เอสซีจี ยังสะเทือน เร่งยกเครื่ององค์กรเพื่อเรียกยอดขายที่หายไป (วิเคราะห์)

ว่าทศวรรษที่เอสซีจีมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้เป็นองค์กรนวัตกรรม เน้นการพัฒนาสินค้า และบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม  High Value Added Products and Services (HVA)ในตัวสินค้าและบริการต่างๆ  เพื่อผลักดันให้ออกจากกับดักของการเป็นสินค้าพื้นฐานทั่วไป (Commodity) เพื่อรับมือกับการแข่งขันในโลกอนาคต  และรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่ยากจะคาดเดา  ที่พร้อมจะถาโถมเข้ามาตลอดเวลา

ปี 2562 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) 179,181 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 3 จากปีก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 5,663 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม

เช่นเดียวกับการกระจายความเสี่ยงไปยังภูมิภาคอาเซียน ลาว เวียดนาม  อินโดนีเซีย กัมพูชา และพม่า  ตามวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาค เพราะทุกวันนี้ตลาดของอาเซียนยังคงดีอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเจอกับคู่แข่งหลายรายก็ตาม

เอสซีจียังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในปี 2562 ทั้งสิ้น 180,004 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้  เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกจากประเทศไทย 102,152 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีมูลค่า 634,733 ล้านบาท โดยร้อยละ 36  เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

แต่จากสถานการณ์ของยอดขายและกำไรที่เติบโตไม่หวือหวาในช่วงหลายปีหลังนี้ โดยเฉพาะในปี 2562 ที่มีรายได้ลดลงถึง 8% กำไร ลดลงถึง 28% จากปี 2561 เป็นสิ่งที่ทำให้เอสซีจี ต้องเพิ่มความ “เข้มข้น” ในการทำงานให้มากขึ้น   

ตอกย้ำด้วยคำพูดของ รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส  กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่ยอมรับว่า

“ยอดขายที่หายไปจะทำอย่างไร  ถ้ายังทำกันแบบเดิม ตัวเลขก็คงเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ  เราเลยมีความคิดว่าเราต้องเร่งทรานส์ฟอร์มทั้ง 3 ธุรกิจหลัก”

หัวใจสำคัญก็คือจากเดิมที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว  มาเป็นเรื่องของนวัตกรรมสินค้า-บริการให้มากขึ้นด้วย  ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร (People Transformation) ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลง

ใน 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจีวันนี้ รุ่งโรจน์ยอมรับว่า เคมิคอลล์เป็นธุรกิจที่ท้าทายที่สุดจากผลกำไรที่ลดลงมาถึง 46% เทียบกับปี 2561 จากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามการค้าและความผันผวนของตลาดที่ส่งผลกระทบทำให้ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง

“ตอนนี้ธุรกิจเคมิคอลล์อยู่ในช่วงขาลง เป็นช่วงต่ำสุด ส่วนจะเริ่มขยับตัวขึ้นอย่างไรเมื่อไหร่ต้องใช้เวลาในการดูนิดหนึ่งเพราะปัจจัยภายนอกมีผลกระทบค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไวรัสอู่ฮั่น สงครามทางการค้าสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งจะส่งผลถึงกำลังการผลิต หรือโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในจีน  สัปดาห์ก่อนหน้าดูเหมือนราคาจะดีขึ้น  แต่สัปดาห์ที่แล้วก็มาเจอเรื่องไวรัสอีกคาดว่าอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าน่าจะพอเห็นทิศทางว่าจะไปอย่างไรต่อ มีแรงเหวี่ยงไปทางไหน”

ส่วนการที่จีนมีแผนลดการใช้พลาสติกลงในระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น  เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนมีนโยบายมาตลอดที่จะลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic) ซึ่งเอสซีจีเองก็ได้ปรับพอร์ตสินค้าที่จะลดสินค้าประเภทพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  พร้อมๆ กับเพิ่มในส่วนของพอร์ต HVA และสินค้าหมุนเวียนมากขึ้นด้วย

เคมิคอลล์ต้องเอาสินค้านวัตกรรมเข้าสู้

กลยุทธ์ที่วางไว้คือ เน้นการเพิ่มสัดส่วนสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าประเภทคงทน (Durable Products) เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น เม็ดพลาสติก PE112 สำหรับผลิตท่อทนแรงดัน  HDPE เกรดพิเศษจาก SMXTM Technology ที่เอสซีจีคิดค้นขึ้น สามารถใช้กับงานหลากหลายชนิด อาทิ การปรับปรุงคุณภาพพลาสติกรีไซเคิลให้ดียิ่งขึ้น  หรือนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า  

ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง  พร้อมรุกธุรกิจค้าปลีก  

ในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงซบเซา การก่อสร้างภาคเอกชนก็คงยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น  ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเพียง 1% เท่านั้น ส่วนโครงการภาครัฐก็ได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่าโครงการใหญ่ต้องเดินเครื่องไปได้ไม่สะดุด  สิ่งที่เอสซีจีต้องให้ความสำคัญคือ

เรื่องของ Construction Solution ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ช่างและผู้รับเหมาทำงานได้ดี รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากขึ้นกว่าเดิม   พร้อมรุกธุรกิจค้าปลีก ที่เชื่อมต่อร้านค้ากับช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ scghome.com เพื่อให้ผู้ที่ต้องการสร้างหรือปรับปรุงต่อเติมบ้าน สามารถเข้าถึงสินค้าวัสดุก่อสร้างชั้นนำได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา  ขยายเครือข่ายจัดส่งสินค้ากว่า 840 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังเร่งยกระดับกระบวนการผลิตให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) โดยล่าสุดได้ร่วมกับเอไอเอส ในการนำเครือข่าย 5G มาทดลองใช้ขับเคลื่อนรถยก (Forklift) ระยะไกล  

แพคเกจจิ้ง เดินหน้าเดินสร้างสรรค์โซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร

จากธุรกิจกระดาษที่เคยมีปัญหาจากดิจิทัลดิสรัป จนต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจ มาเป็นแพ็กเกจจิ้ง วันนี้กลายเป็นหน่วยธุรกิจดาวรุ่ง ที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยได้ Spin-Off  เป็นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)  คาดว่าจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในครี่งปีแรกของปี 2563 เพื่อเปิดแนวรุกธุรกิจแพ็กเกจจิ้งอย่างเต็มตัว  

รุ่งโรจน์กล่าวว่าสำหรับแพคเกจจิ้งจะยังเดินหน้าสร้างสรรค์โซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อีกทั้งมุ่งเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตและความต้องการสูง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง สินค้าอุปโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ขณะที่ตลาดสำหรับการลงทุนนั้น เอสซีจีจะยังเดินหน้าส่งมอบโซลูชั่นสินค้าและบริการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียที่มีโอกาสและการเติบโตสูง นอกเหนือจากการมองหาตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคอื่นๆ 

“เรากำลังเร่งทำในเรื่องนี้อย่างเต็มที่  เรียกว่ายกเครื่องเพื่อให้ผ่านจุดที่เรียกว่าเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรม ให้ดีที่สุด เพื่อให้บริษัทสามารถไปต่ออย่างแข็งแรงที่สุด”

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน