยิบกำไรต่อการขาย Smartphone 1 เครื่องแบบบางเฉียบ แต่แลกกับการที่ลูกค้าต้องใช้บริการตัวเองระยะยาวก็ถือว่าเป็นการทำธุรกิจที่คุ้มค่า 

ร้าน Brand shop ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้ง Samsung และกลุ่มแบรนด์จีนเองเลือกจะขยายสาขาต่อเนื่อง ที่มาพร้อมกับการสื่อสารบิวด์ว่าซื้อเครื่องจาก Brand shop จะได้บริการที่เหนือกว่าซื้อจากที่อื่นๆ 

สุดท้ายคือมีร้านตู้มือถือจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ซื่อสัตย์กับการขายสินค้าทั้งการ สอดไส้สับเปลี่ยนอะไหล่,การนำเครื่องหิ้วหลอกขายว่าเป็นเครื่องศูนย์, การหลอกขาย Smartphone มือสองที่ชำรุด และอีกสารพัดปัญหามากมาย

ปลาเน่าหยิบมือเดียวแต่เหม็นไปทั้งฝูง เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดกระแสบอกต่อปากต่อปากแล้วแชร์กันสนั่นในออนไลน์ ทำให้คนทั่วไปมองภาพร้านตู้มือถือติดลบ

ขณะเดียวกันยักษ์ใหญ่อย่าง Com 7 เองก็กำลังมีภารกิจสำคัญคือการเปลี่ยนคู่แข่งร้านตู้มือถือให้เป็นเพื่อนทางธุรกิจโดยการขายแฟรนไซส์ให้แก่ร้านค้าตู้มือถือภายใต้แบรนด์ BANANA

ซึ่งจะมีร้านค้าหลายตู้ส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับไอเดียนี้ เพราะข้อดีของโมเดลที่ BANANA เสิร์ฟให้คือไม่ต้องแบกรับต้นทุนสูงเหมือนเปิดร้านเอง ถึงจะแลกมากับกำไรที่น้อยลงต่อการขาย Smartphone 1 เครื่องก็ตามที

สถานการณ์ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ใช่ว่าร้านตู้มือถือจะสูญพันธุ์ไปหมด เพราะก็ยังมีอีกหลายร้านที่ยืนได้ในสภาวะเช่นนี้

แล้วร้านเหล่านี้มีกลยุทธ์และวิธีอย่างไรให้ตัวเองมีลมหายใจ จากการสอบถามเจ้าของร้านตู้มือถือย่านพระราม 5 เปิดเผยให้ฟังไว้อย่างน่าสนใจ

อันดับแรกสุดคือการหลีกหนีที่จะขาย Smartphone รุ่นแพงๆ ชนกับเหล่าบรรดา Operator และ ร้านมีแบรนด์ มีสาขา แม้ร้านตู้มือถือเหล่านี้จะมี Smartphone ราคาแพงขายก็ตามที

แต่…จะเน้นขายหลักๆ คือ Smartphone รุ่นราคา 3,000 – 7,000 บาท โดยรุ่นต่างๆ เหล่านี้เป็นตลาดที่ Operator ไม่ค่อยทำโปรโมชั่นแบบเครื่องผูกสัญญา

ที่นี้คู่แข่งร้านตู้มือถือจะเหลือคู่แข่งแค่คนเดียวคือกลุ่มร้านค้าที่มีสาขา การเปิดเกมสงครามราคาย่อมง่ายกว่า เพราะร้านเหล่านี้มีต้นทุนพนักงานและค่าเช่าพื้นที่ห้าง

ขณะที่ร้านตู้มือถือค่าเช่าพื้นที่ย่อมถูกกว่าด้วยขนาดร้านที่เล็ก บางร้านใช้พื้นที่ขายคือบ้านของตัวเองที่ติดริมถนนแล้วจ้างพนักงานน้อยกว่าหรือบางร้านไม่มีเลย

ร้านตู้มือถือจึงสามารถทำราคาขายในกลุ่ม Smartphone ราคา 3,000 – 7,000 บาทได้ถูกกว่าร้านที่มีสาขา อยู่ที่ว่าร้านไหนเลือกจะหยิบกำไรต่อเครื่องเท่าไร

อีกทั้งหลายร้านยังมีบริการให้เช่า Smartphone หรือการผ่อนชำระเป็นงวดๆ กับเจ้าของร้านตู้มือถือ 

เพราะร้านตู้มือถือรู้ดีว่า ยุคนี้ไม่ใช่ยุครุ่งเรืองของธุรกิจตัวเอง หากคิดจะทำธุรกิจที่ไอเดียเดิมๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอด

เพราะในวันที่เกมเปลี่ยน…ร้านก็ต้องเปลี่ยน…แล้วหาจุดยืนตัวเองให้เจอ

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online