เพราะเป็นคนชอบคิดใหญ่ฝันไกล Sir Richard Branson จึงไม่ยอมล่าถอยจนกว่าจะถึงเป้าหมาย กล้าเริ่มใหม่หลังพลั้งพลาด โดยล่าสุดผู้ก่อตั้ง Virgin Group ที่มีธุรกิจในเครือมากมาย เผยว่า Virgin Galactic บริษัทท่องอวกาศอายุเกือบ 20 ปี จะทดสอบทำการบินอีกครั้งภายในคริสต์มาสนี้ แม้การทดสอบครั้งที่แล้วเมื่อ 4 ปีก่อนไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

Virgin Branson

ความล้มเหลวจนกลายเป็นโศกนาฎกรรมทางการบินครั้งก่อนไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เที่ยวบินนี้ถูกจับตามอง เพราะหากประสบผลสำเร็จจะทำให้ Virgin Galactic แซงหน้าคู่แข่งอย่าง Blue Origin และ SpaceX ที่ตั้งเป้าเปิดตลาดท่องอวกาศเช่นกัน  

เพดานบินใหม่ของมหาเศรษฐีผู้ไม่กลัวความล้มเหลว

จากธุรกิจสิ่งพิมพ์เล็กๆ เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน สู่ค่ายเพลงที่มีศิลปินดังมากมายอย่าง Rolling Stone, Mike Oldfield และ Sex Pistols จนขยายสู่การเป็น Virgin Group ซึ่งมีกิจการในเครือมากมาย โดยกิจการด้านขนส่งมวลชน โดยเฉพาะสายการบินในชื่อ Virgin Atlantic ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1984 มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จดังกล่าว

และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ Branson รุกสู่ธุรกิจด้านขนส่งมวลชน และการท่องเที่ยว เช่น Virgin Rail Group, รถเช่า (Virgin Car), Virgin Balloon Flight และ Virgin Oceanic  

Virgin Plane

ต่อมาในปี 2004 Branson ได้ก่อตั้ง Virgin Galactic เพื่อหวังเปิดตลาดการท่องอวกาศ และคาดว่าจะประเดิมเที่ยวบินแรกได้ในอีก 5 ปีถัดมา แต่กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบมากสุด คือการตกของเที่ยวบินทดสอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ซึ่งทำให้นักบินเสียชีวิต 1 คน

Virgin Fall

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทก็ไม่ท้อ พยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจนสร้างเครื่องบินลำใหม่เสร็จในอีก 16 เดือนถัดมา จนล่าสุดมหาเศรษฐีชาวอังกฤษวัย 68 ปี ก็ประกาศด้วยว่าพร้อมทำการบินทดสอบอีกครั้งไม่เกินคริสต์มาสที่จะถึงนี้

เจ้าตัวเผยว่าหากผ่านพ้นไปด้วยดีก็พร้อมเป็นหนึ่งในผู้โดยสารคนแรก ก่อนที่จะเปิดให้ผู้โดยสารที่พร้อมจ่ายค่าตั๋ว 200,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 6.6 ล้านบาท) ขึ้นไป เพื่อแลกกับการได้สัมผัสภาวะไร้น้ำหนักและได้มองจากอวกาศลงมายังโลก มาใช้บริการในเชิงพาณิชย์ต่อไป

Virgin SpaceShipTwo

               

มั่นใจเรื่องปลอดภัยและสามารถแซงคู่แข่งชาวอเมริกันได้

Virgin SpaceshipTwo

การบินทดสอบครั้งนี้จะมีขึ้นที่ทะเลทราย Mojave ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ โดยเมื่อเครื่องบินในการทดสอบภายใต้ชื่อ SpcaeShipTwo อยู่ ณ ระดับความสูง 80 กิโลเมตรจากพื้นโลก ก็จะปลดออกยานแม่ พร้อมเร่งความเร็วสู่อวกาศในเวลาเพียง 8 วินาที ซึ่ง Branson มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และเชื่อว่าจะเปิดตลาดการบินท่องอวกาศระดับใต้ได้ก่อน Blue Origin ในเครือ Amazon ของ Jeff Bezos และ SpaceX ของ Elon Musk

Virgin BlueOrigin

Branson ยังเชื่อว่ามีโอกาสมากมายรออยู่สำหรับธุรกิจการท่องอวกาศ ทั้งในส่วนของผู้ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ หรือนำเจ้าหน้าที่ในกิจการอวกาศขึ้นไปยังดาวเทียม

Virgin SpaceX

โอกาสที่เปิดกว้างบนห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง

การท่องอวกาศอยู่ในความคิด ในจินตนาการของมนุษย์ทุกคนมาโดยตลอด โดยสามารถหลุดจากหน้ากระดาษนิยายวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นจริงช่วงยุค 60 หลังสหรัฐฯ ส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นประเทศแรก เพราะไม่พอใจที่เห็นอดีตสหภาพโซเวียตส่งคนขึ้นสู่วงโคจรโลกตัดหน้าไปก่อน

จากนั้นทั้ง 2 ประเทศก็แข่งขันกันในด้านอวกาศอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันก็ลดลงมาก และเปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบความร่วมมือเพื่อการสำรวจอวกาศที่ไกลออกไปมากขึ้น ต่างจากจีนที่เพิ่งแสดงศักยภาพด้านนี้ให้เห็น

Virgin Spaceman

ในส่วนของภาคเอกชน บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีผู้ก่อตั้งรักการผจญภัย และมีรายได้มหาศาล ก็เริ่มหันมาแข่งขันในธุรกิจท่องอวกาศแล้วเพื่อแสดงให้ถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของตน โดยเป้าหมายเบื้องต้นของบริษัทส่วนใหญ่ คือการพากลุ่มผู้โดยสารระดับมหาเศรษฐีขึ้นไปสู่ที่ความสูงระดับใต้วงโคจร

คาดว่าหากอนาคตกระแสตอบรับดี แม้ค่าตั๋วท่องอวกาศยังเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไป แต่ราคาอาจลดลงอยู่ที่ 50,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.65 ล้านบาท) ซึ่งถูกกว่าราคาในปัจจุบันถึง 1 ใน 4   

Virgin Space Station

ด้านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอวกาศก็เริ่มมีออกมาแล้ว เช่น บริษัท ISpace Inc ในญี่ปุ่นที่กำลังระดมทุนให้ได้ราว 90 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,970 ล้านบาท) เพื่อไปปักป้ายโฆษณาบนดวงจันทร์ให้ได้ในปี 2020 และ บริษัท Axiom Space ในสหรัฐฯ ที่มีแผนสร้างสถานีอวกาศในปี 2022 ที่สามารถใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เป็นเวลา 8 วัน โดยมีค่าใช้ห้องทั้งหมด 55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,815 ล้านบาท) ต่อคน /cnn, the guardian, business insider, wikipedia



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online