ฟิลิปส์ ทำความรู้จักเส้นทางของแบรนด์ระดับโลก ที่กว่าจะมีวันนี้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย

แวดวงประวัติศาสตร์จดจำเนเธอร์แลนด์ในฐานะหนึ่งในชาติชั้นนำด้านการค้าและการเดินเรือ ส่วนวงการฟุตบอลเนเธอร์แลนด์สร้างชื่อไว้ด้วยการเป็นต้นแบบ Total Football ที่เคยเกือบคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปรู้จักเนเธอร์แลนด์ผ่าน Philips แบรนด์ดังของประเทศนี้ ที่ยุคหนึ่งเคยครองตลาดโทรทัศน์และวิทยุด้วยสัดส่วนไม่ใช่น้อย ขณะเดียวกันยังเป็นแบรนด์หลอดไฟที่ส่องสว่างให้บ้านทั่วโลกนับไม่ถ้วนมาอย่างยาวนานอีกด้วย

Philips HQ

ความน่าสนใจของ Philips ยังอยู่ที่การเป็นแบรนด์เก่าแก่ ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วมากมาย กล้าทิ้งธุรกิจที่เคยสร้างชื่อให้ และไม่เคยหลุดจากหัวตาราง ‘แบรนด์ดัตช์’ มูลค่าสูงสุดเลย

 

ฟิลิปส์… แบรนด์ใหญ่ใต้ชื่อตระกูลที่ไฟไม่เคยดับ 

Philips ก่อตั้งเมื่อปี 1891 โดย Gerard Philips นักธุรกิจชาวดัตช์ที่สนใจเรื่องวิศวกรรมและไฟฟ้า กับ Fredeik บิดาที่เป็นนายธนาคาร โดยสินค้าชิ้นแรกที่ประทับตราชื่อสกุลของทั้งคู่ คือหลอดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้ายุคแรกๆ แต่ธุรกิจมาเดินหน้าได้อย่างจริงจัง และพ้นจากการล้มละลาย

Philips Founder

(ซ้าย) Anton Philips และ (ขวา) Gerard Philips

หลัง Anton น้องชายของ Gerard ซึ่งอายุห่างกันถึง 16 ปี มาช่วยงานในตำแหน่งฝ่ายขาย และวางรากฐานให้บริษัทซึ่งส่งผลดีต่อมาในอนาคต

เมื่อขึ้นเป็นผู้บริหารราวปี 1922 Anton พา Philips ขยับขยายด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างมีดโกนหนวดไฟฟ้าและวิทยุ ขณะเดียวกันยังพาบริษัทผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 มาได้ ด้วยการผลักดันสินค้าที่ผลิตในเนเธอร์แลนด์ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ขณะที่สินค้าสัญชาติเยอรมันถูกฝั่งประเทศสัมพันธมิตรต่อต้าน

Philips Bomb Factory

Philips ที่เสียหายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ทว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับไม่ส่งผลดีต่อ Philips เพราะชาติพันธมิตรตัดสินใจใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายโรงงานผลิตวิทยุของ Philips เพื่อตัดโอกาสไม่ให้กองทัพเยอรมันนำเทคโนโลยีของเนเธอร์แลนด์ที่ตนยึดครองอยู่ไปพัฒนาต่อ

สงครามโลกครั้งนี้ ยังทำให้ Philips ต้องย้ายสำนักงานและเงินทุนส่วนใหญ่ไปสหรัฐฯ กับเกาะ Dutch Antilles fb ดินแดนในปกครองของเนเธอร์แลนด์ในทะเลแคริบเบียนอีกด้วย เพื่อไม่ให้ธุรกิจทั้งหมดตกเป็นเครื่องมือทางการทหารของกองทัพนาซีเยอรมัน

Philips Radio

หลังสงครามจบลงคนในตระกูล Philips รุ่นแล้วรุ่นเล่าและผู้บริหารอีกหลายคน ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นชาวดัตช์ ก็พาแบรนด์ดัตช์ชื่อดังเดินหน้าต่ออีกครั้งอย่างมั่นคง ด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้ามากมายที่สร้างความบันเทิงในครอบครัวทั่วโลกผ่านภาพและเสียง เช่น โทรทัศน์ เทปบันทึกเสียง วิทยุ เครื่องเล่นวิดีโอ เครื่องเล่น Laser Disc, CD, DVD และ Blu-ray

ข้ามมาถึงปี 2011 Philips เจอวิกฤตอีกครั้ง หลังจำเป็นต้องขายกลุ่มธุรกิจโทรทัศน์ให้ TPV ผู้ผลิตโทรทัศน์และจอภาพของฮ่องกงเพื่อลดการขาดทุน

เพราะสู้กับแบรนด์เอเชียอย่าง Samsung และ LG ที่มีราคาถูกกว่าต่อไปอีกไม่ไหว การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อสถานะทางเงิน โดยสิ้นปีนั้น Philips มีตัวเลขขาดทุน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 34,100 ล้านบาท)

Philips Light Bulb

ขณะเดียวกันยังทำให้พนักงาน Philips ราว 4,500 คนต้องตกงาน และฉุดมูลค่าแบรนด์ให้ลดลง โดยจาก 9,033 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 280,023 ล้านบาท) ในปี 2011 ลงมาอยู่ที่ ที่ 6,730 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 208,630 ล้านบาท) ในปี 2012 ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจเด็ดขาดดังกล่าวคือ Frans Van Houten – CEO คนปัจจุบันซึ่งขณะนั้นเพิ่งขึ้นนั่งเก้าอี้ได้ไม่นาน  

 

ฟื้นได้ใหม่ด้วยเครื่องมือแพทย์

ปัจจุบัน Philips ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน หลอดไฟส่องสว่าง และอุปกรณ์ที่ช่วยแพทย์วิจัยโรคได้อย่างแม่นยำตามโรงพยาบาลใหญ่ (Health Care) ซึ่งผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่พา Philips รุกสู่ Health Care Technology คือ Frans Van Houten นั่นเอง หลังเห็นว่ามีอนาคตสดใส เพราะทั้งผู้บริโภคทั่วไป และรัฐบาลทั่วโลกหันมาดูแลใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น

Philips MRI

เครื่อง MRI ของ Philips

Philips ภายใต้การบริหารของ Frans Van Houten – CEO คนที่ 13 ก้าวสู่ปีที่ 129 มีโรงงานอยู่กว่า 100 แห่งใน 26 ประเทศทั่วโลก และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจาก 14,517 ล้านยูโร (ราว 508,095 ล้านบาท) ในปี 2014

Philips CEO

Frans Van Houten – CEO คนปัจจุบัน 

เพิ่มขึ้นเป็น 18,121 ล้านยูโร (ราว 579,872 ล้านบาท) ในปี 2018 ซึ่งยังทำให้ Philips รักษาตำแหน่ง 1 ใน 5 แบรนด์เนเธอร์แลนด์ มูลค่าสูงสุด ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยปี 2018 อยู่ในอันดับ 4 มีมูลค่าที่ 8,813 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 273,203 ล้านบาท) เพิ่มจาก 8,226 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 255,006 ล้านบาท) ในปี 2017/companyhistory, reuters, philips, brandfinance, wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online