e-Wallet 2020 วิเคราะห์ตลาดกระเป๋าเงินออนไลน์ ใครใช้บ่อยกว่า คนนั้นชนะ
จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2562 การใช้งาน e-Money มีปริมาณการใช้งานทั้งสิ้น 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 67 พันล้านบาท
ส่วนปี 2561 มีปริมาณการใช้ 1,510.84 ล้านรายการ มูลค่า 209 พันล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ที่มีการใช้งานเพียง 1,272.22 ล้านรายการ มูลค่า 126 พันล้านบาท
การเติบโตของการใช้งาน eMoney ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจ e-Walletจากผู้ให้บริการe-Wallet อย่าง True Money, Rabbit Line Pay และอื่นๆ ที่มีการแข่งขันในการให้บริการผ่านฟีเจอร์ที่หลากหลาย จุดรับชำระทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่มีความหลากหลายและเป็นจุดรับบริการที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค พร้อมแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อเพิ่มความถี่ให้กับผู้ใช้บริการ ให้ยอมเปิดแอปพลิเคชันมือถือเพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านช่องทาง e-Walletแทนการใช้เงินสด และแอปโมบายแบงกิ้งจากธนาคารค่ายต่างๆ
เพราะธุรกิจนี้การที่ผู้บริโภคใช้งานแอปพลิเคชันในการชำระค่าสินค้าและบริการยิ่งถี่เท่าไร นั่นหมายถึงประสบการณ์ในการใช้งานที่มากขึ้น และกลายเป็นความคุ้นเคยจนเคยชินที่จะหยิบมือถือเปิดแอปขึ้นมาเป็นแอปหลักเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในจำนวนเงินที่มากขึ้นแทนเงินสด และแอป e-Wallet และ Mobile Banking ของคู่แข่ง
สิ่งที่ทุกแบรนด์แข่งขันในรูปแบบคล้ายๆ กันคือขยายฟีเจอร์ในการให้บริการ จุดรับชำระที่ให้ลูกค้าสามารถหยิบแอปขึ้นมาใช้ทุกวัน และแคมเปญโปรโมชั่นที่ให้สิทธิพิเศษมากกว่าเงินสดมาจากเหตุผลเดียวคือ ตลาด e-Wallet ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการสร้างความคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เงินสดมาใช้งาน e-Money และ e-Wallet แทน
แม้ในตลาด e-Wallet ในประเทศไทยจะมีให้บริการมากว่า 10 ปีก็ตาม ที่ผ่านมาธุรกิจนี้ยังมีการใช้งานอยู่จำกัด และส่วนใหญ่จะใช้เพียงชำระบิลค่าใช้จ่าย และเติมเงินมือถือเท่านั้น เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนยังมีอยู่จำกัด ผู้บริโภคยังมีความกังวลด้านการใช้งาน ทั้งด้านความปลอดภัยในการชำระเงิน การเติมเงิน และอื่นๆ รวมถึงการมีจุดชำระเงินที่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่เป็นจุดชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การเติมเงินในเกมออนไลน์ การซื้อสติกเกอร์ไลน์ และคอนเทนต์ออนไลน์อื่นๆ เป็นต้น
จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมการใช้งานผ่าน e-Money และ e-Wallet เริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย จากการผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย และการปลดล็อกการชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งด้วยระบบพร้อมเพย์ และคิวอาร์โค้ด
การปลดล็อกของธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีส่วนทำให้ธนาคารต่างๆ เร่งผลักดัน สร้างประสบการณ์การชำระสินค้าและบริการผ่านโมบายแบงกิ้งในรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้บริโภครู้จักและมีประสบการณ์ในการชำระเงินในรูปแบบ e-Money มากขึ้น
และผลพลอยได้คือประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เริ่มมองว่าการชำระเงินในรูปแบบ e-Money ไม่ใช่เรื่องที่ยาก และอยากลองใช้บริการ e-Money อื่นๆ รวมถึงมีแอปชำระเงินในรูปแบบe-Wallet ด้วย
แม้ e-Money จะมีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น แต่ในปัจจุบัน นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายทางพาณิชย์ ทรูมันนี่ จำกัด ก็ยังมองว่าธุรกรรมการใช้จ่ายในรูปแบบ Cashless Society ในประเทศไทย ยังคงมีสัดส่วนเพียง 10% เมื่อเทียบกับมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ
และสัดส่วน 10% นี้มาจากการผลักดันทุกภาคส่วน รวมถึงทรูมันนี่ด้วยเช่นกัน
นิรันดร์ได้มองว่าแม้ธุรกิจ e-Walletจะมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามา แต่ทรูมันนี่ถือว่าเป็นเจ้าตลาดที่ให้บริการ e-Walletเป็นรายแรกๆ ของไทย
และในปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 19.8 ล้านดาวน์โหลด โดยปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งาน 8.4 ล้านคน ที่เป็นผู้ใช้แอคทีฟต่อปี (ในหนึ่งปีมีการใช้งานอย่างน้อย 1 ครั้ง) และเป้าหมายในปีนี้คือจำนวนผู้ใช้งานแอคทีฟต่อปีที่ 14 ล้านคน
เพราะนิรันดร์เชื่อว่าเกมการแข่งขันในธุรกิจ e-Walletยังคงต้องเน้นที่การเติบโตด้านจำนวนผู้ใช้บริการ เพราะเมื่อมีผู้ใช้บริการยอมดาวน์โหลดแอป เติมเงินในระบบ และลองใช้บริการมากขึ้น โอกาสในการใช้งานต่อเนื่องก็มีมากขึ้นตามมา
โดยปัจจุบันทรูมันนี่มีผู้ใช้งานใช้งานเฉลี่ย 1 ล้านคนเดือน ผ่านธุรกรรม 8.8 ล้านธุรกรรม เป็นเงินเฉลี่ย 250-300 บาทต่อเดือนต่อคน
ซึ่งความถี่ในการใช้งานธุรกรรมของทรูมันนี่ ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้งานชำระเงินแทนเงินสดในเซเว่นอีเลฟเว่น ผ่านแอปพลิเคชันทรูมันนี่ และแอปพลิเคชันของเซเว่นที่มีการผูกบริการทรูมันนี่ไว้ในนั้น
การที่ทรูมันนี่มีจุดชำระเงินในเซเว่นอีเลฟเว่นได้กลายเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง ที่จะช่วยให้ผู้ใช้บริการเลือกแอปของทรูมันนี่ เป็นแอปหลักในการใช้ชำระสินค้าและบริการในจุดรับชำระอื่นๆ ด้วย
เพราะการที่ผู้บริโภคใช้แอปเป็นประจำ นั่นหมายถึงความคุ้นเคย และไม่กลัวที่หยิบมาใช้ชำระค่าบริการ และสินค้าในจุดชำระอื่นๆ ที่ไม่ใช่เซเว่น อีเลฟเว่นด้วย
จากนี้ต่อไป เกมของทรูมันนี่คือ การขยายฐานร้านค้าที่รับชำระทรูมันนี่ ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นออฟไลน์ เพื่อเป็นจุดรับชำระ และติดป้ายโปรโมททรูมันนี่ไปในตัว อย่างล่าสุดได้จับมือกับบูสท์, มินิโซ ให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าผ่านทรูมันนี่ได้
ซึ่งนิรันดร์เชื่อว่าในสิ้นปีนี้ ทรูมันนี่จะมีจุดรับชำระที่เป็นร้านค้าออฟไลน์ต่างๆ มากถึง 3 แสนจุด จากปัจจุบันมีจุดรับชำระ 2 แสนจุด
นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นสถาบันการเงิน เพิ่มความสะดวกในการเติมเงินและชำระเงินมากขึ้น อย่างเช่นล่าสุดได้จับมือกับวีซ่า มาสเตอร์การ์ด และเจซีบี ให้ผู้ใช้บริการสามารถผูกบัญชีทรูมันนี่ กับบัตรเครดิต หรือเดบิต เพื่อชำระสินค้าและบริการได้
จากเดิมที่การผูกทรูมันมี่กับบัตรเครดิตหรือเดบิต สามารถใช้จ่ายบิลค่าบริการเท่านั้น
และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่ถี่ขึ้น นอกจากการชำระสินค้าและบริการด้วยทรูมันนี่ ผ่านแอปเซเว่น แล้วได้แสตมป์เพิ่มขึ้นแล้ว ทรูมันนี่ยังมีการจับมือกับร้านอาหาร เพื่ออัพไซส์อาหารและเครื่องดื่มฟรีเมื่อจ่ายด้วยทรูมันนี่เช่นกัน
ซึ่งความจริงแล้วการแข่งขันกันมอบสิทธิพิเศษ นอกจากทรูมันนี่ คู่แข่งอย่างแรบบิทไลน์เพย์ก็ได้ทำเช่นกัน อย่างเช่น การมอบส่วนลด 5-10% เมื่อจ่ายผ่านแรบบิทไลน์เพย์ในร้านแมคโดนัลด์
รวมถึงการจับมือศูนย์อาหาร อย่างเช่นศูนย์อาหารในเดอะมอลล์ เพื่อมอบเงินแคชแบ็กเมื่อจ่ายผ่านแรบบิทไลน์เพย์ตามกำหนดเพื่อสร้างประสบการณ์ความถี่ในการใช้งาน
และแรบบิทไลน์เพย์ยังจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นจุดชำระเงินมากกว่า 80 พาร์ตเนอร์
แต่จุดแข็งของแรบบิทไลน์เพย์ ไม่ใช่ส่วนลดเท่านั้น เพราะแรบบิทไลน์เพย์ ยังมีจุดแข็งคือ บีทีเอส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นแรบบิทไลน์เพย์
ทำให้ผู้ใช้บริการบีทีเอสที่มีการเติมเงินผ่านบัตรแรบบิท สามารถนำเงินในบัตรไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในจุดที่แรบบิทไลน์เพย์มีให้บริการพร้อมเบเนฟิก ส่วนลดต่างๆ ที่คล้ายๆ กัน
นอกจากนี้ แรบบิทไลน์เพย์ ยังมีการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเติมเงินและซื้อบัตรรายเดือนผ่านเคาน์เตอร์บีทีเอส มาใช้การเติมเงินผ่านแรบบิทไลน์เพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่มีอยู่ในแอปพลิชันไลน์ ด้วยการแจกเที่ยวฟรีให้กับผู้ใช้บริการบีทีเอส เมื่อผูกบัตรแรบบิทเพื่อเติมเงินเติมเที่ยวผ่านฟีเจอร์แรบบิทไลน์เพย์ในแอปไลน์ด้วย
โดยเดือนมีนาคม 2562 แรบบิทไลน์เพย์ มีผู้ใช้มากถึง 5.5 ล้านราย และมีผู้ถือบัตรแรบบิทการ์ด 11 ล้านใบ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในวันนี้ตลาด e-Walletไม่ได้แข่งขันกันเพียง 2 ราย แต่ในตลาดนี้ยังมีผู้เล่นอื่นๆ อย่าง แอร์เพย์ บริษัทในเครือของช้อปปี้ ที่อาศัยจุดแข็งของช้อปปี้กระตุ้นให้ผู้ใช้บริการยอมเติมเงินในแอร์เพย์เพื่อชำระค่าสินค้าในช้อปปี้แทนการผูกกับบัตรเครดิต หรือเดบิตด้วย
รวมถึงยังมีลาซาด้าวอลเลต ที่เน้นการเป็น e-Walletที่ใช้ในการชำระเงินในอีมาร์เก็ตเพลสอย่างลาซาด้าเช่นกัน
และล่าสุดตลาด e-Walletในประเทศไทยยังมีน้องใหม่อย่าง ดอลฟิน แอปทางการเงินที่เซ็นทรัลจับมือร่วมกับเจดีดอทคอม และอีเพย์เมนต์อย่างเจดี ดิจิทส์ เพื่อให้บริการ e-Wallet และบริการสินเชื่อ บริการประกันภัย และบริการบริหารสินทรัพย์เพื่อความมั่งคั่งผ่านช่องทางดิจิทัล
โดยเชื่อว่าการมาของดอลฟินจะใช้จุดแข็งของอีคอมเมิร์ซอย่าง JD.co.th และเครือเซ็นทรัลในการขับเคลื่อนลูกค้า และสร้างความถี่ในการใช้งานแน่นอน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



