ตลาดน้ำผลไม้ มูลค่าเท่าไร ? สำรวจตลาด พร้อมวิเคราะห์กลยุทธ์แบรนด์ ทิปโก้ และ มาลี
ว่ากันว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่สวยงามของตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่ม โดยเฉพาะไตรมาส 3/62 ที่อาการทรงๆ เพราะอะไร?
จากตัวเลขโดย Nielson แสดงว่าไตรมาส 3/62 ตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มโตติดลบ 1% (YoY) ทำให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 11,591 ล้านบาท
เรียกได้ว่าติดลบแทบทุกเซกเมนต์ กลุ่มพรีเมียม (Premium Mar) ติดลบ 6%, กลุ่มระดับกลาง (Medium) ติดลบ 2% และกลุ่มระดับล่าง (Super Economy) ติดลบ 31%
รายได้ของ 2 เจ้าใหญ่น้ำผลไม้อย่าง ‘มาลี’ และ ‘ทิปโก้’ จึงไม่ค่อยสวยงามมากนัก
ยิ่งกลุ่มพรีเมียมที่มีสัดส่วนถึง 36% ของตลาด มีมูลค่าลดลงไปถึง 6% ทำให้ TIPCO ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนี้พลอยเจ็บตัว ยอดขายลดลงถึง 21%
ขณะที่ MALEE ยังประคองตัว พอมีตัวเลขสีเขียวให้ใจชื้น เพราะเติบโต 0.1%
แม้ปกติไตรมาส 3 จะไม่ใช่ Peak Season มาแต่ไหนแต่ไร แต่สำหรับไตรมาส 3 ปีนี้มีปัจจัยบางอย่างที่แตกต่างจากปีก่อนๆ
เทรนด์สุขภาพไม่ช่วยเครื่องดื่มผลไม้
เมื่อเทรนด์สุขภาพกลายเป็นจุดขายของ ‘เครื่องดื่ม’ จึงเห็นได้ว่าหลายแบรนด์หันมาทำโปรดักส์น้ำตาล 0% กันมากขึ้น (แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับตัวจากภาษีน้ำตาลก็ตาม)
ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่น้ำผึ้งหวานๆ ปริมาณน้ำตาลหนักๆ หันมาปรับลดน้ำตาลลง หรือแม้แต่น้ำดำเองที่ยังคงสูตรความซ่ารสหวาน แต่สุดท้ายน้ำตาล 0% เลยตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการรสหวาน
ผิดกับ ‘เครื่องดื่มน้ำผลไม้’ ที่กลุ่มผู้บริโภคหลักคือคนดื่มเพื่อสุขภาพอยู่แล้ว ดังนั้น เทรนด์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เข้ามาเอื้อต่อตลาดเครื่องดื่มน้ำผลไม้
พูดง่ายๆ คือ ของหวาน (ที่ไม่มีน้ำตาล) ย่อมถูกปากมากกว่าเครื่องดื่มผักผลไม้อยู่แล้ว
อีกตลาดคู่ขนานคือ ‘ตลาดฟังก์ชันนอลดริ้งก์’ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 3-5% เริ่มเข้ามา disrupt น้ำผลไม้มากขึ้น
ตลาดอิ่มตัว เศรษฐกิจโตไม่สวย
วิจัยกรุงศรียังมองว่า ปี 2562-2564 กลุ่มเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม เครื่องดื่มสุขภาพ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวมากขึ้น
ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในประเทศคิดเป็น 90% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งเศรษฐกิจปี 62 โตต่ำกว่าเป้า ผลลัพธ์ของตลาดเครื่องดื่มน้ำผลไม้จึงออกมาไม่ค่อยสู้ดีนัก
TIPCO – MALEE ปรับกลยุทธ์โฟกัส ตลาดน้ำผลไม้ ต่างประเทศ รับ Peak Season
ปี 62 นี้แตกต่างจากปีก่อนๆ เพราะ Peak Season ตลาดเครื่องดื่มต่างประเทศย้ายมาเป็นช่วงไตรมาส 2-3 จากปกติที่ตลาดจะฮอตๆ ในช่วงไตรมาส 1-2
เนื่องจากตลาดฝั่งยุโรป-อเมริกาปีนี้มีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ จึงส่งผลต่อตลาดเครื่องดื่มไปโดยปริยาย
ด้าน MALEE เองก็เริ่มปรับกลยุทธ์ไปโฟกัสตลาดต่างประเทศมากขึ้นจากกลุ่มสินค้าน้ำผลไม้พร้อมดื่ม ทำให้ยอดขายจากการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 12% ในไตรมาส 3/62
ตลาดต่างประเทศฯ ยังมีปัจจัยเรื่อง ‘เงินบาทแข็ง’ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อผู้ประกอบการสายส่งออก ซึ่งทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสายอุตสาหกรรม
แต่ปีนี้ตลาดต่างประเทศมี demand เครื่องดื่มน้ำผัก-ผลไม้ค่อนข้างสูงขนาดที่ปัจจัยเงินแข็งค่ายังทำรายได้ให้ MALEE ไม่มากก็น้อย
ส่วน TIPCO เองมีรายได้ในไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 1,087 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์จากพืช ผัก ผลไม้ 366 ล้านบาท ลดลง 20% กลุ่มเครื่องดื่ม 484 ล้านบาท ลดลง 19% และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกประมาณ 8 ล้านบาท ลดลง 74%
ที่รายได้ลดลงฮวบๆ TIPCO ให้เหตุผลว่าเป็นผลมาจากการจัดทำงบการเงินมาตรฐานใหม่ (TFRS15)
ทั้ง Tipco และ Malee จึงหันไปโฟกัสตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วยการกระจายช่องทางขาย Modern Trade ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ
ท้ายที่สุด ตลาดเครื่องดื่มผลไม้จะไปได้ไกลกว่านี้หากมีสินค้าใหม่ที่มี ‘นวัตกรรมใหม่’ ที่ดึงดูดใจผู้บริโภค และสามารถเขย่ากระเป๋าเงินในผู้บริโภคได้
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า คู่แข่งของน้ำผลไม้พร้อมดื่มในยุคนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์น้ำผลไม้อีกต่อไป
ไตรมาส 3/62 ตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมีมูลค่า 11,591 ล้านบาท เติบโตติดลบ 1% (YoY)
100% – Premium Market
สัดส่วน 36% มูลค่า 3,969 ล้านบาท ติดลบ 6%
40-99% – Medium Market
สัดส่วน 9% มูลค่า 1,079 ล้านบาท 9% ติดลบ 2%
20-39% – Economy Market
สัดส่วน 28% มูลค่า 3,225 ล้านบาท เติบโต 28%
น้อยกว่า 19% – Super Economy Market
สัดส่วน 13% มูลค่า 1,442 ล้านบาท ติดลบ -31%
อื่นๆ
สัดส่วน 16% มูลค่า 1,876 ล้านบาท เติบโต 6%
ที่มา: Nielson
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



