เปิดร้าน ตอนนี้ดีไหม ? ความจริงของการเป็นผู้ประกอบการ โดย รวิศ หาญอุตสาหะ

สิ่งที่ผมจะเล่าในบทความนี้เกิดจากการที่ผมได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า The Hard Thing About Hard Things ของ Ben Horowitz คือ ใครที่เป็นผู้ประกอบการหรือทำธุรกิจอยู่ อ่านแล้วจะรู้สึกว่ามันโดนมากๆ เพราะในหนังสือเขาพูดถึงความจริง (แบบจริงๆ) ของการทำธุรกิจ ว่าถ้าหากคุณก้าวเข้ามาสู่การเป็นผู้ประกอบการแล้ว อะไรบ้างที่คุณจะต้องเจอ ก็มีตั้งแต่ถ้าต้องไล่ลูกน้องออกต้องทำยังไง ไม่มีเงินจ่ายทำยังไง เงินหมดทำยังไง

ใครที่คิดจะ เปิดร้าน หรือทำธุรกิจ ผมอยากจะมาเล่าประสบการณ์ในฐานะของคนทำธุรกิจ ให้คนอื่นๆ ได้ฟังบ้าง ว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นผู้ประกอบการหรือคนทำธุรกิจบ้าง ซึ่งผมคิดว่ามี 6 ข้อหลักๆ ด้วยกันครับ

ข้อที่ 1 : การทำธุรกิจมันมีทั้งเรื่องที่ยากและง่ายกว่าที่คิด

มันมักจะมีเรื่องบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันง่ายในตอนแรก เช่น เวลาคนทั่วไปอยากที่จะเปิดร้านกาแฟ ก็มักจะรู้สึกว่าการเปิดร้านกาแฟมันไม่เห็นจะมีอะไรเลย เพราะเห็นเวลาเดินเข้าไปซื้อกาแฟในห้างก็เห็นทำกันชิลๆ สบายๆ ปกติ ดูไม่น่าจะมีอะไร แต่พอมาทำจริงๆ แล้วมันมีความยากมากกว่าที่คิดมาก ตั้งแต่เรื่องของระบบหลังร้าน, ระบบการสั่งซื้อกาแฟ, การบริหารจัดการ stock inventory, การทำความสะอาดต่างๆ หรือแม้แต่การรันคิวลูกค้าในช่วงเวลาเร่งด่วน

ดังนั้น ถ้าคุณอยากที่จะเปิดร้านกาแฟจริงๆ สิ่งที่คุณควรทำก่อนเรื่องอื่นๆ เลยคือ ให้ลองไปทำงานจริงๆ ลองไปสมัครงานที่ร้านกาแฟดู ไปขอเขาเรียนรู้ดู บางทีคุณอาจจะค้นพบว่ามันมีเรื่องที่ไม่สนุกอยู่ในนั้น จริงอยู่ว่าคุณชอบดื่มกาแฟ แต่การดื่มกาแฟกับการทำกาแฟขายมันเป็นคนละเรื่องกันเลยนะครับ

ขอเน้นที่ประโยคนี้เลยนะครับ “การที่คุณชอบทำอะไร มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถทำธุรกิจนั้นได้ดี” เพราะการทำธุรกิจมันมีเรื่องที่เราต้อง operation มากมายนอกไปจากสิ่งที่เราชอบทำ

แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีเรื่องที่ผมคิดมาตลอดว่ามันจะต้องยากแน่เลย แต่เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้ยากถึงขนาดจะเรียนรู้ไม่ได้ เช่น เรื่องภาษี, การคุยกับแบงก์เพื่อขอกู้, การดูกระแสเงินสดของธุรกิจ เพราะพอได้ทำได้เรียนรู้จริงๆ มันไม่ได้ยากมากๆ เหมือนอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก

ข้อที่ 2 : ต้องเข้าใจในธุรกิจที่ทำอย่างลึกซึ้งมากๆ

กลับไปที่ตัวอย่างของร้านกาแฟ ถ้าคุณจะเปิดร้านกาแฟ ประเด็นสำคัญที่สุดเลยคุณต้องรู้เรื่องกาแฟดีมากๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องรู้มากกว่าคนทั่วไป หรือมากกว่าลูกค้าที่จะมากินร้านคุณ แต่คุณจะรู้แค่เรื่องของกาแฟไม่ได้น่ะสิครับ เพราะการทำธุรกิจมันมีสิ่งสำคัญหลายอย่างที่เราต้องเข้าใจ อาทิ เรื่องเงิน พอพูดถึงเรื่องเงิน ทุกคนก็อาจจะมองว่า เรื่องเงินไม่เห็นจะมีอะไรยากเลย แต่เอาเข้าจริงๆ มีคนจำนวนมากเลยนะครับ ที่ทำธุรกิจแบบไม่สนใจ ไม่เคยดูเรื่องเงินเลย แล้วก็เจ๊งกันมาเยอะแล้ว เพราะไม่เข้าใจกระแสเงินสด ควบคุมงบประมาณไม่ได้

ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำไปเองทั้งหมดนะครับ แต่คนทำธุรกิจต้องเข้าใจเรื่องสำคัญต่างๆ เหล่านี้ของธุรกิจให้ดี เข้าใจว่าอะไรเป็นรอยรั่ว อะไรคือความเสี่ยง อาทิ ระบบจัดซื้อของบริษัทคุณมีความเสี่ยงไหม คุณรู้ได้อย่างไรว่าคุณซื้อของที่ดีและถูกที่สุดในสถานการณ์ ณ ตอนนั้น การปล่อยเครดิตให้กับลูกค้ามีความเสี่ยงไหม ถ้าเสี่ยง เสี่ยงตรงไหน จะปิดความเสี่ยงอย่างไร มีวิธีควบคุมเครดิตหรือไม่

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเข้าใจ จะได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราควร monitor อะไรคือสิ่งที่เราควรดู

ข้อที่ 3 : คนเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจ

บริษัทหรือองค์กรต่อให้ใหญ่ขนาดไหน ถ้าไม่มีคนทำงานก็เป็นแค่ตึกเปล่าๆ ตึกหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องคนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และที่ผ่านมาผมก็ตกผลึกได้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นคือ เรากำลังบริหารความพึงพอใจของทุกคน ไม่ใช่แค่คนในองค์กรเท่านั้นนะครับ แต่นับรวมไปถึงลูกค้า, ผู้ถือหุ้น, ภาครัฐ, ธนาคารที่เราใช้บริการ และโดยส่วนใหญ่แล้วมีแต่ซีอีโอเท่านั้นที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ในภาพใหญ่

ข้อที่ 4 : เข้าใจคำว่า “ความเสี่ยง”

หนึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการทำธุรกิจคือ กระบวนการในการทำความเข้าใจความเสี่ยง คือ ถ้าเกิดว่าคุณกลัวความเสี่ยงมากเกินไป ธุรกิจคุณก็ไม่ขยาย เพราะอะไรก็จะดูน่ากลัวไปหมด แต่ถ้าเกิดไม่ประเมินความเสี่ยงเลย เจออะไรก็ตะลุยทำมันไปหมด แบบนี้ก็เสี่ยงเกินไป แต่ถ้าเรามีความเข้าใจในประเด็นเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยง เราก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ เราอาจจะไม่ต้องไปใช้เครื่องมือของบริษัทที่ปรึกษาก็ได้ เพราะเครื่องมือที่สำคัญมันอยู่กับเราเนี่ยล่ะครับ

มันคือความระแวดระวังภัย ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์เรานั่นเองครับ เวลาผู้ประกอบการดึงเอาสิ่งนี้มาใช้เยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะระวังไปซะทุกอย่าง แล้วก็ตื่นตระหนกไม่ทำอะไรเลย ไม่ใช่แบบนั้น

แต่ให้คุณรู้ถึงสัญชาตญาณของคุณเอง และทันทีที่มันเตือนคุณ ขอให้ตั้งใจฟัง เพราะส่วนใหญ่มันจะถูก

ข้อที่ 5 : รู้ว่าต้องแลกด้วยอะไร

สิ่งที่เป็นคำมั่นสัญญาอันหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการ คือ เราต้องดูแลกิจการของเราราวกับมันเป็นลูกรักของเรา และคนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น นึกถึงตอนเรามีลูก เราจะห่วงลูก 24 ชั่วโมง 7 วัน อายุเท่าไรก็ห่วง ลูกประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จก็ห่วง ธุรกิจก็ไม่แตกต่างกัน

ถ้าคุณกำลังอยากออกมาทำธุรกิจเอง อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมบางคนถึงต้องทำงาน 365 วัน นั่นก็เพราะเป็นห่วงอยู่ตลอด อยากทำให้ดีที่สุด แม้ว่าคุณกำลังไปเที่ยวงานก็จะตามคุณไปด้วย จนกว่าจะถึงวันที่ธุรกิจของคุณมีระบบที่ดีรันได้ด้วยตัวเอง หรือเอาเข้าตลาดได้ เราก็จะห่วงน้อยลง แต่ก็ยังห่วงอยู่ดีนั่นล่ะ ที่เราผู้ประกอบการหรือเจ้าของบริษัทบางคนที่ชิลๆ สบายๆ นั้น คือเขาได้ผ่านช่วงที่หนักมาเยอะมากกว่าจะชิลได้ขนาดนั้น

ขอบอกไว้ตรงนี้เลยนะครับ ใครที่กำลังอยากจะออกมาทำธุรกิจของตัวเองเพียงเพราะเบื่อการไปทำงานประจำ ให้รู้เลยว่าในช่วงแรกของการสร้างธุรกิจ (บางคนอาจจะเป็น 10 ปี) งานที่คุณต้องทำนั้นหนักกว่าที่ออฟฟิศเยอะมาก ไม่ใช่หนักแค่ชั่วโมงการทำงานนะครับ มันหนักทั้งความเครียด ความรู้สึก แต่ถ้าคุณสามารถบริหารจัดการเรื่องความเครียดได้ดีก็รอดไป

แต่คนส่วนใหญ่หลายคนที่ผมรู้จักรวมถึงตัวผมเอง มีหลายมุมที่คนข้างนอกไม่รู้เลยว่า เรื่องเหล่านี้มันส่งผลต่อสภาวะของจิตใจเยอะมาก ผมไม่ได้บอกว่า ทุกคนอย่าออกมาทำธุรกิจเลย ไม่ใช่แบบนั้น แต่ผมกำลังจะบอกให้คุณเข้าใจก่อนว่า การสร้างธุรกิจมันไม่ใช่งานที่สบาย มันเป็นการทำงานหนัก และเหนื่อยมาก และถ้าคุณรู้และเข้าใจแล้วล่ะก็ ว่าคุณต้องแลกกับอะไร คุณก็จะมี Mindset ที่ถูกต้อง ก่อนที่จะเข้าสู่เกมของการเป็นผู้ประกอบการ

ข้อที่ 6 : ประสบการณ์จะสอนทุกอย่าง

เรื่องนี้บางคนอาจจะไม่เป็น แต่หลายครั้งเราจะเห็นได้ว่าเมื่ออีโก้เข้าครอบงำ โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจสำเร็จมาบ่อยๆ คนอื่นพูดจะไม่ฟังเลย ผมเล่าเรื่องของผมให้ฟังแล้วกัน ครั้งหนึ่งเป็นช่วงที่ผมรู้สึกมั่นใจในฝีมือการทำธุรกิจของผมมากๆ เพราะโปรเจกต์ที่ผ่านมาล่าสุดออกมาดีแบบสุดๆ มีคนมาเตือนหลายเรื่อง ว่ามีหลายปัจจัยที่จะทำให้โปรเจกต์นี้ไม่สำเร็จ ผมก็ไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นเลย หรือฟังก็ฟังน้อยมากเพราะอีโก้สูง ทำให้โปรเจกต์นั้นเละทันที

ดังนั้น ถ้าคุณกำลังจะเป็นแบบนี้ เวลาที่คุณกำลังจะเริ่มโปรเจกต์ใหม่ๆ ขอให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน อย่าทำใหญ่เกินไปตั้งแต่ต้น ควบคุมความเสี่ยงให้ดี รู้ว่า worst case scenario จริงๆ คืออะไร ถ้าทุกอย่างมันออกมาตรงข้ามกับที่คุณคิด คุณจะทำยังไง

แต่คุณเชื่อไหมว่าคนส่วนใหญ่คิด worst case scenario ไม่ออกกัน เพราะคนที่กำลังเริ่มโปรเจกต์ส่วนใหญ่มองว่าทุกอย่างเป็นไปได้ (ถ้าคิดว่าเป็นไปไม่ได้เราคงไม่ทำจริงไหมครับ) ผมก็เป็นคนหนึ่งที่คิดไม่ออก เลยต้องขอความคิดเห็นจากคนอื่น คนที่มองเรื่องนี้ได้เป็นกลางที่สุด เข้าใจความเสี่ยงของสิ่งที่เรากำลังทำ เมื่อเรามองรอบด้านแล้ว เราก็จะรู้ว่าเรากำลังกระโดดเข้าไปทำอะไรกันแน่

สุดท้าย ขอฝากไว้นิดหนึ่งนะครับ กระแสเงินสดเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับธุรกิจครับ ถ้าวันหนึ่งไม่อยากจะดูอะไรเยอะ ผมแนะนำให้ดูเรื่องนี้ครับ ในธุรกิจที่มีธุรกรรมต่างๆ น้อย กระแสเงินสดจะดูง่ายเห็นชัดเจน แต่ว่าในธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกระแสเงินสดมันมักจะถูกจมไปกับอะไรบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ขายสินค้าออกไปเป็นเครดิต (ปล่อยเครดิตนานเกินไป) ยอดขายมาแต่มีปัญหาเรื่องเงิน แบบนี้ก็อันตรายเหมือนกัน

เรื่องทั้งหมดเหล่านี้อาจจะเป็นแค่ความจริงสำหรับผมคนเดียวก็ได้นะครับ แต่ละท่านก็อาจจะมีมุมที่แตกต่างกันไป

สิ่งสำคัญมากๆ อีกอย่างก็คือ ไม่ว่าเราจะยุ่งขนาดไหน ทำธุรกิจเยอะแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ คุณต้องดูตัวคุณเองด้วย ว่าทุกวันนี้คุณมีสุขภาพดีไหม มีความสุขหรือเปล่า มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีไหม เรื่องของจิตใจคุณเป็นอย่างไรบ้าง เพราะคนทำธุรกิจหลายคนก็มัวแต่บริหารธุรกิจจนลืมไปว่าการบริหารจัดการชีวิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน