Tokyo Hot ร้านขนมโตเกียวที่ฉีกกฎขนมแป้งห่อไส้แบบเดิมๆ แล้วเติมไอเดียจนปัง

หากพูดถึงขนมโตเกียว หลายคนจะนึกถึงภาพอาหารว่างที่วางขายอยู่บนเตาของรถเข็น กับรสชาติมาตรฐานที่ไม่ว่าร้านไหนๆ ก็มักจะเสิร์ฟแต่ไส้ไข่ ครีม หมูสับ และไส้กรอกสีแดง

แต่ร้านโตเกียวที่เราได้ไปพบมานี้กลับแตกต่างออกไป

เพราะนอกจากการเสิร์ฟไส้ที่เป็นมาตรฐาน พวกเขายังฉีกกฎของการเป็นโตเกียวแบบเดิมๆ แล้วเพิ่มรสชาติที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ แต่กลับกลมกล่อมและเข้ากันได้อย่างลงตัวเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นไข่เค็มบราวนี่/ครีมไข่เค็ม/กะเพราหมูสับไข่เจียว/ไก่บาร์บีคิวซอสหม่าล่า หรือกับไส้กุ้งสดที่ผสมกับเครื่องต้มยำแบบไทยๆ แล้วใช้ชื่อเมนูเดียวกันกับชื่อของร้านว่า Tokyo Hot

ไม่เพียงแต่รสชาติที่แตกต่าง แต่ยังรวมไปถึงแนวคิดของร้านที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของรถเข็นอย่างที่เราคุ้นตา เพราะพวกเขาตั้งใจทำพื้นที่เล็กๆ ย่านเจริญกรุง 24 ให้กลายเป็นร้านอาหารที่มุ่งเน้นเสิร์ฟโตเกียวเป็นเมนูจานหลัก

และแม้จะเป็นร้านที่อยู่ในซอยเล็กๆ เดินทางไม่ค่อยสะดวกเท่าไร แต่ความ Hot ของ Tokyo Hotก็ทำให้ผู้คนต่างมารอต่อคิวเพื่อที่จะลิ้มลองรสชาติกันมากมาย

สะท้อนได้จากภาพที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า ทันทีที่ถึงเวลาเปิดร้านก็มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาจนทำให้พื้นที่ในร้านที่เล็กอยู่แล้วดูแน่นขนัดขึ้นไปอีก

พูดมาแบบนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัย ว่าสูตรลับในการทำแบรนด์ของ Tokyo Hot คืออะไร

ถ้าอย่างนั้นก็เตรียมท้องให้ว่าง เพราะเรากำลังจะเสิร์ฟบทความฮอตๆ จากหน้าเตาให้คุณได้อ่านที่ด้านล่างนี้

Tokyo Hotคือร้านโตเกียวที่เกิดมาจาก 3 ศิลปินอย่าง นะ-ณภัทร วัฒนกุลจรัส, เจ–จิรภัทร วัฒนกุลจรัส และ จืด-อดิศักดิ์ โชคส่องแสง กับความตั้งใจที่อยากเปิดร้านอาหารเพื่อหารายได้มาตอบสนองความต้องการทางด้านศิลปะ ที่อาจอยู่ในรูปแบบของนิทรรศการหรืออะไรก็ตามซึ่งเป็นผลลัพธ์ทางความคิดของคนที่เติบโตและถูกหล่อหลอมจนกลายมาเป็นศิลปินอย่างพวกเขา

โตเกียวไส้ จืด-อดิศักดิ์ , เจ–จิรภัทร และ นะ-ณภัทร (เรียงตามลำดับ)

โดยก่อนจะกลายมาเป็น Tokyo Hotอย่างที่เห็นนี้ ทั้ง 3 เคยมีไอเดียที่จะขายทาโก้มาก่อน แต่ด้วยความที่รสชาติของทาโก้ไม่ได้ถูกปากคนไทยมากนัก พวกเขาจึงเปลี่ยนมาขายโตเกียวแทน เพราะนอกจากจะเป็นเมนูที่คนทุกวัยกินได้ คุ้นชินรสชาติมาตั้งแต่เป็นขนมหน้าโรงเรียน

โตเกียวยังเป็นเมนูที่มีลักษณะเหมือนกับทาโก้ที่พวกเขาเคยคิดกันไว้ นั่นคือเป็นเป็นอาหารที่ห่อหุ้มด้วยแป้ง แล้วข้างในจะสอดไส้อะไรก็แล้วแต่ใจชอบ

ประกอบกับช่วงหนึ่งที่ ‘น้องกิจโตเกียวสู้ชีวิต’ กลายเป็นกระแส จึงยิ่งทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจว่ายังไงการขายแค่โตเกียวก็ไปได้แน่ๆ

เมื่อไอเดียตั้งต้นชัดเจน ทั้ง 3 จึงแบ่งแยกหน้าที่กันไปทำ โดยเจรับหน้าที่เป็น Art Director ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ร้าน โลโก้ ภาพกราฟิก หรือคอนเทนต์คิวท์ๆ ที่เราเห็นในเพจTokyo Hot

ส่วนนะและจืดมีหน้าที่เป็นพนักงานหน้าร้าน ตื่นมาตั้งแต่ 6-7 โมงเช้าเพื่อจัดเตรียมเมนูทุกอย่าง

โดยจืดจะรับหน้าที่ในการทำเมนูที่เป็นไส้คาว ส่วนเมนูไส้หวานต่างๆ นะจะเป็นคนทำมาจากบ้านเอง เห็นไส้แปลกๆ แบบนี้พวกเขาไม่ได้ทำมาเพื่อหวังเรียกกระแส แต่ทุกไส้ล้วนทำมาจากใจและความชอบส่วนตัว ที่คิดว่าคนอื่นๆ ก็น่าจะชอบด้วยเหมือนกัน

นอกจากจำนวนคนที่มารอต่อคิวแน่นร้านตั้งแต่เปิด รสชาติของแป้งโตเกียวที่กรอบนอกนุ่มใน โดยเฉพาะไส้ไข่เค็มบราวนี่หวานมันที่ผสมกันอย่างกลมกล่อมที่เราได้ลิ้มลองด้วยตัวเอง

อีกสิ่งที่ช่วยยืนยันความอร่อยของ Tokyo Hotก็คือจำนวนที่ขายได้ในแต่ละวัน ซึ่งต้องใช้แป้งในการทำประมาณ 40 ถ้วยตวงหรือคิดเป็นแป้งกว่า 9 กิโลกรัม ทั้งที่เป็นร้านขนาดเล็กๆ และเปิดมาเพียง 3 เดือนกว่าเท่านั้น

ในเรื่องของโลเคชั่นเหตุผลที่ทำให้ทั้ง 3 ตัดสินใจเลือกซอยเล็กๆ ในย่านเจริญกรุง 24 เป็นที่ตั้งของร้านทั้งๆ ที่การเดินทางก็ไม่ได้สะดวกสบาย ที่จอดรถไม่ได้มีมากมาย นั่นเป็นเพราะโลเคชั่นตรงนี้ติดกับ Exhibition ของเพื่อนที่รู้จัก และราคาค่าเช่าก็เป็นอะไรที่ทั้ง 3 คนมีกำลังรับไหว

ที่สำคัญ​คือความรู้สึกตั้งแต่วัยเด็กที่คิดว่าร้านอร่อยมักจะอยู่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ หายาก แต่ผู้คนต่างก็เต็มใจเดินทางมาเพราะรสชาติ

และพวกเขาก็คาดหวังให้ Tokyo Hotเป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน

ไม่เพียงแต่รายได้ที่จะเอาไปต่อยอดเพื่อทำงานศิลปะตอบสนองความต้องการในจิตใจ เพราะจืดเล่าให้เราฟังว่าการทำ Tokyo Hotยังทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือปรัชญาโตเกียวที่เขาตระหนักได้ว่า

“ผมว่าโตเกียวมันมีความเป็นมนุษย์สูง คือแม้เราจะมีความคาดหวัง แม้จะมีสูตรอยู่ในมือ แต่สุดท้ายเราก็คาดเดาผลลัพธ์ที่เป๊ะๆ ของมันออกมาไม่ได้

เพราะสุดท้ายมันไม่ได้มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จเสมอไป”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online