บริษัทญี่ปุ่น เผยเคล็ดลับ ทำไมบริษัทญี่ปุ่นกว่า 4,000 แห่งถึงอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี ?

ก่อนจะไปหาคำตอบในข้อความด้านล่าง ว่าทำไมบริษัทเกือบ 4,000 แห่งของญี่ปุ่นถึงอยู่ได้มาเป็นร้อยๆ ปี 🇯🇵

เราอยากให้คุณลองตั้งคำถามกับตัวเองดูก่อนว่า คุณซื้อธูปครั้งล่าสุดเมื่อไหร่?

เชื่อว่าคำตอบของใครหลายคนคือจำไม่ได้ และมันก็สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่หลายคน ไม่ค่อยจะซื้อธูปกันมากเท่าคนรุ่นก่อน

แต่น่าแปลกที่ Shoyeido บริษัทที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการขายธูปในญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ปี 1705 กลับอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้หรือคิดเป็นเวลาก็ปาเข้าไป 314 ปีแล้ว

และเป็นการอยู่นาน ที่ปีล่าสุดสามารถสร้างรายได้กว่า 3.5 พันล้านเยน เลยทีเดียว

แล้วพวกเขาทำได้อย่างไร?

บนเวที #ทายาทรุ่นสอง ที่จัดโดย The Cloud ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามของ Marumura ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่น ที่ไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่อายุ 17 ได้เล่าให้ฟังว่า

สิ่งที่ทำให้ บริษัทญี่ปุ่น มีอายุยาวเป็นร้อยปี นั่นเพราะพวกเขารู้จักปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่เป็นการปรับตัวบนพื้นฐานของหลัก “ริเน็น” หรือที่ในภาษาไทยแปลว่าปรัชญา ที่ไม่ว่าจะปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขนาดไหน แต่ก็จะไม่เปลี่ยนจนผิดเพี้ยนจากปรัชญาตั้งต้นของแบรนด์ไป

เหมือนอย่าง Shoyeido ที่หากยังคงขายธูปในรูปแบบเดิมๆ อยู่ ก็คงจะไม่สามารถทำให้แบรนด์เข้าไปถึงคนรุ่นใหม่ได้ และเมื่อไม่มีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เติมเข้ามา ในขณะที่ลูกค้าเก่าก็ค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา นั่นก็คงจะทำให้ยอดขายของแบรนด์หยุดนิ่งไปด้วย

Shoyeido จึงปรับตัวเองจากธูปไหว้เจ้า ให้กลายเป็น Incense หรือเครื่องหอมกำยานที่ยังคงใช้ ‘จุดส่งกลิ่น’ เพื่อความสบายใจเหมือนกัน แต่ให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป

แบบเดิมคือความสบายใจในแง่ของที่พึ่งทางจิตใจ

ส่วนแบบใหม่คือความสบายใจในแง่ของอโรม่า แล้วเพิ่มคุณค่าด้วย Packaging Design หรือบริการที่ให้ลูกค้า Custom กลิ่นของตัวเองได้

และไม่ว่าจะแบบไหน ริเน็นในวันตั้งต้นของแบรนด์ นั่นคือการจุดเพื่อส่งควันกลิ่นหอม ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

นอกจากนี้แล้ว ดร.กฤตินียังพบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปี มักจะมีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่อีกอย่าง

นั่นคือการรู้จักคุณค่าในการทำธุรกิจ เป็นคุณค่าที่มีค่ามากกว่าผลกำไร

เหมือนอย่างอีกหนึ่ง Case Study ที่เธอหยิบยกมาเล่าให้ผู้ร่วมงานได้ฟัง กับห้างที่เชื่อว่าไม่มีรุ่นแม่คนไหนไม่รู้จัก นั่นคือ “Daimaru”

ในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบแผ่นดินไหว ทั้งเมืองพังทลาย ห้างใหญ่อย่าง Daimaru ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แต่เพียง 5 วันหลังจากนั้น Daimaru ก็กลับมาขายของด้วยการตั้งแผงหน้าห้าง เปิดร้านท่ามกลางซากปรักหักพังให้ชาวเมืองได้มาซื้อข้าวของ

แม้รู้ดีว่าการขายของช่วงนั้นคงทำกำไรไม่ได้มากเท่าไร แล้วถามว่า Daimaru ทำแบบนี้ทำไม?

คำตอบของ Daimuru คือหากพวกเขาไม่เปิด ชาวเมืองก็คงจะไม่รู้ไปซื้อข้าวปลาอาหารที่ไหน ไม่รู้จะไปหาของใช้จำเป็นอย่างไร

และหลังจากนั้นสองปีที่ Daimaru ซ่อมแซมเสร็จจนพร้อมที่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง หากเป็นห้างอื่นเวลาเปิดตัวก็อาจจะทำโฆษณาแล้วสื่อสารไปในแนวทางที่ว่า “ห้างใหม่เปิดแล้ว โปรโมชั่นเพียบ เชิญมาเดินกัน หรืออะไรเทือกนี้”

แต่การกลับมาเปิดของ Daimuru กลับแตกต่าง เพราะข้อความที่พวกเขาสื่อออกไปนั้นคือ

“ขอบคุณสำหรับการโทร และจดหมายของคุณ”

เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่ส่งข้อความและโทรเข้ามาให้กำลังใจในช่วงที่ Daimuru กำลังพบกับวิกฤตในช่วงก่อนหน้า แล้วค่อยบอกเป็นข้อความเล็กๆ ในข้างท้ายต่อว่า Daimuru กลับมาอยู่กับลูกค้าแล้ว

จะเห็นได้ว่าทั้ง Shoyeido และ Daimaru ต่างมีริเน็นและคุณค่าของธุรกิจที่มีมากกว่าผลกำไรที่อยู่ในรูปแบบของเม็ดเงินอย่างชัดเจน

ซึ่งริเน็นและคุณค่าของธุรกิจที่เด่นชัด ไม่เพียงแค่จะทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่าและการมีอยู่ของธุรกิจเท่านั้น

แต่นี่ยังเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังอยากจะลุกขึ้นมาสืบทอดคุณค่านี้ให้คงอยู่ไปอีกนานๆ อีกด้วย

แล้วคุณล่ะ หาริเน็นและคุณค่าในธุรกิจของตัวเองเจอหรือยัง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน