ธุรกิจสายการบิน 2562 ยิ่ง (ต้นทุน) สูง ยิ่งเหนื่อย !!! วิเคราะห์ตลาดธุรกิจสายการบินในวันที่ลมหายใจกำลังรวยริน
* ปี พ.ศ. 2553 การบินไทยเคยมีกำไร 6,753.6 ล้านบาท แต่ล่าสุดปี 2561 ขาดทุน 11,625 ล้านบาท
* ไทยแอร์ เอเซีย ในปี พ.ศ. 2559 มีกำไรสูงถึง 1,869 ล้านบาท แต่ในปี 2561 กำไรเหลือเพียง 70 ล้านบาท
* นกแอร์ ในอดีตเคยเริงร่ามีกำไรต่อปีเป็นพันๆ ล้านบาท แต่ปัจจุบันกำลังเจอวิกฤตหนักหน่วงรอบด้าน ล่าสุดปี 2561 ขาดทุนถึง 2,786 ล้านบาท
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า ณ เวลานี้ หลายสายการบินมีอยู่แค่ 2 สถานะทางธุรกิจ
คือ “ไม่กำไรน้อยลง ก็ขาดทุนเพิ่มขึ้น”
กำลังเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจที่ในอดีตเคยสร้าง “กำไร” มหาศาลแต่เวลานี้น่านฟ้าการบินช่างมืดมนเสียเหลือเกิน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผลประกอบการที่เปรียบเสมือนเป็น “ฝันร้าย” ของบางสายการบิน
ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการบริหารภายในบริษัทตัวเอง
แต่ปัญหาหนึ่งที่ทุกสายการบินกำลังเผชิญเหมือนกันหมดก็คือ “ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น”
จากข้อมูลของ “นกแอร์” ระบุว่าแค่ปีเดียวราคาน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 20.25 บาทต่อบาร์เรล
หักลบตัวเลขง่ายๆ ก็คือจากปี 2560 ราคาขายน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 65.52 บาท/บาร์เรล ส่วนในปี 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 85.77 บาท/บาร์เรล
แต่… “ตัวการ” ที่แท้จริงไม่ใช่ต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ที่ทำให้ธุรกิจสายการบินกำลังเจอสภาวะลำบากแต่คือ “เกมราคา” ต่างหาก
“ราคาน้ำมันแพงขึ้นแต่สายการบิน Low Cost เล่นเกมราคา ทำให้ปีที่ผ่านมาทุกสายการบินมีกำไรน้อยลงจนน่าใจหาย”
“ก็ไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนตลาดแบบนี้ไปนานเท่าไร เพราะบทสรุปทุกคนมีแต่เจ็บตัว” พรต เสตสุวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส เคยให้สัมภาษณ์กับ Marketeer
คำถามที่น่าคิด แล้วทำไมเครื่องบิน Low Cost ทุกลำถึงมาอยู่ในน่านฟ้าแห่งเกมราคาทั้งๆ ที่ต้นทุนตัวเองเพิ่มขึ้น
เพราะน่านฟ้าเมืองไทยมีมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล โดยข้อมูลจาก Traveloka ระบุว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวไทยประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี
“เป็นธรรมดา บ่อไหนมีปลาชุก บ่อนั้นก็ย่อมมีเบ็ดตกปลาเยอะ”
ทำให้ตลอดช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมามีสายการบินใหม่ๆ เปิดตัวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงสายการบิน Low Cost ก็ขยายเส้นทางการบินเป็นว่าเล่น
เมื่อฝูงบินในน่านฟ้าเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งสารพัดบริการต่างๆ ที่มอบให้ผู้โดยสารของบรรดาสายการบิน Low Cost เมื่อมาเทียบกันแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไร
เมื่อสินค้าไม่มีความ “ต่าง” ในสายตาลูกค้า สิ่งที่แบรนด์จะใช้แสดงความต่างก็คือ “ใครราคาถูกกว่ากัน”
ส่วนอีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือธุรกิจสายการบินมีต้นทุนคงที่ต่อการบิน 1 เที่ยว
อธิบายง่ายๆ สมมุติสายการบิน A บินไปประเทศญี่ปุ่น ต้นทุนที่มีอยู่แล้ว 1,000 บาท โดยมีที่นั่ง 300 ที่นั่ง
หากที่นั่งเหลือนั่นหมายความว่า “รายได้” ก็หายไป ทางเลือกที่ดีที่สุดคือลดราคาตั๋วเครื่องบินเพื่อให้ผู้โดยสารเต็มลำ
เกือบทุกสายการบิน Low Cost เลือกข้อเดียวกันหมดคือ ขายตั๋วในราคาถูกลงมาอีกนิดเพื่อให้ผู้โดยสารเต็มลำ
ย่อมมีรายได้ดีกว่าขายตั๋วราคาเดิมแต่มีที่นั่งเหลือ
แต่…เชื่อว่าทุกสายการบินน่าจะรู้สถานการณ์ดี เพราะเมื่อคิดว่าวันนี้ตัวเองขายตั๋วราคาถูกที่สุดแล้ว
อีกไม่นาน…ก็จะมีสายการบินคู่แข่งดัมพ์ราคาขายที่ถูกกว่าตัวเอง
สุดท้าย “ลดกันไป ลดกันมา”
ผู้ชนะในเกมนี้คือ “ผู้โดยสาร” ผู้แพ้ก็คือสายการบิน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ