ผ่านพ้นไปแล้วกับเดือนมกราฯ แห่งความหลอน ถึงขั้น “หลอนมาก!!” สำหรับนักลงทุนทั่วโลก เพราะนับตั้งแต่เปิดปีมาได้ไม่กี่วัน ตลาดหุ้นก็ปะทะกับเหตุการณ์ช็อกโลกมากมาย เราจะพาไปย้อนรอยตลาดหุ้นเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมากัน

เริ่มปิดตลาดหุ้นแรกของปี ตลาดหุ้นหลายประเทศดูเหมือนจะดี ทยอยปิดบวกกันเป็นแถว ขณะที่ SET Index ปิดบวก 1% หลายคนเริ่มมองเห็นอนาคตสดใสจากพลังแห่ง “January Effect” ซึ่งเป็นความเชื่อของนักลงทุนที่มองว่าตลาดหุ้นจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนที่กลับมาซื้อขายหลังจากช่วงเทศกาลหยุดยาว บวกกับเศรษฐกิจที่น่าจะได้อานิสงส์ผลดีจากการจับจ่ายใช้สอยของคนจีนในช่วงตรุษจีน

แต่แล้ววันที่ 3 ม.ค. หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาบอกว่าเป็นคนสั่งให้ทหารอเมริกันส่งโดรนไปลอบฆ่านายพลระดับสูงของอิหร่าน จากนั้นไม่นานกองทัพอิหร่านก็โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก จนหลายคนมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงคราม” ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่นำไปสู่สงครามโลก เป็นผลให้วันจันทร์ที่ 6 ที่ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียเริ่มเปิดทำการ ดัชนีหุ้นในแต่ละประเทศก็ร่วงตามกันเป็นแถว ตามมาด้วยข่าวร้ายว่ากองทัพอิหร่านยิงเครื่องบินพลเรือนของยูเครนที่เพิ่งออกจากสนามบินอิหร่านตกโดยไม่ได้เจตนา ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นดัชนี Nasdaq, DowJones และ S&P500 ร่วงบางๆ ไม่ถึง 0.5% ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ร่วงไม่ถึง 1% ส่วนตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ร่วง 1% ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นไทยร่วงไปประมาณ 1.5% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสิงคโปร์ยังคงสามารถปิดในแดนบวกได้แต่ก็ราว 0.2%

ช่วงกลางเดือน แม้ดูเหมือนจะมีข่าวดีเล็กน้อยจากการที่สหรัฐฯ และจีน สามารถลงนามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 (US-China Phase-one) ส่งผลให้ตลาดหุ้นตอบรับในทางบวก แต่ดูเหมือนอานิสงส์ผลบวกที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่หลายคนคาดหวังเอาไว้

หลังวันที่ 20 ม.ค. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งไทยและสหรัฐฯ เริ่มทยอยแจ้งผลประกอบการ 3 เดือนสุดท้ายของปี โดยตลาดหุ้นไทย ผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งออกมาน่าผิดหวัง โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ที่ฉุดดัชนีปิดในแดนลบยาว เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ บริษัทใน S&P500 ที่ทยอยเผยผลประกอบการออกมา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วกำไรของบริษัทเหล่านั้นลดลง 3-4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตามมาด้วยฝันร้ายของนักลงทุนทั่วโลก เปิดมาต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลกทิ้งดิ่งไปตามๆ กัน จากข่าวการระบาดของ “ไวรัสโคโรนา 2019” ทื่นำไปสู่การประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น และห้ามนักท่องเที่ยวชาวจีนออกนอกประเทศ ส่งผลให้อานิสงส์ตรุษจีนที่หลายคนเคยคาดหวังว่าจะมากระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้สะพัด มีอันต้องพังไป ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ การระบาดยังร้ายแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาด จนนำไปสู่การประกาศให้ “สถานการณ์อู่ฮั่น” เข้าสู่ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก (Global Health Emergency)”

การประกาศภาวะฉุกเฉินระดับสากลครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 6 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นกับไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี 2009 ตามมาด้วย โรคโปลิโอ และเชื้อไวรัสอีโบลา ในแอฟริกาตะวันตก ปี 2014, เชื้อไวรัสซิก้า ในปี 2016 ตามมาด้วยเชื้ออีโบลา ในประเทศคองโก ในปี 2019 และล่าสุดคือ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากประเทศจีน

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ความหวังที่ตลาดหุ้นจะได้รับอานิสงส์ผลบวกจาก January Effect เหมือนปีก่อนๆ พังทลายไปโดยสิ้นเชิง … โดยดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกหลังปิดตลาด ณ วันที่ 31 ม.ค. 2020 เกือบทุกตลาดต่ำกว่าดัชนี ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2019 แทบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นในอเมริกา มีเพียงดัชนี NASDAQ ที่ยังคงเป็นบวก แต่ก็บวกน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอย่างมาก

ลุ้น “กุมภาพันธ์” ไม่เป็น “กุมภาพัง”

เปิดตลาดวันแรกของเดือน ก.พ. เราต้องลุ้นอะไรกันบ้าง…..

ถึงแม้จะเริ่มมีข่าวดีออกมาบ้างแล้วว่า คุณหมอโรงพยาบาลราชวิถีของเมืองไทยจะค้นพบสูตรยาในการรักษาผู้ป่วย “ไวรัสโคโรนา 2019” แล้วถึงแม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันจาก WHO แต่ก็ดูจะเป็นแสงสว่างให้กับชาวโลก ซึ่งข่าวนี้อาจจะกลายเป็นข่าวดีที่ช่วยฉุดตลาดหุ้นขึ้นมาได้ 

แต่ระหว่างที่ “โรคระบาดอู่ฮั่น” ยังไม่ทันจะคลี่คลาย อีกข่าวร้ายจากประเทศจีนก็เริ่มแพร่ออกมา นั่นคือข่าว “ไข้หวัดนก H5N1” เริ่มระบาดในมณฑลหูหนาน ซึ่งอยู่ติดกับมณฑลหูเป่ย  

นอกจากนี้ ยังต้องลุ้นอีกว่า ผลกระทบจาก Brexit หรือการที่อังกฤษแยกตัวอออกจาก EU ตั้งแต่เมื่อเช้าวันที่ 1 ก.พ. ที่เพิ่งผ่านมา ลุ้นกันว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะตอบรับต่อเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไร แต่ไม่ว่าจะมองว่าเป็นผลดีหรือผลร้าย อย่างน้อยความคลุมเครือในประเด็น Brexit ที่เคยเป็นความกังวลมานานก็ได้ข้อยุติเสียที

อีกประเด็นที่น่าติดตามคือ ตามกำหนดการเดิมของรัฐบาลจีน วันที่  3  ก.พ. นี้ ประเทศจีนจะเริ่มกลับมาทำงานตามปกติในหลายพื้นที่ รวมทั้งตลาดหุ้นจีนก็จะเริ่มกลับมาเปิดทำการตามปกติ สิ่งที่น่าจับตาคือ นักลงทุนจีนและนักลงทุนทั่วโลกจะตอบสนองกับเหตุการณ์ในจีนในช่วงหลายวันที่ผ่านมาอย่างไร และมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นขนาดไหน… คงต้องลุ้นไปพร้อมกัน

สุดท้ายนี้ นอกจากการขอพรให้ตลาดหุ้นไม่มีข่าวร้ายมากไปกว่าเดือนมกราฯ อีกสิ่งที่นักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยอย่างเรา ควรทำอย่างยิ่งคือ ลงทุนอย่างมีสติและยิ้มสู้อย่างมีความหวัง …ความหวังที่ว่าเดือนกุมภาพันธ์ จะไม่เป็น “กุมภาพัง” เหมือนที่หลายคนกลัว  

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online