ชวัล เจียรวนนท์ คนรุ่นใหม่ไฟแรง มีดีที่ความสามารถ ไม่ใช่เพราะนามสกุลดัง

เป็นคนหนุ่มวัย 24 ที่สวมหมวกหลายใบ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาฮอกกี้ทีมชาติไทย, สตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับการศึกษา, ผู้บริหารสื่อธุรกิจระดับโลกอย่าง Fortune และการเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท FinTech อีกมากมาย

ไม่ปฏิเสธว่านามสกุลที่พ่วงท้ายทำให้ ริชชี่-ชวัล เจียรวนนท์ เป็นคนหนุ่มที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

แต่หลังจากที่พูดคุยกันทำให้เราได้รู้ว่าไม่ใช่เพียงแค่นามสกุล แต่ Passion และ Mindset ที่เติบโตกว่าอายุ ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ริชชี่กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองด้วยเช่นกัน

แล้ว Passion กับ Mindset ที่ไม่เหมือนกับคนวัย 24 ทั่วไปของเขาจะเป็นอย่างไร

ให้บทสัมภาษณ์ระหว่าง Marketeer และริชชี่ที่ด้านล่างนี้เป็นคำตอบ

ไปกับฮอกกี้ให้สุดทาง แม้รู้ว่าจุดหมายปลายทางจะต้องกลับมาช่วยที่บ้าน

จากเด็กที่ถูกที่บ้านส่งไปเรียนตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ริชชี่ตัดสินใจกลับมาที่ไทย ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า “หากอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ต้องเรียนในไทยอย่างน้อย 6 ปี”

แม้จะรู้ดีว่าสุดท้ายแล้วต้องกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้าน ไม่ได้เดินทางเป็นนักกีฬาสายอาชีพอย่างที่ฝันไว้ แต่เขาก็ยังเลือกที่จะเต็มที่ไปกับมัน ฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำ แม้จะโดนแรงอัดจากฝรั่งที่ตัวใหญ่กว่ากดดันอยู่เสมอ

และสิ่งที่ได้กลับมาจากการอดทดฝึกซ้อม ก็ไม่ใช่แค่การเติมเต็ม Passion ที่อยู่ในใจ แต่ยังรวมไปถึงการเป็นหนึ่งในทีมนักกีฬาฮอกกี้ไทยที่ไปคว้ารางวัลที่ 4 ในรายการ IIHF Challenge Cup of Asia ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาครอบครอง

สตาร์ทอัพที่หวังแก้ไข Pain Point การศึกษาของเด็กไทย

ไม่ว่าจะเป็น Logistic ธนาคาร หรือรีเทล ล้วนเป็นธุรกิจที่ถูก Digital Disrupt และมีผู้เล่นรายใหญ่จากทั้งในไทยและต่างประเทศกระโดดเข้ามาเล่นในสนามนี้กันมากมาย

ต่างจากวงการการศึกษาที่ยังไม่ค่อยมีผู้เล่นเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดตรงนี้มากสักเท่าไร ทั้งที่เป็นตลาดที่มี Demand สูง เพราะการศึกษาในห้องเรียนนั้นไม่เพียงพอต่อการแข่งขันเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กไทย

นี่จึงกลายเป็นโอกาสที่ทำให้ริชชี่ตัดสินใจลงทุนในสตาร์ทอัพจากฮ่องกงอย่าง Snapask แล้วนำเข้ามาทำตลาดในไทย

โดยนี่คือ Application ที่จะเข้ามาแก้ไข Pain Point การศึกษาของเด็กไทยในแง่ของการทำโจทย์ หากเด็กๆ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโจทย์ข้อต่างๆ แล้วไม่สามารถหาคำตอบด้วยตัวเองได้ ก็สามารถถ่ายภาพของโจทย์นั้นแล้วส่งมาใน Snapask ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จากนั้น Application ก็จะทำการส่งโจทย์ข้อนั้นให้กับติวเตอร์ที่อยู่ในระบบ เพื่อให้ติวเตอร์บอกวิธีแก้ไขโจทย์และส่งกลับให้เด็กภายใน 5 นาที

โดยรายได้ของ Snapask ก็จะมาจากค่าบริการที่เด็กนักเรียนจ่ายให้ เฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาทต่อโจทย์ 1 ข้อ และติวเตอร์ก็จะได้ส่วนต่างค่าแก้ไขโจทย์อยู่ที่ 10 บาท

หวังขยายไปอีก 15-20 ประเทศในสิ้นปีนี้

ในระยะเวลา 1 ปีกว่า Snapask สามารถเข้าถึงเด็กไทยได้กว่า 4 แสนคน โดยในสิ้นปีนี้เขาหวังจะขยาย Snapask ไปยังอีก 15-20 ประเทศและจะเน้นไปยังประเทศในเอเชีย

โดยหากทำตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ ในอนาคตข้างหน้าเขาหวังจะเพิ่ม Feature ใน Snapask ให้สามารถทำได้มากกว่าแค่ถ่ายรูปแล้วถามโจทย์

ที่เลือกขยาย Feature ให้มีมากขึ้น นั่นเป็นเพราะจากการสำรวจ ริชชี่พบ Insight ว่าคนไทยและคนเอเชียชอบ Application ที่สามารถทำได้หลากหลาย ครบ จบ ใน Application เดียว ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น Line, Grab หรือ E-Wallet ต่างๆ

ต่างจากพฤติกรรมของคนฝั่งอเมริกาที่ไม่ชอบความซับซ้อน Application ที่ชาวอเมริกันนิยมจึงมักจะเป็นอะไรที่เฉพาะเจาะจง 1 Application ทำได้แค่ไม่กี่อย่างเท่านั้น

เหตุผลหลักที่ซื้อ Fortune คือแบรนด์ที่เอามาต่อยอดธุรกิจในรูปแบบอื่นได้

อย่างที่หลายคนทราบกันเป็นอย่างดีเกี่ยวกับการที่คุณชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ได้เข้าซื้อสื่อธุรกิจระดับโลกอย่าง Fortune จากเมเรดิธ คอร์ปอเรชั่น บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาด้วยเม็ดเงินกว่า 5,000 ล้านบาท

ด้วยแนวคิดที่ต้องการสร้าง Fortune ให้เป็นสื่อด้านธุรกิจระดับโลก เพื่อตอบสนองแนวโน้มของผู้คนที่มีความต้องการคอนเทนต์ทางด้านธุรกิจมากขึ้น

แม้จะเป็นดีลของผู้เป็นพ่อ แต่ริชชี่ก็ต้องรับหน้าที่ในการเข้ามาบริหาร Fortune ด้วยเช่นกัน โดยเขาบอกกับ Marketeer ถึงเหตุผลในการซื้อ Fortune ว่าไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแบรนด์ที่แข็งแรงของ Fortune ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจในรูปแบบอื่นได้

ไม่ว่าจะเป็นงานสัมมนา การจัดประชุม หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับธุรกิจ เพราะหากมีชื่อแบรนด์ของ Fortune เข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดึงนักธุรกิจทั่วโลกให้เข้ามาที่งานได้

โดยเอเชียคือตลาดเป้าหมายที่ Fortune ในมือของตระกูลเจียรวนนท์มองเอาไว้ และในไม่ช้านี้เราจะได้เห็นสื่อสัญชาติอเมริกันจัดงาน Convention ในประเทศจีน

ซึ่งในตอนนี้ Fortune กำลังอยู่ในช่วงการจัดตั้ง Headquater ของภูมิภาคที่คาดว่าจะเป็นในฮ่องกง และกำลังเซตทีม Local ของแต่ละประเทศขึ้นมา

ส่วนจะได้เห็น Fortune ฉบับภาษาไทยเมื่อไร ริชชี่บอกว่าเป็นสิ่งที่ต้องรอติดตามกันต่อไป

ถ้าเข้าใจหัวใจสำคัญ ก็ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้

นักกีฬา/ทำธุรกิจเป็นของตัวเอง/สานต่อธุรกิจของครอบครัว

แน่นอนว่าความพยายามและวินัยเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ริชชี่สามารถทำทั้งสามสิ่งและอีกหลายๆ สิ่งให้ออกมาดีในเวลาเดียวกันได้ เมื่อถามว่าแล้วเขามีวิธีคิดหรือจัดการกับหลายอย่างที่ต้องทำอย่างไร

สิ่งที่ริชชี่ตอบกลับเรามาก็คือ

“เราคนเดียวไม่สามารถทำทุกอย่างได้ ผมว่าสิ่งสำคัญเลยมันอยู่ที่เราต้องรู้ว่า Key Business มันคืออะไร รายได้หลักหรือหัวใจสำคัญหลักของธุรกิจคืออะไร

แล้วเราก็ไปโฟกัสกับสิ่งนั้น ส่วนงานที่เหลือที่มันไม่ใช่หัวใจสำคัญ แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญก็จ้างคนที่เชี่ยวชาญให้มาทำงานแทนเรา

แบบนี้ผมว่าเราก็สามารถทำหลายๆ อย่างให้ออกมาดีได้”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online