เจ้าของเมเจอร์ คือใคร? เปิดข้อมูลตระกูล พูลวรลักษณ์ เจ้าพ่อโรงหนังที่แยกกันเดิน และไม่ร่วมกันตี
ถ้าพูดถึงตระกูล “พูลวรลักษณ์” หลายคนจะนึกไปถึง วิชา พูลวรลักษณ์ เจ้าของโรงภาพยนตร์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์”
ที่มีจำนวนโรงหนังมากถึงประมาณ 782 โรง 176,919 ที่นั่ง (รวมในลาวและกัมพูชา) มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด และเป็นบริษัททางด้านโรงภาพยนตร์แห่งเดียวของไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
แต่ พูลวรลักษณ์ ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คือ บมจ. เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน
เพียงแต่ผู้บริหารของ 2 ธุรกิจนี้ถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
ย้อนกลับไปในอดีต ในรุ่นเจเนอเรชั่นแรก 4 พี่น้อง คือ เจริญ จำเริญ เกษม และจรัล พูลวรลักษณ์ ได้ช่วยกันทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ในย่านชานเมือง โดยมีโรงหนัง ศรีตลาดพลู ฝั่งธน เป็นที่แรก ก่อนที่จะขยายเข้าเมืองไปในจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ เช่น เมโทร เพชรรามา และแมคเคนน่า บริหารภายใต้ บริษัทโก บราเดอร์ (Co Brother) โดยมีเจริญ พี่คนโตเป็นประธานบริษัท
ปัจจุบันโรงหนังดังกล่าวได้ถูกขายและเปลี่ยนมือไปหมดแล้ว ต่อมาทั้ง 4 ก็แยกกันทำธุรกิจ โดยธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้นถูกแบ่งเป็น 2 สายใหญ่คือ
สายแรก “เจริญ” พี่คนโตกับลูกชาย 2 คน คือ วิสูตรกับวิชัย วิสูตรจะโฟกัสไปที่การทำภาพยนตร์ และได้ก่อตั้ง บริษัทไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ในปี 2528 ส่วนวิชัยเป็นผู้เดินหน้าสานต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ ในชื่อ อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์
เจ้าของเมเจอร์?
สายที่ 2 คือ “จำเริญ” น้องชายคนรอง ที่พอแยกตัวออกมาก็ไปทำธุรกิจอสังหาฯ ในชื่อ บริษัท เวลแลนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ จำเริญมีลูกชายคนหนึ่งชื่อวิชา ที่ช่วยดูแลธุรกิจทางด้านนี้ ก่อนที่จะกลับมาทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
“อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์” และ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” เป็น 2 ค่ายใหญ่ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงที่สุดบนถนนสายบันเทิงในเมืองไทยในช่วงปี 2542 เป็นตระกูลเดียวกัน ที่ “แม้ไม่แตกแต่ไม่ประสานกัน”
ปี 2547 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กับอีจีวี กลับมาจับมือควบรวมกิจการกันกลายเป็นค่ายที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในเวลานั้นจนถึงวันนี้ โดยปัจจุบันมีวิชาเป็นผู้นำในการบริหาร
วันนี้ในยุค “ดิจิทัล ดิสรัป” วิชายังคงขยายความยิ่งใหญ่ของเมเจอร์ฯ โดยวางเป้าหมายเข้าไปปักหลักเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนด้วย เขามั่นใจว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะดิสรัปการรับชมความบันเทิงภายในบ้าน (Home Entertianment) แต่ไม่ดิสรัปการดูหนังในโรงภาพยนตร์แน่นอน
ส่วนธุรกิจด้านอสังหาฯ จะมี สุริยน สุริยา และเพชรลดา อีก 3 คนพี่น้อง เป็นผู้บริหารจัดการ
บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 จุดแตกต่างที่ทำให้กลุ่มนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว คือการตั้งเป้าหมายพัฒนาโครงการที่จับกลุ่มระดับ High End เป็นหลัก ทั้งๆ ที่เมืองไทยเพิ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 และยังมีโครงการคอนโดร้างๆ อยู่เกลื่อนเมือง
พวกเขามั่นใจว่าการทำธุรกิจเล่นกับเศรษฐีตัวจริงปลอดภัยที่สุด
เพราะข้อดีของตลาดพรีเมียม คือลูกค้ามักไม่ทิ้งเงินดาวน์ แต่ถ้าเป็นตลาดคอนโดระดับกลางราคา 1-3 ล้านบาท จะมีโอกาสที่ลูกค้าซื้อไปเก็งกำไร พอเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าก็อาจทิ้งเงินดาวน์ คือความเสี่ยงที่เป็นบทเรียนสำคัญในช่วงปี 2540
เป็นไปตามคาด โครงการ Hampton Thonglor 10 เป็นคอนโด ระดับ Top High Rise 30 ชั้น 73 ยูนิต ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โครงการอื่นๆ จึงเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว
ในช่วงเวลาประมาณ 20 ปี จากปี 2542-2562 กลุ่มนี้พัฒนาโครงการมาแล้วร่วม 40 โครงการ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ คือ
1. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย เป็นคอนโดมิเนียม ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ
2. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายหรือเช่า ทั้งคอนโด โรงแรม รีสอร์ต เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์
3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น การรับบริหารอาคารชุด การรับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษาและตัวแทนการจัดการอสังหาริมทรัพย์
โดยยังตอกย้ำวิสัยทัศน์เดิม คือทุกโครงการของ ‘เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์’ ต้องเป็นสินค้าระดับพรีเมียมเท่านั้น ถึงแม้ในระยะหลังเริ่มขยับมายังคอนโดแบบโลว์ไรซ์ภายใต้แบรนด์ Maestro โดยยังคงเน้นลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับบนเช่นเดิม
เป็น 2 ขาธุรกิจของ “พูลวรลักษณ์” ที่ แยกทางกันเดิน ชัดเจนกว่ารุ่นแรก บนเส้นทางเดียวกันทำให้บางครั้งขาต้องขัดกันบ้างเป็นธรรมดา
อัปเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website: Marketeeronline.co /Facebook: www.facebook.com/
#Marketeeronline #Majorceneplex #Majoedevelopment #อสังหา #โรงภาพยนตร์
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



