เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ จิ๊กซอว์ต่อโรดแมป “Central to ASEAN” ของ จิราธิวัฒน์
“จิราธิวัฒน์” ตระกูลกลุ่ม ”เซ็นทรัล” ที่ถูกจัดอันดับโดยนิตยสาร ฟอร์บส ให้เป็นตระกูลมหาเศรษฐีไทยอันดับ 2
มีทรัพย์สินสุทธิ 2.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 670,000 ล้านบาท
มีจุดกำเนิดจากตำนานอย่าง “เตียง จิราธิวัฒน์” เมื่อกว่า 70 ปีก่อน ที่แรกเริ่มเปิดเป็นร้านขายของชำเล็กๆ
จากนั้นส่งไม้ต่อผลัดใบจากรุ่นสู่รุ่น มาถึงทายาทรุ่นที่ 3 และ 4 แตกกิ่งก้านสาขาเป็นอาณาจักรเซ็นทรัลที่ปัจจุบันไม่มีใครไม่รู้จัก
ปัจจุบัน เซ็นทรัลมีกลุ่มธุรกิจด้วยกัน 9 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (CDG) 2. กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ (CPN) 3. กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (CFG) 4. กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า (CHG) 5. กลุ่มธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น (CMG)
6. กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต (CHR) 7. กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ (COL) 8. กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (CRG) 9. กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนาม (CGVN)
“เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN หนึ่งในกิ่งก้านสาขาธุรกิจในเครือเซ็นทรัลที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่เป็นธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ พูดง่ายๆ คือ เป็นเจ้าของห้างเซ็นทรัลสาขาต่างๆ นั่นแหละ
มาในวันนี้เซ็นทรัลคิดการใหญ่ส่งห้างสรรพสินค้าสัญชาติไทยไปลุยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “มาเลเซีย” ในชื่อ “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้” และเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ที่ วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ใช้เวลาเตรียมและลุยโครงการนี้มากว่า 7 ปี
รู้จัก เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ห้างในต่างประเทศแห่งแรกของซีพีเอ็น
ซีพีเอ็นเลือกจับมือกับยักษ์ใหญ่อย่าง ไอ–เบอร์ฮาด (i-Berhad) บิ๊กเนมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศมาเลเซียเปิดศูนย์การค้า “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้” ขนาด 6 ชั้น ในรูปแบบ Regional Mall ที่เมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์
นับเป็นศูนย์การค้าที่ 34 ของซีพีเอ็น มีพื้นที่ขนาด 28 ไร่ ด้วยงบลงทุนกว่า 8,500 ล้านบาท โดยซีพีเอ็นถือหุ้น 60% และ ไอ-เบอร์ฮาด 40%
โดย “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้” ตั้งอยู่ในโครงการ ไอ-ซิตี้ อัลตราโพลิส (i-City Ultrapolis) ไลฟ์สไตล์ ฮับ ในเมืองชาห์อลัม ประกอบด้วยศูนย์การค้า, อาคารสำนักงานขนาดใหญ่, ที่อยู่อาศัย โรงแรม สวนสนุก และศูนย์กลางทางด้านไซเบอร์และนวัตกรรม
แล้วทำไมต้องที่เมืองชาห์อลัม ของมาเลเซีย
เหตุผลที่เลือกลงทุนในมาเลเซียเป็นสาขาแรกนั้น วัลยา จิราธิวัฒน์ กล่าวว่า เพราะเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของมาเลเซียที่ถึงแม้จะมีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทย แต่รายได้ต่อหัวของคนมาเลเซียมีมากกว่าคนไทยเกือบ 2 เท่า
รวมทั้งคนมาเลเซียมีความคุ้นเคยและชื่นชอบในสินค้าและความเป็นไทย ซึ่งเห็นได้จากการที่คนมาเลเซียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากคนจีน หรือประมาณ 4 ล้านคนต่อปี
คำถามที่ตามมาคือ แล้วทำไมไม่เลือกทำเลที่กัวลาลัมเปอร์
แต่มาลงเอยที่เมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์ ที่อยู่ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 22 กิโลเมตร
วัลยาระบุว่า ซีพีเอ็นเลือก “ทำเล” เป็นหลักเพื่อดึงคนในระยะยาว มีกำลังซื้อที่ดี รวมทั้งการแข่งขันตลาดค้าปลีกไม่รุนแรงเกินไป
ซึ่งในกัวลาลัมเปอร์มีศูนย์การค้าเยอะ และหนาแน่นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะต้องเลือกทำเลที่น่าสนใจที่ใกล้กับเมืองหลวงมากที่สุด
‘เมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์’ เมืองเทคโนโลยีแห่งใหม่ของมาเลเซีย จึงเป็นคำตอบ เพราะเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยประชากรในรัฐสลังงอร์ที่มีมากกว่า 5 ล้านคน
รวมทั้งยังติดกับเขตแคลงที่เป็นเมืองท่าสำคัญของมาเลเซีย ที่จะสามารถสร้างทราฟฟิกให้กับศูนย์การค้าได้ในระยะยาว
กลุ่มลูกค้าของศูนย์การค้าจึงโฟกัสไปที่ระดับกลางถึงระดับบนทั้งลูกค้าชาวมาเลเซีย จีน อินเดีย และชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ที่นี่
ผลตอบรับดีเกินคาด
แม้จะเปิดให้บริการได้เพียงแค่เกือบ 3 เดือน (เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา) แต่ผลตอบรับดีเกินคาดเพราะมีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้
ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานคอมเมอร์เชียล ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ภายในศูนย์การค้าเปิดให้บริการแล้ว 60% และคาดว่าปลายปีจะเปิดให้บริการ 85%
โดยมีลูกค้ามาใช้บริการในวันธรรมดาจำนวน 30,000 คน ขณะที่ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีลูกค้ามาใช้บริการ 50,000 คน
หลักจากที่ Marketeer ได้ร่วมทริปไปร่วมงานเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ อย่างเป็นทางการ ภาพบรรยากาศในห้างเหมือนจับเอาดีไซน์ในเซ็นทรัลลาดพร้าว ผสมกับ เซ็นทรัลเวิลด์ มารวมกัน
และยังเห็นแบรนด์ไทยที่ร่วมขยายสาขามายังมาเลเซีย อาทิ Café Amazon, Black Canyon, Barbeque Plaza, ชาตรามือ, ชาพะยอม ด้วย
ไม่หยุดแค่นี้ เตรียมลุยเวียดนาม
วัลยาระบุว่า เป้าหมายต่อไปหลังจากนี้คือการขยายสาขาอีก 1 สาขาในมาเลเซีย โดยได้เล็งทำเลไว้ 2 แห่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำกับพาร์ตเนอร์รายเดิมเพราะซีพีเอ็นไม่ได้ผูกขาด และเปิดรับพาร์ตเนอร์ทุกราย
รวมทั้งเตรียมขยายไปยัง “เวียดนาม” ที่ได้รับการขนานนามเป็น ’เสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย’ โดยตอนนี้เล็งที่ดินไว้ 2 แปลงเช่นกัน แต่การทำงานไม่ได้ง่ายนัก ต้องทำงานอย่างถูกต้อง จึงต้องใช้เวลานาน แต่ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลานานกว่าการลงทุนในมาเลเซียหรือไม่
ทั้งนี้คาดว่า “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้” จะมีจุดคุ้มทุนในระยะเวลา 7-9 ปี
ทั้งนี้ Marketeer มองว่า การขยายสาขามายังต่างประเทศของซีพีเอ็นในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตในระยะยาว และกระจายความเสี่ยงด้วยการไปลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
นับว่า “เซ็นทรัล ไอ- ซิตี้” เป็นจิ๊กซอว์ตัวแรกของซีพีเอ็นที่น่าจับตา ที่ยกระดับห้างสัญชาติไทยมาอยู่ในระดับอินเตอร์
ส่วนจะมาเติมเต็มพอร์ตรายได้ให้ซีพีเอ็นและเครือเซ็นทรัลได้มากน้อยแค่ไหน
คงต้องรอดูนับจากนี้…
เพราะซีพีเอ็น ไม่ได้มาเล่นๆ แต่มองไกลถึงระดับภูมิภาค ด้วยโรดแมป ‘Central to ASEAN’
การลงทุนศูนย์การค้าในมาเลเซียนอกจากกลุ่มทุนท้องถิ่นแล้ว ยังมีศูนย์การค้าที่มาจากกลุ่มทุนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาลงทุนในมาเลเซียด้วย ซึ่งรายล่าสุดคือไทย
————————
4 อันดับทอปศูนย์การค้าในมาเลเซีย
– KLCC
– Pavilion
– Mid valley
– Sunway Pyramid
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



