แม้ 4 เดือนแรกของปี 2018 “ตลาดเครื่องใช้ฟ้าและไอที” มูลค่า 240,000 ล้านบาท ของเมืองไทยจะยังนิ่งสนิท ไม่เห็นวี่แววของการเติบโต
หาก จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้าเพาเวอร์ มอลล์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็ยังเชื่อว่าทั้งปีจะมีการเติบโตราว 3%
พร้อมกับบอกว่าต้องจับตาให้ดีๆ เพราะปีนี้บางเซ็กเมนต์ก็สร้างความแปลกใจ ค้นหา Turning Point จนเจอพร้อมกับสร้างตัวเลขเติบโตจนเหลือเชื่อ และบางเซ็กเมนต์ก็สร้างความผิดหวัง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“จอเล็ก” ไม่เร้าใจเท่า “จอใหญ่” อีกแล้ว
แน่นอน! เซ็กเมนต์ที่สร้างตัวเลขเติบโตจนเหลือเชื่อ คือ “ตลาดทีวี” ที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเจอพายุพัดกระหน่ำ เนื่องด้วยการเฟื่องฟูของวิดีโอไลฟ์สตรีมมิ่ง ที่เสิร์ฟคอนเทนต์ที่ “ต่าง” และสามารถดูได้ทุกที ไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอเพื่อรอให้ถึงเวลาออกอากาศ มาเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูจากหน้าจอใหญ่ เป็นจอเล็กของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
และถึงจะบอกว่าสมาร์ทดีไวซ์สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้ชมก็เริ่มรับรู้แล้วว่า ความคมชัดไม่สามารถสู้ทีวีได้เลย ในขณะที่แบรนด์ก็รับรู้แล้วว่า เมื่อคนดูต้องการดูคอนเทนต์ในออนไลน์ ก็ยัดแอพพลิเคชั่นเข้าไปซะเลย จนเกิดเป็น “สมาร์ททีวี” พร้อมกับเสริมด้วยจอ 4K ให้ดูชัดเต็มตา
กลายเป็น Turning Point ที่ยืนยันด้วยสัดส่วนการขายของสมาร์ททีวี ที่เพิ่มขึ้นเป็น 50% จาก 3 ปีก่อนที่อยู่ราว 20% เท่านั้น ส่วน 4K ที่แม้เข้ามาในตลาดได้ 6-7 ปีแล้ว แต่ผู้ชมก็เพิ่งรู้จักและได้รับความนิยมในช่วงหลังนี้เอง โดยวันนี้มีสัดส่วนในตลาดราว 40-50%
“บอลโลก 2018” ความหวือหวาที่มากกว่า “บอลโลก 2014”
ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ที่รัซเชีย ก็เป็นการย้ำถึง Turning Point ของตลาดทีวี เพราะถึงช่วง 5 เดือนแรกจะเติบโต 5-6%
แต่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงช่วงก่อนฟุตบอลโลก ตัวเลขการเติบโตได้ติดจรวดขึ้นมาเป็น 25% หวือหวาที่สุดในรอบ 5 ปี และมากกว่าฟุตบอลโลก 2014 ที่เติบโตราว 10% เท่านั้น
เมื่อมองลึกเข้าไปถึงหลังจอทีวี จักรกฤษณ์ บอกว่า มี 2 เหตุผลหลักที่สร้าง Effect คือ
1.การเติบโตของทีวีจอใหญ่ ในขณะที่ทีวีจอเล็ก 32 นิ้ว และ 40 นิ้วไม่โตมาก ในแง่มูลค่า ส่วนจำนวนโตประมาณ 10% กลับกันทีวีจอใหญ่ขนาด 50 นิ้วขึ้นไป อัตราการเติบโตมากกว่า 40% ขณะที่ 60 นิ้ว โตมากกว่า 100% ในแง่ของมูลค่าในช่วงบอลโลก
2. จำนวนทีวีที่ขายช่วงที่ผ่านมา ทุกแบรนด์ไม่สนใจ Full HD เลย มุ่งไปหา 4K อย่างเดียวเลย
ใครๆ ก็ชอบดู “ทีวีจอใหญ่”
เขาบอกต่อว่า ทีวีจอใหญ่เติบโตเพราะมีปัจจัยราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการนำเสนอราคาที่ดีมากๆ ในช่วงบอลโลกโดยขนาด 50-59 นิ้ว ลดเฉลี่ย 30% จาก 30,000 บาท เหลือราคาประมาณ 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับฟีเจอร์ของเครื่องด้วย
ส่วนทีวี 60 นิ้วขึ้นไป ลดราคามากกว่า 50% จากแต่ก่อนประมาณ 80,000 – 90,000 บาท เหลือเฉลี่ยประมาณ 50,000 – 60,000บาท
“เหตุผลหลักที่ทำให้ราคาที่ลดลง เป็นผลจากในแง่ของผู้บริโภคที่วันนี้ดูทีวี 40 นิ้วไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้แล้ว ทุกคนก็ไปที่จอขนาดใหญ่ ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิตก็มองว่า ทีวีจอใหญ่เป็นเหตุผลหลักในการทำให้ตลาดทีวีเติบโต จึงเน้นออกรุ่นจอใหญ่มากขึ้น”
“เมื่อบวกกับเทคโนโลยีที่นำเข้าไปใส่ในจอขนาด 50 – 60 นิ้ว ซึ่งเป็นขั้นต่ำที่รอบรับ 4K สมมุติว่าลูกค้าพอใจที่ 40 นิ้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ 4K ใช้ Full HD ดูก็ได้ แต่ไม่ใช่อย่างนั้น จึงทำให้ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นส่วนผสมที่ทำให้ตลาดทีวีจอใหญ่นั้นเติบโต”
นอกจากนี้ในระยะหลัง การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ด้วยการทุ่มเม็ดเงินทำตลาด รวมถึงการอัดเทคโนโลยีเข้าไปในทีวี และการออกแบบดีไซน์ใหม่ๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภค ตัดสินใจเปลี่ยนทีวีเร็วขึ้น ซึ่งวันนี้อัตราการเปลี่ยนได้ลดลงเหลือ 5 ปี จากเมื่อก่อน 7-10 ปี
ได้สร้างความมั่นใจให้กับ จักรกฤษณ์ ถึงขนาดที่บอกว่า ตลาดทีวีมูลค่า 30,000 ล้านบาท ปีนี้จะต้องเติบโตประมาณ 12 – 15% อย่างแน่นอน ซึ่งตัวเลขนี้สูงที่สุดของเครื่องใช้ฟ้าและไอที
5 เดือนแรก “ใครโต – ใครร่วง”
และไม่ใช่แค่ตลาดทีวีเท่านั้น ยังมีตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก มูลค่า 60,000 ล้านบาท ในบางเซ็กเมนต์ยังเติบโตได้ดีอีกด้วย
โดยในช่วง 5 เดือนแรก “ตลาดตู้เย็น” โต 7-8% ซึ่งเป็นการเติบโตหลังจากใน 2 ปีหลังไม่โตเลย ด้าน “ตลาดเครื่องซักผ้า” 4-5% ซึ่ง 2 ปีหลังโตเล็กน้อยมาก 1-2% ส่วน “เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก” โตเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งปีก่อนหน้าโตประมาณ 7-8%
“ตลาดกล้อง” เริ่มกลับมาโตไปอัตราทั่วไป และ “ตลาดคอมพิวเตอร์” เริ่มดีขึ้น แม้จำนวนเครื่องอาจจะไม่โต แต่มูลค่าเติบโตได้ดี เพราะผู้บริโภคหันกลับมาเน้นโน๊ตบุ๊คที่มีดีไซน์มากขึ้นและสเปคที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเกมมิ่งที่มีราคาสูง
แน่นอนมีเติบโตก็ต้องมี “ร่วง” ตลาดแรกที่เดินทางอยู่ในแดนลบ คือ “เครื่องปรับอากาศ” ที่กำลังได้รับผลกระทบจากอากาศที่ไม่เป็นใจ โดยเฉพาะฝนที่มาเร็วตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม เข้ามาไล่อากาศที่ควรจะร้อนให้ออกไป ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานี้จึงเจ็บหนักติดลบ 9% ซึ่งคาดว่าทั้งปีก็จะติดลบเป็นปีที่ 2
นอกจากนี้ยังมี “ตลาดสมาร์ทโฟน” ซึ่งกินสัดส่วนใหญ่ที่สุดในตลาดถึง 40% ตั้งแต่ต้นปียังคงนิ่งๆ แม้หลายแบรนด์จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ไปแล้วก็ตาม
เหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดไม่โต เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มากกว่าจะดึงดูดและสร้างความ Wow ให้กับผู้บริโภคได้ ด้วยยังคงแข่งกันเรื่องถ่ายรูป ส่วนดีไซน์ยังไม่มีอะไรฉีกใหม่เท่าไหร่ ปีนี้จึงคาดว่าจะเป็นปีแรกที่ไม่เติบโต ต่างจากปีก่อนที่แม้จะคาดว่าจะไม่โต แต่ที่สุดแล้วก็เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย
“นัยยะ” ที่ซ่อนในตัวเลขการเติบโต
ท้ายที่สุด จักรกฤษณ์ บอกว่า ปัจจัยหนึ่งที่เห็นจากการวิเคราะห์ด้วยตนเอง คือเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องดูแต่ละเซ็กเตอร์ของสินค้า แต่สิ่งที่เห็นคือ กำลังซื้อบางอย่างที่สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ผู้บริโภคเริ่มมีความั่นใจ หมายความว่าตราบใดก็ตามถ้าตลาดสมาร์ทโฟนโตมากๆ ไม่ได้สะท้อนของความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก แต่นั้นสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์
ต่างจากตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เมื่อไหร่ที่มีการเติบโต สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในบ้าน เพราะตู้เย็น, ทีวีและเครื่องซักผ้าเป็นสินค้าชิ้นใหญ่และราคาสูง ไม่ได้จะซื้อกันบ่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มีแค่การ Replacement แค่อย่างเดียว แต่หมายถึงอัตราการเข้าอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้กำลังซื้อไม่ได้โตแค่กลาง – บน อย่างที่ผ่านมาแต่กลาง–ล่างก็กำลังไปได้ดี ซึ่งนี่อาจสะท้อนว่า กำลังซื้อในส่วนภูมิภาคกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวก็เป็นไปได้
แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่การ “คาดการณ์” ของจริงจะเป็นอย่างไร ต้องมาลุ้นเมื่อถึงสิ้นปีอีกที
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



