เฮียฮ้อ เจาะแนวคิดผู้สร้างและเปลี่ยน อาร์เอส จากธุรกิจเพลงสู่ Health & Beauty
ครั้งนี้ Marketeer นัดสัมภาษณ์ “เฮียฮ้อ” ที่อาคารเชษฐโชติศักดิ์ 1 ในอาณาจักรประมาณ 6 ไร่ ของบริษัท อาร์เอส ลาดพร้าว 15 คงจะเป็นสถานที่นัดครั้งสุดท้ายแล้วล่ะ เพราะอีกไม่กี่เดือนที่นี่จะปล่อยขายและพนักงานทั้งหมดพันกว่าคนจะย้ายไปยังฐานทัพใหม่ที่สวยงามทันสมัยในพื้นที่ 15ไร่ ย่านถนนเกษตรนวมินทร์
ส่วนเฮียฮ้อก็จะย้ายจากห้องชุดบนชั้น 6 ของอาคารเชษฐโชติศักดิ์ 2 ไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่อีก 15 ไร่ในอาณาเขตที่ติดๆ กัน
ภาพอดีตค่ายเพลงใหญ่ที่เคยมี “เพลง” เป็นขุมทรัพย์ จะค่อยๆ เลือนหายไป ภาพของธุรกิจใหม่ “สุขภาพความงามและพาณิชย์” จะเข้ามาแทนที่
เรื่องราวของอาร์เอสน่าจะดราม่ามากๆ แต่ปีที่ผ่านมากลับทำรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 37 ปี โดยรายได้อยู่ที่ 3,827 ล้านบาท กำไรสุทธิ 516 ล้านบาท
เป็นรายได้จากธุรกิจใหม่ 2,127 ล้านบาท คิดเป็น 55.6% ในขณะที่รายได้จากเพลงเหลือเพียง 9%
พร้อมๆ กับการรีแบรนด์องค์กรครั้งใหญ่ ทั้งโลโก้ สโลแกน และโครงสร้างการทำงานที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพื่อสะท้อนตัวตนใหม่ให้ชัดเจนขึ้น
ตำนานบทใหม่ของบริษัท อาร์เอส กำลังจะเริ่มต้นอีกครั้ง
เฮียฮ้อ เคยบอกว่าตัวเองฐานะไม่ดี เรียนไม่เก่ง ไม่ได้จบนอก พ่อแม่ไม่มีเงินกอง แล้วเพราะอะไรถึงได้ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ยุคอนาล็อกจนถึงยุคดิจิทัล
ใช่ครับ เฮียเรียนไม่เก่ง ไม่ชอบเรียนด้วย เลยเรียนไม่จบ ม.ศ. 5 ได้วุฒิ แค่ ป.7 (วุฒิการศึกษาสมัยนั้น) ก็ออกมาช่วยพี่ชายคนโต (เฮียจั๊ว-เกรียงไกร โชติเชษฐศักดิ์) ทำงานตั้งแต่อายุ 17-18 ปี พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเราเป็นครอบครัวคนจีนที่ไม่ได้ร่ำรวย แล้วมีพี่น้องตั้ง 7 คน
ตอนนั้นพี่ชายเฮียเริ่มตั้งบริษัทเล็กๆ ชื่อ โรสซาวด์ มีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกกุหลาบสีแดง เป็นธุรกิจในครอบครัวที่ทำกันเองด้วยการอัดแผ่นเสียงขาย
สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ วิธีการก็คือ เราเอาเพลงจากแผ่นเสียงที่ปกติแผ่นหนึ่งจะมีประมาณ 10 กว่าเพลง แต่มีเพลงฮิตประมาณ 2-3 เพลง ก็เอาเพลงฮิตของแต่ละแผ่นมาอัดใส่คาสเซตต์แล้วก็เอาไปขาย ซึ่งไม่ผิดกฎหมายนะครับ
ก็ทำมาเรื่อยๆ มีห้องอัดเล็กๆ ก็ง่ายดี ไม่มีขั้นตอนอะไรมากมาย และยังขายดีมากๆ ด้วย
กฎหมายลิขสิทธิ์ออกมาประมาณปี 2522 แล้วเฮียทำยังไงต่อ
ต้องหยุดซิครับ (หัวเราะ) เพราะสิ่งที่เราทำมาก็ผิดหมด ทำต่อไม่ได้ ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็เลยมาเปิดเป็นบริษัท อาร์เอส ซาวด์ ในปี 2524 ก็ยังทำเหมือนเดิมอยู่ แต่คราวนี้ต้องจ่ายเงินให้กับค่าลิขสิทธิ์ แต่พอทำไปนานๆ เข้าก็รู้สึกมันเหมือนไม่มีอนาคต ก็เริ่มตั้งค่ายเพลงเอง โดยทำครั้งแรก 5 วงเลย คือวงอินทนิล, เรนโบว์, ฟรุ๊ตตี้, บรั่นดี, และคีรีบูน
ตอนนั้นเฮียอายุประมาณ 21-22 ปี ก็ต้องไปหานักร้องเองตามผับ ตามห้องซ้อมดนตรี เจอใครดี เสียงดี ก็ชวนไปทำ แล้วเราเป็นวัยรุ่นด้วย เพลงที่เราชอบก็คิดว่าแฟนเพลงน่าจะชอบเหมือนๆ กัน เป็นผู้จัดการวงเองด้วยนะครับ พานักร้องทัวร์ทั่วประเทศ นักร้องหลายคนอายุมากกว่าเฮียอีก เป็นช่วงที่ทั้งเหนื่อยทั้งสนุก และมีความสุขมาก
5 วงนี้ดังมากๆ ในสมัยนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แล้วซิคะ
ยังครับ ยัง วงน่ะดังจริง แต่ขาดทุนครับ เพราะวงดังกับการลงทุนคนละเรื่องกันไง เราต้องไปกู้เงินนอกระบบมา เป็นหนี้เป็นสินเยอะแยะไปหมด อย่าลืมว่าสมัยก่อนช่องทางโปรโมตมันไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ อยากให้เพลงดังต้องไปจ้างดีเจเปิดเพลง เปิดครั้งหนึ่งก็ประมาณ 1,000 บาท อยากให้เปิดมากก็ต้องจ่ายมาก ในขณะที่ยอดขายไม่ได้ดีนัก
ตอนนั้นที่ขายไม่ดีเพราะวัยรุ่นซื้อ แต่ผู้ใหญ่ไม่ซื้อ ก็เลยใช้กลยุทธ์รวมดาว คือเอานักร้องดังๆ ของแต่ละวงมาร้องเพลงรวมในตลับเดียวกัน และไปเอานักร้องหญิงวงปุยฝ้ายเข้ามาร้องเพลงเก่าๆ เป็นเพลงคู่ที่คนมีอายุหน่อยคุ้นหู เป็นการขยายกลุ่มคนฟังที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราทำเป็นเจ้าแรก และประสบความสำเร็จอย่างมาก ก็ช่วยปลดหนี้เราได้เป็นครั้งแรก
เป็นหนี้มากที่สุดในช่วงนั้นประมาณเท่าไร
ตอนนั้นอายุ 21-22 ปี เป็นหนี้ 10 กว่าล้านบาทแล้วครับ เป็นหนี้นอกระบบด้วย ไม่มีหนี้แบงก์ เพราะเราไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เป็นหนี้แล้วก็ต้องสู้ ทำเพลงมันเหมือนแทงหวยครับ ปล่อยออกไปแล้วก็คอยลุ้น เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นนะครับ คือลุ้นว่าจะฮิตมั้ย ไม่ฮิตก็ขาดทุน ฮิตก็เหมือนถูกหวย รวมดาวเหมือนเราถูกหวย ก็มาล้างหนี้ พอทำต่อก็เจอขาดทุน มาได้รางวัลใหญ่อีกครั้งตอนอริสมันต์ สรพงษ์ ชาตรี อิทธิ พลางกูร ก็เป็นวังวนไปอย่างนี้ ต้องใช้ความอดทน ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ที่สำคัญธุรกิจเพลงเปลี่ยนเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เฮียก็อยู่กับการเปลี่ยนแปลงมาตลอด จากแผ่นเสียงมาเทปคาสเซตต์ จากคาสเซตต์ไปซีดี จากซีดีไปดาวน์โหลด จากดาวน์โหลดไป Steaming คือของใหม่ที่เกิดขึ้นมันฆ่าของเก่าไปเรื่อยๆ ก็ต้องสู้ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานมาเรื่อยๆ เหมือนกัน
ตอนอายุ 20 ปี เป็นหนี้นอกระบบกว่า10 ล้านบาท ตอนอายุ 30 ต้นๆ เป็นหนี้แบงก์เกือบ100 ล้านบาท ทำไมถึงกล้า
เพราะตอนนั้นตัดสินใจขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นก็เลยมาซื้อที่ดินที่นี่ สร้างตึกแรกขึ้นมาก่อน ตึกอื่นๆ ตามมาทีหลัง โดยเอาที่ดินไปค้ำประกันแบงก์ พอคิดการใหญ่ จำนวนหนี้ก็เยอะขึ้นเป็น 100 ล้านบาท ก็ต้องคิดหาเงินให้ได้มากขึ้น ตอนนั้นค่ายแกรมมี่และนิธิทัศน์เป็นผู้นำตลาด มีฐานลูกค้าที่เป็นตลาดแมสในเมืองเป็นหลัก
เราเลยใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เริ่มทำตลาดในต่างจังหวัดเข้ามาก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มเจาะตลาดวัยรุ่นที่ไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดชัดเจน เพราะในสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อว่าวัยรุ่นจะมีกำลังซื้อ เลยเน้นตลาดแมสที่เป็นผู้ใหญ่กันหมด แต่เราคิดต่าง โดยมองว่ากลุ่มนี้ซื้อง่าย ไม่คิดเยอะเหมือนคนที่หาเงินเอง แล้วคนไทยส่วนใหญ่จะตามใจลูกด้วย
ปรากฏว่าประสบความสำเร็จแบบคาดไม่ถึง ชื่อของ “เต๋า” สมชาย “หนุ่ม” ศรราม “นุ๊ก” สุทธิดา เจอาร์ วอย แรพเตอร์ ดังมาก ยอดขายเทป ขายซีดี เป็นหลักล้านแผ่นตลอด
จากนั้นเราก็ใช้นักร้องดังในมือต่อยอดไปทำธุรกิจบันเทิงอื่นๆ เช่นทำค่ายหนังเอง ทำละครป้อนช่อง 3 ช่อง 7 ทำวิทยุ ทำรายการทีวี ทุกอย่างโอเคไปหมด
จนวันหนึ่ง MP 3 ก็เกิดขึ้น เรื่องเทปผีซีดีเถื่อนยังไม่ทำให้กระเทือนเท่าเรื่องนี้ กล่องเล็กๆ อัดเพลงได้เป็นหมื่นเพลง แล้วเลือกเพลงได้ไม่ต้องมานั่งกรอไปกรอมา แล้วต่อไปใครจะซื้อซีดี แล้วก็จริง ยอดขายซีดี ลดลงเรื่อยๆ เฮียเลยตัดสินใจขายโรงงานทิ้ง เป็นการตัดสินใจที่ยากเพราะโรงงานคือแหล่งปั๊มเงิน เป็นหัวใจในการทำธุรกิจ แต่ถ้าช้าโรงงานจะไร้ค่าเป็นเศษเหล็กแน่นอน ก็ยอมขาดทุนอยู่ช่วงหนึ่งประมาณ 3-4 ปี
อาร์เอสรอดมาได้ทุกยุค เป็นเพราะเฮียเป็นผู้นำที่กล้าทำอะไรที่แตกต่าง และคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น
คงจะใช่ การที่เราไม่เก่งเรื่องทฤษฎี ทำให้กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น เพราะไม่กลัวไปก่อนไงครับ เฮียเป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือก็จริง แต่ถ้าเรื่องไหนที่สนใจก็ศึกษาจริงๆ นะ อย่างเช่น ชอบอ่านหนังสือการตลาดก็หาอ่านเยอะมาก ภาษาอังกฤษก็ไปเรียนเพิ่มเติม แล้วก็เป็นคนที่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ดันทุรัง อย่างเช่นการตัดสินใจขายโรงงาน เพราะถ้าช้าอีกปีเดียวมีปัญหาแน่
หรือการเปลี่ยนโมเดลการทำค่ายเพลง ที่เปลี่ยนให้ศิลปินเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนผลิตผลงานเพลงเองในลักษณะกึ่งพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น ตอนที่เสนอไอเดียนี้ออกไปไม่มีใครเชื่อว่าเป็นไปได้ ทำได้ยังไงให้นักร้องมาลงทุนเอง เฮียก็บอกว่าไม่เป็นไร นี่เป็นโมเดลของเรา ไม่ได้หมายความว่านักร้องทั้งประเทศนี้ต้องใช้โมเดลนี้ ใครสนใจก็เข้ามา ใครไม่สนใจก็ไปที่อื่น
แล้วตอนนี้ก็แฮปปี้จริงๆ เราปรับลดขนาดธุรกิจลงแต่ยังทำกำไรได้ ซึ่งเราก็พอใจ ศิลปินก็พอใจเมื่อก่อนบางปีศิลปินของอาร์เอสมีถึง 2-300 คน ตอนนี้เหลือศิลปินที่ทำธุรกิจร่วมกันประมาณ 20-30 คนเหลือเฟือครับ ถึงวันนี้ต้องบอกว่าปริมาณไม่ได้บอกอะไรเลย ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวนมากมายของศิลปิน
ตอนเข้าสู่สงครามทีวีดิจิทัล ตอนนั้นมีวิธีคิดในการทำทีวีที่แตกต่างจากคนอื่นยังไงบ้าง
ต้องยอมรับว่าตอนเข้ามาประมูลทีวีทุกคนฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าพ่อสื่อเหมือนช่อง 3 ช่อง 7 ทุกคนวางภาพความยิ่งใหญ่ของ 2 ช่องนี้ไว้ข้างหน้า แล้ววิ่งไปหาภาพนั้น ซึ่งผมไม่ได้มองแบบนั้น
วันที่ผมเข้ามาประมูลทีวี ผมบอกกับทีมเลยว่าเราจะไม่ได้เห็นภาพสวยหรูแบบในอดีตอีกต่อไป เพราะทีวี จาก 4 ช่องเพิ่มเป็น 24 ช่อง ดีมานด์ซัปพลายมันกลับข้าง สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องเกาะอยู่ในกลุ่มของผู้นำ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอันดับที่ 1-2-3 เฮียเชื่อว่าคนที่ชนะคือคนที่เกาะอยู่ในกลุ่มแรกๆ รอเวลาพร้อมแล้วค่อยสปีด
วันนี้ช่อง 8 อาจจะหลุดจาก Top 5 แต่แรงกิ้งไม่สำคัญเท่ากับเรตติ้งที่ยังเกาะอยู่ในกลุ่มบนๆ อันดับ 6-7-8-9 เรตติ้งไม่ได้ต่างกันเลย ช่องในอันดับพวกนี้สามารถกลับขึ้นไปอยู่ในอันดับ 5 อันดับ 6 ได้ตลอดเวลา
แต่ถึงจะเป็นผู้ชนะ ผมก็มั่นใจว่าสปอตโฆษณาก็จะเหลือ ซึ่งมันก็จริง เพราะช่องมากขึ้นแต่เงินโฆษณาเท่าเดิม เราก็คิดตั้งแต่วันนั้นว่าถ้าสปอตเหลือจะทำอย่างไร ต่อให้ขายได้ถึง 60% ยังไงก็ต้องเหลืออีก 40% ถ้าไม่คิดวางแผนไว้ก่อนก็จะต้องแถมลูกค้า หรือทิ้งไปเปล่าๆ อย่าลืมว่าสื่อโฆษณาไม่เหมือนสินค้าอื่นนะ คุณขายไม่ได้เก็บไว้เป็นทรัพย์สินที่ราคาสูงขึ้นได้ แต่สปอตไม่ใช่ ขายได้ราคาต่อนาทีเป็นหมื่นเป็นแสน ขายไม่ได้ ผ่านไปนาทีเดียวค่าเป็นศูนย์ เป็นอากาศไปแล้ว
ผมเลยคิดถึงการทำช่องให้เป็นห้างตั้งแต่ปีแรกๆ ของการทำทีวี เรามองช่อง 8 เป็นห้างสรรพสินค้า คนเปิดทีวีช่อง 8 เหมือนคุณเดินเข้าห้างของผมแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะขายอะไร
แล้วทำไมถึงไปทำธุรกิจ Health & Beauty ที่เป็น Red Ocean เพราะมีผู้เล่นจำนวนมาก และมีผู้นำตลาดชัดเจนแล้ว
Health & Beauty ภายใต้บริษัทไลฟ์สตาร์ เป็นเพียงสินค้าหมวดหนึ่งในธุรกิจพาณิชย์ (Multi-platform Commerce หรือ MPC) เพราะเรารู้ว่าตลาดนี้มีเป็นแสนล้านบาท และโตขึ้นทุกปีๆ ธุรกิจนี้จะต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ แต่ผมขอแค่ 1-2%ของยอดขายก็พอใจแล้ว ผมไม่สนใจคู่แข่งเลย ประเด็นอยู่ที่ว่าเราสามารถจับปลาในมหาสมุทรนี้ได้หรือเปล่า
สำหรับเฮีย Red Ocean คือที่ดีที่สุด เพราะ Blue Ocean ไม่เคยมีจริง Blue Ocean เมื่อไรก็กลายเป็น Red Ocean เมื่อนั้น ถ้าเราอยู่ในที่ที่อยู่ใน Red Ocean แล้วรอด นั่นหมายความว่าเราปลอดภัยที่สุด เพราะเรากำลังอยู่ในที่ที่มีทรัพยากรเยอะ คนอยู่เยอะ แต่คุณยังอยู่ได้ ก็สบายแล้ว
อีกอย่างเฮียสนใจธุรกิจนี้มานาน ถ้าจำได้เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนมีค่ายเพลงค่ายหนึ่งเขาก็มีวิธีคิดเหมือนผม แตกไลน์มาขายบะหมี่สำเร็จรูป ขายเครื่องสำอาง โดยมีช่องทางสื่อในมือ ศิลปินในเครือเป็นตัวช่วยขาย แต่ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะไทม์มิ่งไม่ได้ เฮียก็ไม่ได้หยุดคิดแต่เก็บใส่ลิ้นชักความคิดไว้ วันนี้เวลามันได้เลยหยิบออกมาใช้ใหม่อีกครั้ง
ภายใน 2 ปี ยอดขายของ MPC สามารถกระโดดจากหลัก 100 เป็นหลัก 1,000 พอปีที่แล้วปิดยอดขายที่ 2,100 ล้านบาท แล้วปีนี้ยังกล้าตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 ล้านบาท อะไรคือ key success
ปัจจัยความสำเร็จของไลฟ์สตาร์ คือการมีช่องทางขายที่แข็งแรงและหลากหลายแพลตฟอร์ม เช่น ช่อง 8 ช่องทีวีดาวเทียม วิทยุคูลฟาเรนไฮต์ สื่อออนไลน์ http://www.shop1781.com, LINE@shop1781, LINE@COOLanything ตัวแทนขายตรง และเทเลเซลล์ ที่มีถึง 500 คน มีกระบวนการและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการในการนําระบบ Data Analytics มาวิเคราะห์ใช้กับลูกค้าที่มีอยู่กว่าล้านรายให้กลับมาซื้อซ้ำมากขึ้น
เราเปลี่ยนผู้ชมและผู้ฟัง ซึ่งมีอยู่กว่า 10 ล้านคน มาเป็นลูกค้า ซึ่งปัจจุบันฐานลูกค้าธุรกิจ MPC ของ RS มีอยู่กว่า 1.1 ล้านคน และมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกเดือน ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000 บาทต่อครั้ง และกว่า 70% ของฐานลูกค้าที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1 ครั้ง
รวมทั้งการพัฒนาระบบบริการหลังการขาย เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า มีโปรดักส์ที่มีคุณภาพกว่า 100 รายการ หลักๆ จะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว บำรุงเส้นผม อาหารเสริม ที่เหลือจะเป็นเครื่องประดับ และสินค้าตกแต่งบ้านอื่นๆ ในต้นปีหน้าจะออกมาอีก 1 ธุรกิจแต่ตอนนี้ขอเป็นความลับก่อน
เฮียเชื่อว่ารายได้ของเราจะโตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 4 ปี หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะปล่อยไม้เด็ดอะไรออกมาอีก
ทุกธุรกิจที่คุณพูดเฮียใช้ทีมงานผู้บริหารเดียวกันหมด น้อยมากที่จะดึงคนมาช่วยจากข้างนอก คนข้างในนี่ล่ะที่ต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน
ตอนนี้เรามีพนักงานทั้งหมดพันกว่าคน เป็นฝั่งเพลง 25 คน ทีวี 300 กว่าคน ที่เหลือคือ MPC ส่วนใหญ่ 90% คือคนเดิม ที่ใหม่ทั้งหมดคือเทเลเซลล์ ที่ตอนนี้มีประมาณ 500 คน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เราพยายามหมุนเวียนคนเก่ามาทำงานใหม่ๆ เพราะเฮียเชื่อในเรื่อง culture ว่าคนที่พูดภาษาเดียวกันมานานๆ จะมีความเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ดีกว่า แต่ปัญหาจะอยู่ที่คนของเราต้องไม่กลัวในการเปิดความคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ
อยู่กับเฮียต้องคิดเร็ว ทำเร็ว แก้เร็ว ผิดไม่เคยอาย ผิดแล้วแก้ไข แก้ไม่ได้ก็เลิก ไม่ดันทุรัง ต้องกล้าปล่อย ไม่ใช่จับอยู่นั่นล่ะเพราะเสียดาย
สำหรับเฮีย อาร์เอส เป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย ใหม่ด้วยวิธีคิด เราไม่ได้มองคนด้วยอายุ คนรุ่นเก่าเปิดใจหัวทันสมัยเยอะแยะ คนรุ่นใหม่บางคนสร้างวิธีคิดมาเอง และตีกรอบตัวเอง คิดอยู่ภายใต้กรอบของตัวเองเท่านั้น และไปมองคนอื่นว่าผิด
ที่ เฮียฮ้อ เคยแพลนไว้ว่าจะรีไทร์ตอนอายุ 50 กว่าๆ ตอนนี้เปลี่ยนแผนแล้วหรือคะ
ตอนนี้เฮียกำลังสนุกอีกครั้งหนึ่ง ธุรกิจใหม่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองอายุเพิ่ง 19-20 (หัวเราะ) เพราะได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ได้ถกในเรื่องใหม่ๆ กับผู้บริหาร คิดอย่างออกมาอีกอย่าง เป็นเรื่องคาดเดาไม่ได้
เมื่อก่อนคิดว่าจะรีไทร์ตอนอายุ 55 ปี เพราะธุรกิจเพลงไม่รู้จะทำอะไรแล้ว แต่ตอนเปิดให้ประมูลทีวี ก็เริ่มมีไฟทำงานสนุกอีกครั้ง ฝันมาตลอดว่าถ้าได้บริหารทีวีต้องทำให้สนุกแน่ พอโอกาสมาถึงก็สามารถทำให้มันอยู่ในเทียร์แรกๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเป็น skill ใหม่ๆ ให้ศึกษา แต่พอมี MPC เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พลิกชีวิตเลย
ในธุรกิจทีวีตอนนี้เจ้าของช่องทุกคนมองเห็นแล้วว่าจะไปต่อได้ต้องเดินโมเดลเดียวกับช่อง 8 ทีวีโฮมชอปปิ้ง เลยเกิดขึ้นทุกช่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะสุดท้ายอย่างที่บอกเราไม่ใช่คู่แข่ง ตลาดมันใหญ่มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จทุกคน เพราะมีรายละเอียดอีกเยอะ ซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นความเฉพาะของวัฒนธรรมองค์กรของเรา บางเรื่องเขาเจอปวดหัว พวกเราสนุก แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว
ผมไม่เคยเชื่อที่คนบอกว่าผมถนัดในเรื่องสื่อ เรื่องบันเทิง นั่นเป็นเรื่องที่คนมองผม จริงๆ ผมยังไม่ได้ทำอย่างอื่นต่างหาก วันนี้ก็พิสูจน์ว่าผมค้าขายเก่งกว่าทำสื่ออีก แต่ที่ผ่านมาผมยังไม่ได้ทำแค่นั้นเอง
เฮียฮ้อยังทิ้งท้ายก่อนลาจากกันว่า ครั้งหน้าไปเจอกันที่บริษัทใหม่ เฮียลงทุนไป 2,000 ล้านบาทไม่รวมราคาที่ดิน เป็นรูปแบบอาณาจักรของบริษัท อาร์เอส ที่เคยฝัน และวันนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ