ถ้าเอ่ยชื่อโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ไทย ชื่อ dtac accelerate คงเป็นชื่อแรกๆ ที่คนในวงการสตาร์อัพนึกถึงในฐานะผู้ใหญ่ใจดี ที่ให้การสนับสนุนและบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทย มายาวนานถึง 7 ปี ที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพไปแล้วทั้งสิ้น 62 โครงการ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนสามารถระดมทุนจากนักลงทุนต่างๆ เพื่อพาตัวเองอัปเกรดไปยังซีรีส์ต่อไปได้

ถ้าพูดถึงภาพรวมของโครงการ เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในแง่ของผู้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยที่สร้างผลงานบ่มเพาะสตาร์ทอัพได้น่าสนใจ

แล้วทำไมในวันนี้ dtac accelerate ถึงได้โบกมือลาจาก

ด้วยการประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ เหม็ง สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ Managing Director dtac accelerate ผู้บริหาร dtac accelerate มาตลอด 4 ปี 5 เดือน ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 เวลา 23.10 น. ที่มีข้อความบางส่วนว่า

“Today is our team last day at dtac, … 4.5 years of my greatest experience!!”

“From tomorrow onward, Thailand will not have accelerator called “dtac Accelerate program” anymore but we dtac Accelerate is not a place, but it’s a people. We will be around, please stay-tune for our next move here”

 

dtac accelerate เป็นโครงการหนึ่งของดีแทค ที่เริ่มต้นในปี 2555 ด้วยจุดประสงค์หลักคือ เป็นโครงการให้เปล่าไม่หวังผลกำไร เพื่อให้ความรู้บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไปสู่การเป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากิจการไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

โครงการนี้เริ่มต้นจากการประกวดโมบายแอปพลิเคชัน พาผู้ชนะไปเปิดโลกที่ซิลิคอนแวลลีย์ มี กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ผู้คร่ำหวอดในซิลิคอนแวลลีย์มากว่า 7 ปี เป็นผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมไอที dtac accelerate

หลังจาก dtac accelerate ประสบความสำเร็จจนเริ่มเป็นที่รู้จัก และแยกตัวเองออกมาเป็นบริษัท dtac accelerate จำกัด จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2557  และได้สมโภชน์เข้ามาเป็น MD ให้กับโครงการ

การนำดีแทค dtac accelerate จากหน่วยงานสู่รูปแบบบริษัท ทำให้ทิศทางในการทำธุรกิจเปลี่ยนไปสู่การหารายได้ระยะยาวจากการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเพื่อดันให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

 

เมื่อดูรายได้และกำไรที่บริษัท dtac accelerate จำกัด ได้แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในปี 2557 เป็นเพียงปีเดียวที่บริษัท dtac accelerate จำกัด สร้างผลกำไร จากรายได้ 23.37 ล้านบาท กำไร  15.56 ล้านบาท

ส่วนปีต่อๆ ไป ขาดทุนต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะปี 2558 ที่ทำรายได้ได้เพียง 8 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น

อาจจะดูเหมือน dtac accelerate ขาดทุนมาตลอด แต่อย่าลืมว่า โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เป็นโครงการที่เป็น Long Term Investment ที่ยังไม่ได้ทำกำไรในระยะสั้น 

เพราะทุกโครงการที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับผลกำไรเช่นกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์แรกของ CVC หรือ Corporate Venture Capital คือการมองหา Innovation ใหม่ๆ ก่อนที่ธุรกิจจะถูก Disrupt จากเทคโนโลยี 

 

 

ส่วนรายได้ที่ dtac accelerate ได้มานั้นจะมาจากสัดส่วนหุ้นที่ลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่ร่วมโครงการ โดยรายได้จะเกิดขึ้นใน 2 กรณีคือ

  1. บริษัทที่ร่วมโครงการทำกำไร
  2. บริษัทที่ร่วมโครงการถูกขายไปยังนักลงทุนอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ก้อนใหญ่ให้กับ dtac accelerate

ที่ผ่านมา dtac accelerate มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการถูกขายออกเพียง 1 บริษัทคือ Storylog แพลตฟอร์มเขียนและขายนิยายออนไลน์ ของ ปิ๊ปโป้-เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Storylog โครงการเดียวที่ขายให้กับ Ookbee ในรูปแบบควบรวมกิจการ ซึ่งดีลนี้เกิดขึ้นในปี 2559

ทั้งนี้แม้ dtac accelerate จะปิดตัวลงแต่ไม่ใช่ว่าเป็นการปิดตัวอย่างถาวร เพราะในวันนี้ดีแทคกำลังหาพาร์ตเนอร์ที่สนใจเข้ามารับช่วงต่อโครงการนี้ โดยดีแทคยังไม่มีการระบุว่าพาร์ตเนอร์รายใหม่คือใคร

เพราะธีโบ จีราร์ หัวหน้าสายงานกลยุทธ์และนวัตกรรม ดีแทค ได้เปิดเผยเพียงว่า dtac accelerate เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในดีแทคที่มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ของประเทศไทย ดำเนินธุรกิจบ่มเพาะบริษัทเทคสตาร์ทอัพ 62 บริษัทมาเป็นระยะเวลา 7 ปี และยังได้ช่วยสร้างชุมชนสตาร์ทอัพของไทยให้เติบโต จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

 

เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต ดีแทคจึงได้มองหาพันธมิตรที่จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้ก้าวต่อไปได้ โดยกระบวนการสรรหาพันธมิตรกำลังดำเนินการ ต้องใช้ระยะเวลาและความพยายามที่จะหาโซลูชันที่ดีที่สุดซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในต้นปี 2563



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online