สังคมผู้สูงอายุ กับประเทศไทย เรื่องจริงที่ไม่ไกลเกิน เปิดผลสำรวจ ทำไมคนไทยถึงพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ?
ผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่าปี 62 เผยสัญญาณแรง…คนไทยพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 35–49 ปี มีคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ต่ำกว่าช่วงอายุอื่นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
บมจ. ซิกน่า ประกันภัย บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีพันธกิจในการช่วยพัฒนาสุขภาพ ชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกค้าให้ดีขึ้น เผยผลสำรวจ “คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า” ประจำปี 2562 (2019 Cigna 360 Well-Being Survey – Well and Beyond.) ซึ่งเป็นการสำรวจการรับรู้และทัศนคติของคนไทยที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านร่างกาย ครอบครัว สังคม การเงิน และการงาน
ซึ่งล่าสุดได้ทำการเพิ่มหัวข้อการสำรวจที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น เรื่องของความเครียดและสุขภาพหัวใจ โดยพบว่าคนไทยมีการบริหารจัดการความเครียดของตนเองได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะที่คนทำงานอายุ 35–49 ปี หรือที่เรียกว่ากลุ่มแซนด์วิชเจนเนอเรชันยังคงเป็นกลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่น้อยที่สุดแทบทุกด้านติดต่อกันทุกปี
ผลสำรวจฯ ยังเผยถึงคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่โดยรวมของประเทศไทยว่ามีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย ในด้านสังคม ด้านครอบครัวและด้านการเงิน แต่มีคะแนนในด้านสุขภาพร่างกายและด้านการงานลดลง ความกังวลหลักๆ ของคนไทยคือ การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย รวมถึงไม่สามารถหาเวลาไปพบปะเจอเพื่อนฝูงได้ถึงแม้ว่าจะมีเพื่อนที่สามารถพูดคุยด้วยแบบเปิดอกก็ตาม
นอกจากนั้น คนไทยยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีความมั่นคงด้านการเงิน โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือนและเรื่องที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัวหากเกิดการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือคนไทยมีภาวะความเครียดในที่ทำงานน้อยกว่าคนในประเทศอื่นๆ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้างาน
คนไทยส่งสัญญาณแรง….พร้อมเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ
คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่า “คนแก่” คือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มองว่าคนที่มีอายุ 63 ปีขึ้นไปถึงจะถือว่าแก่ โดยหากมองในแง่บวก แสดงว่าคนไทยมีความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทั้งในด้านการเงิน ด้านร่างกายและด้านจิตใจ
โดยคนไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) ระบุว่ามีความพร้อมทางการเงินเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก (38%) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องจำนวนผู้ถือกรมธรรม์ในประเทศไทยที่มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนั้น คนไทยถึง 70% บอกว่าแม้จะแก่แต่ก็ยังคงต้องการให้ตนเองใช้ชีวิตแบบมีพลัง มีความกระฉับกระเฉง และต้องการทำประโยชน์ให้สังคมต่อไป ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ คนไทยถึง 73% รู้สึกว่าตนเองพร้อมที่จะแก่โดยเฉพาะความพร้อมในด้านจิตใจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลกถึง 10%
นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ยังระบุว่าตนยังต้องการที่จะทำงานแม้จะมีอายุมากขึ้น เหตุผลหลักไม่ใช่เรื่องของเงินแต่เพื่อให้ตนเองยังคงมีพลังในการใช้ชีวิตและมีความกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ และน่าดีใจที่คนส่วนใหญ่มีมุมมองด้านบวกต่อแนวคิดนี้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 79% เผยว่าตนพร้อมที่จะทำงานกับผู้สูงอายุ และมากกว่า 63% เชื่อว่านายจ้างยินดีที่จะว่าจ้างพนักงานสูงอายุอีกด้วย
สังคมผู้สูงอายุ
นายจูเลียน เมงกัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการประจำประเทศไทย บมจ.ซิกน่า ประกันภัย กล่าวว่า
“การเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนสูงอายุที่ต้องการมีชีวิตที่แอคทีฟถือเป็นโอกาสที่ดีของซิกน่าในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถวางแผนการเกษียณอย่างมั่นคงได้ นอกจากนั้น ธุรกิจอีกหลายประเภทก็จะได้รับประโยชน์จากความต้องการของคนรุ่นนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบริการด้านสุขภาพไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและสินคาเทคโนโลยี โดยสิ่งที่ซิกน่าต้องให้ความสำคัญในปัจจุบัน คือการดูแลและส่งเสริมให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพที่แข็งแรงในทุกช่วงวัย”
คนไทยช่วงอายุ 35–49 ปีมีคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ต่ำสุดติดต่อกัน
คนไทยช่วงอายุระหว่าง 35-49 ปี หรือที่เรียกว่ากลุ่มแซนด์วิชเจนเนอเรชัน เป็นกลุ่มที่ต้องรับมือกับปัญหาในชีวิตทุกๆ ด้าน เช่น การทำงานหนัก การใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงมีปัญหาด้านการเงินมากกว่าช่วงวัยอื่น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกซึ่งพบว่ากลุ่มคนในช่วงอายุนี้คิดว่าตนเองไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่ตั้งมาตรฐานไว้ได้ และกังวลเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายระยะยาว เช่น ค่าที่อยู่อาศัย หรือการวางแผนสำหรับการเกษียณที่มีคุณภาพ
“ความเครียดของคนรุ่นนี้เกิดจากแรงกดดันจากการที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และครอบครัวของตนเองให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากการมีชีวิตที่ดีนั้นไม่เพียงแต่ต้องใช้เงินจำนวนมากแต่ยังต้องมีการจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่าทำได้ยากมาก เพราะจำเป็นต้องทุ่มเวลาทำงานหนักจนไม่มีเวลาพอที่จะไปทำเรื่องอื่นๆ แม้แต่เวลาที่จะให้กับครอบครัว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการวางแผนแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากคนรุ่นนี้ถือเป็นคนกลุ่มหลักที่มีทักษะสูงในการทำงานและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายจูเลียนกล่าวเสริม
คนไทยเครียดสูง…แต่สามารถบริหารจัดการความเครียดได้
จากผลสำรวจฯพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเครียดสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก (จาก 23 ประเทศที่ทำการสำรวจ) โดยมากกว่า 91% ของไทยบอกว่าระบุว่าตนเองมีความเครียด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 84% อย่างไรก็ตาม มีคนไทยเพียงจำนวนน้อยที่รู้สึกว่าเครียดและไม่สามารถบริหารจัดการได้
นอกจากนั้น คนไทย 2 ใน 3 บอกว่านายจ้างให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดการความเครียดในที่ทำงาน คนวัยทำงานชาวไทยถึง 81% ระบุว่าพวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลาส่งผลให้มีความเครียดเพิ่มสูงขึ้น โดยเกือบทั้งหมดเห็นด้วยว่าความเครียดในสถานที่ทำงานส่งผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงานและนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่น่าหดหู่
นอกจากนั้น คนไทยเกินครึ่งระบุว่านายจ้างให้สวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับ 36% ที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก และยังรู้สึกว่าสวัสดิการเหล่านี้ให้ความสำคัญเฉพาะสุขภาพด้านร่างกายมากกว่าด้านจิตใจ โดยพวกเขาต้องการแนวทางการจัดการความเครียดจากนายจ้างแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับตัวเลขดัชนีมวลกายและความดันโลหิต
ประเทศไทยมีคะแนนดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในเรื่องการเข้าใจและรับรู้ถึงตัวชี้วัดด้านสุขภาพของหัวใจ โดยมากกว่า 63% ระบุว่าทราบดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ของตนเอง และมากกว่า 75% ทราบระดับความดันโลหิตของตนเองอีกด้วย อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้กลับแตกต่างออกไปเมื่อถามถึงอาการที่บ่งชี้ถึงปัญหาของระบบหัวใจ
โดยคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคหัวใจเพียง 2 จาก 5 อาการเท่านั้น ผลสำรวจฯ ยังพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุรู้ในเรื่องดังกล่าวมากกว่าช่วงอายุอื่น แต่ที่น่าแปลกใจคือคนไทยกลุ่มมิลเลนเนียลมีอาการบ่งชี้ของโรคหัวใจมากกว่าคนช่วงอายุอื่น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าความเครียดได้ครอบคลุมทุกด้านของการใช้ชีวิตยุคใหม่ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้คนตั้งแต่อายุยังน้อย
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มการรับรู้ของคนไทยว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจได้ โดยคนไทย 1 ใน 3 ไม่คิดว่าความดันโลหิตสูงสามารถรักษาได้ด้วยการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต และมีคนไทยเพียง 30% ที่ใช้อุปกรณ์ตรวจสอบสุขภาพหัวใจที่สวมใส่ติดตัวได้ ซึ่งตัวเลขควรจะมีค่าสูงกว่านี้เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง และใช้งานง่าย
แนวคิดหลักของซิกน่าในปีนี้คือ “Well and Beyond” ซึ่งเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยและผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง จากผลการสำรวจดังกล่าวรวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ของซิกน่า ทำให้ซิกน่ามั่นใจว่าจะสามารถช่วยส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยในทุกๆ ด้านได้เป็นอย่างดีผ่านผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและบริการเสริมที่หลากหลาย รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพของซิกน่า
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ