Tesco Lotus ประเทศไทย ถึงเวลาเปลี่ยนมือ สุดท้ายใครจะได้ครอบครอง ? (วิเคราะห์)
ลือสนั่นว่ามหาเศรษฐีไทยจับจ้องต้องการจะเป็นเจ้าของ Tesco Lotus ประเทศไทย โดย Bloomberg รายงานว่า ทั้งกลุ่ม CP กลุ่ม BJC และกลุ่ม Central ต่างก็กำลังสนใจจะเข้าประมูลซื้อกิจการของ Tesco ในเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย กิจการในไทยและมาเลเซีย ว่ากันว่ามูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้สูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีถ้อยคำแถลงอย่างเป็นทางการจากฝ่ายบริหารของทั้ง 3 กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่เมืองไทย รวมถึงคำแถลงจาก Tesco แต่มีรายงานว่าการประมูลอาจจะเริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือนหน้า
ถ้าข่าวดังกล่าวนี้เป็นจริง ก็ต้องบอกว่าสนามประมูลนี้จะน่าจับตามาก เพราะ
- จะเป็นเวทีประมูลที่ 3 ตระกูลมหาเศรษฐีติดอันดับรวยที่สุดของเมืองไทยมาพร้อมหน้ากัน ทั้ง “เจียรวนนท์”, “สิริวัฒนภักดี” และ “จิราธิวัฒน์
- ถือเป็นสนามแข่งที่ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เมืองไทย ตบเท้ามาโดยพร้อมเพรียง ประกอบด้วย 1) เจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอย่าง ร้าน 7-11 รวมถึงแบรนด์ศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่งอย่าง Makro ของเจ้าสัวธนินท์ 2) เจ้าของแบรนด์ศูนย์การค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่าง Central และ Tops อีกทั้งยังเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ “เบอร์สอง” อย่าง Family Mart ของตระกูลจิราธิวัฒน์ และ 3) เจ้าของแบรนด์ไฮเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ที่เป็นรองเพียง Tesco Lotus อย่าง Big C ของกลุ่ม BJC ของเจ้าสัวเจริญ
ความน่าสนใจของ Tesco Lotus ประเทศไทย
ปัจจุบันTesco Lotus ประเทศไทยมีสาขากว่า 2,000 สาขา ให้บริการลูกค้าประมาณ 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ ในปี 2561 Tesco Lotus ประเทศไทย มีรายได้รวมอยู่ที่กว่า 1.98 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิเกือบ 9.63 พันล้านบาท
ทำไมใครๆ ก็อยากได้
สำหรับ CP
หลายคนมองว่า กลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ น่าจะมีความต้องการได้ Tesco Lotus มากที่สุด เพราะหากยังจำกันได้ Tesco Lotus ถือกำเนิดโดยเครือ CP เมื่อปี 2537 ภายใต้ชื่อ LotusSupercenter ก่อนที่ CP จะขายให้กับ Tesco ประเทศอังกฤษในปี 2541
ถ้ากลุ่ม CP ทำสำเร็จก็เรียกได้ว่า จะกลายเป็น “ผู้นำ” ธุรกิจค้าปลีกครบทั้ง 3 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มร้านสะดวกซื้อ กลุ่มศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบค้าส่ง และกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือบางแห่งก็จัดให้Tesco Lotus อยู่ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแน่นอนว่า Tesco Lotus ย่อมเข้ามาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกไปได้อีกไกล รวมถึงต่อยอดกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในเครือซีพีได้อย่างมหาศาล
และที่สำคัญ เมื่อดูจากรายได้ของแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นร้าน 7-11 ที่ปัจจุบันมีเกือบ 12,000 สาขา และมีรายได้ปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 3.36 แสนล้านบาท ขณะที่ Makro ปัจจุบันมีสาขากว่า 130 สาขา มีรายได้เกือบ 1.93 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้ของTesco Lotus นั่นก็เท่ากับว่า CP ALL จะครองตลาดธุรกิจค้าปลีกประเทศไทยไปถึงกว่า 7 แสนล้านบาท
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดีลนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปี 2556 กลุ่ม CP ก็เพิ่งซื้อกิจการ “สยามแม็คโคร” หรือ Makro ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 1.88 แสนล้านบาท
และที่สำคัญคือ อาจถูกจับตามองเป็นพิเศษจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตามอำนาจภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยสมบูรณ์
สำหรับ BJC
ปัจจุบัน Big C ถือเป็น “มวยรองบ่อน (Under Dog)” ในตลาดค้าปลีกกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ด้วยจำนวนกว่า 1,300 สาขาในประเทศไทย มีรายได้ปี 2561 ราว 1.25 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า “ผู้นำ” ในตลาดกลุ่มนี้ก็คือ Tesco Lotus
ดังนั้น ถ้า BJC ได้Tesco Lotus เข้าไปอยู่ในกำมือ นั่นก็หมายความว่า บริษัทจะกลายเป็น “เบอร์หนึ่ง”อย่างเบ็ดเสร็จในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต และครองมูลค่าตลาดในธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยไปกว่า 3 แสนล้านบาท
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกรณีของ BJC ก็อาจเข้าข่ายต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษจาก กขค. ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากการพิจารณามีการแยกตามประเภทของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่นานมานี้เอง กลุ่ม BJC ของเสี่ยเจริญก็เพิ่งทุ่มเงินไปราว 2 แสนล้านบาท เพื่อซื้อกิจการ Big C ในประเทศไทยเมื่อปี 2559
สำหรับ Central
เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่ม Central เพิ่งยื่นไฟลิ่ง (Filing) เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ของ บมจ. Central Retail Corporation หรือ CRC โดย มูลค่าการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้อยู่ระหว่าง 6.76 -8.12 หมื่นล้านบาท โดยวัตถุประสงค์หลักของการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการขยายสาขาและปรับปรุงสาขา
ปัจจุบัน CRC ถือเป็น “ผู้นำ” ในกลุ่มค้าปลีกประเภทศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ทั้งแบรนด์ Central และ Robinson รวมถึงกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้กลุ่มแบรนด์ Tops และยังมีแบรนด์ร้านสะดวกซื้ออันดับสองของประเทศอย่าง Family Mart นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ค้าปลีกอื่นๆ เช่น ไทวัสดุ, บ้าน แอนด์ บียอน, Power Buy รวมถึงห้างในประเทศ เช่น Rinascente และ Big C ในเวียดนาม
ในปี 2561 กลุ่ม CRC มีรายได้รวมเกือบ 2.07 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ากลุ่ม Central ได้Tesco Lotus มาครองได้จริงๆ ก็จะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกเมืองไทยไปถึง 4 แสนล้านบาท ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สูสีกับ “เบอร์หนึ่ง” ในธุรกิจค้าปลีกไทยอย่างกลุ่ม CP All ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
แต่ปัญหาของเจ้าสัวกลุ่ม Central ก็คล้ายกับอีก 2 เจ้าสัว นั่นคือ มูลค่าดีลกว่า 2 แสนล้านบาท ไม่ใช่เรื่องที่จะหาเงินมาได้ง่ายๆ เพราะถึงแม้ว่ากลุ่ม Central จะได้เงินจาก IPO มาเกือบแสนล้านบาท แต่เงินก้อนนี้ก็มีจุดประสงค์การใช้อย่างอื่น หรือแม้จะนำมาใช้เพื่อประมูลจริง ก็ยังขาดอีกกว่าครึ่ง
สุดท้ายนี้ เชื่อว่า ถ้ากฎหมาย “การแข่งขันทางการค้า” เปิดช่องให้ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเมืองไทยเข้าประมูลกิจการTesco Lotus ได้จริง เชื่อว่า ถ้าเจ้าสัวทั้ง 3 ตระกูล อยากจะได้กิจการ Tesco Lotus ประเทศไทยจริงๆ เรื่องการหาเงินมาทุ่มประมูล ก็คงไม่ยาก … เพราะถ้าไม่ใช่เจ้าสัว 3 กลุ่มนี้ ในเมืองไทยจะยังมีใครที่พอทำได้
อย่างไรก็ดี มีหลายเสียงมองว่า ไม่อยากให้ 1 ใน 3 กลุ่มนี้ได้ไป เพราะจะทำให้การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกเข้าใกล้การผูกขาดมากขึ้นไปเรื่อยๆ นี่จึงเป็นที่มาที่ก่อนหน้านี้มีบางเสียงสนับสนุนให้ ปตท. (PTTOR) ลุกขึ้นมาร่วมประมูล เพื่อลดการผูกขาดและเพิ่มจำนวนผู้เล่นในธุรกิจค้าปลีกไทยให้มีสีสันมากขึ้น … แต่ดูเหมือนจะมีเสียงปฏิเสธจากฝั่ง PTTOR ออกมาแล้ว
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วTesco Lotus ประเทศไทยจะตกอยู่ในมือใคร แล้วโฉมหน้าธุรกิจค้าปลีกไทยจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ