dtac Accelerate โครงการดีๆ ที่ปิดฉากลงแล้ว อ่านบทวิเคราะห์เบื้องลึกทำไมโครงการนี้จึงไม่ไปต่อ

“พี่เหม็ง” สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ อดีต Managing Director dtac accelerate ได้เก็บข้าวของออกจาก Hangar Co-working Space สถานที่ทำงานในตึกจามจุรี เดินลอดอุโมงค์ไปนั่งที่ justco co-working space บนชั้น 24 ของตึกสามย่านมิตรทาวน์ พร้อมๆ น้องๆ สตาร์ทอัพอีกหลายบริษัท   

หลังจากที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้โบกมือลาออกจากบริษัท dtac accelerate เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา   

แล้วทำไม ดีแทค ถึงไม่ไปต่อกับโครงการนี้ ทั้งๆ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี จนกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้น (seed) ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย เป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน Startup Ecosystem ทำให้เกิดสตาร์ทอัพชื่อดังมากมายในเมืองไทย เช่น “Finnomena” สตาร์ทอัพทางด้านการเงินการลงทุน “ClaimDi” Mobile Application ที่ช่วยให้คนขับรถสามารถทำเคลมประกันภัยได้ด้วยตนเอง “Fastwork” แหล่งรวมฟรีแลนซ์คุณภาพ “Tourkrub” คนกลางที่รวบรวมและเปรียบเทียบดีล, โปรโมชันต่างๆ ของการท่องเที่ยว “Skootar” บริการแมสเซนเจอร์ด่วน “Storylog” แพลตฟอร์มเขียนและขายนิยายออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมาย

หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้เปิดปากชี้แจงเรื่องนี้อย่างจริงจังกับ Marketeer

คนที่น่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็ต้องเป็นเขาล่ะ ผู้ดูแลโครงการนี้กับน้องๆ สตาร์ทอัพมาประมาณ 4 ปีครึ่ง

“พี่เหม็ง” เล่าย้อนกลับไปถึงเหตุผลของการเกิด dtac accelerate เมื่อปี 2012 ว่า เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ ซิคเว่ เบรคเก้ เจ้าหน้าที่บริหารสูงสุด เทเลนอร์ เอเชีย และจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในยุคนั้น ที่ต้องการให้พนักงานในองค์กรรู้ว่าวันนี้โลกทำงานกันอย่างไร การคิดนอกกรอบเป็นแบบไหน ซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้วิธีคิดของคนเปลี่ยนไปและผลักดันให้องค์กรเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับโลกดิจิทัลได้ 

เป็นวิชั่นที่ชัดเจนของผู้บริหารทุกรุ่นที่คิดตรงกัน และทำให้ dtac accelerate ประสบความสำเร็จใน 7 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากความสามารถของเด็กไทย

ความสำเร็จไม่ได้วัดจากตัวเลขกำไรขาดทุน

เขายืนยันว่า ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา dtac accelerate ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ในแง่การมีนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนในสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการมากมายหลายราย    

“แต่วิธีคิดของเราไม่ได้ต้องการที่จะขายบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านั้นเพื่อทำกำไรในช่วง 2-3 ปีแรก  แต่เป้าหมายเราต้องการที่จะถือไว้เพื่อรอเวลาเข้าตลาดหุ้นเพื่อเข้าสู่ตลาดทุนอย่างเต็มรูปแบบ  หรือรอเวลามีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนมากกว่าแล้วค่อยปล่อยตอนนั้น ซึ่งผมเชื่อว่าอีกไม่นานทั้ง 2 รูปแบบนี้จะมีให้เห็น”

ในช่วงเวลา 7 ปี  มีสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือก 60 บริษัท มีมูลค่ารวม 227 ล้านเหรียญสหรัฐ ระดมทุนไปได้แล้วกว่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราความสำเร็จอยู่ที่ 70%

“ที่เราขายออกไปแล้วมี 2 บริษัทคือ Storylog กับ Fastwork กำลังอยู่ในซีรีส์ A คือมีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจนอยู่ตัว มีตลาดชัดเจนแล้ว คือ ClaimDi, Tourkrub และ Bitkub เป็น Pre-series A มี 10 บริษัท ซีรีส์ B คือช่วงที่ธุรกิจเติบโตได้ดีและต้องการนำทุนไปขยายตัว 1 บริษัท คือ Finnomena ที่เหลืออยู่ในช่วง Seed Round คือเพิ่งเริ่มต้นสร้างธุรกิจประมาณ 42 บริษัท โดยมีที่ไปต่อไม่ได้ปิดไป 4 บริษัท”

เขาย้ำว่าเรื่องกำไรขาดทุนไม่ใช่ประเด็นหลักเพราะเงินลงทุนน้อยมากต่อปี ถ้าเทียบกับเงินที่ใช้จ่ายทางด้านมาร์เก็ตติ้งขององค์กรต่อปี มั่นใจว่าไม่ถึง 0.01% ด้วยซ้ำไป

แล้วปีหนึ่งๆ dtac Accelerate ใช้เงินประมาณเท่าไร

ประมาณ 40 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของการบ่มเพาะ เงินรางวัล เชิญวิทยากรเก่งๆ มาพูด พาน้องๆ ในโครงการไปดูงาน การจัดงาน Demo Day ค่าเช่าสถานที่ ให้น้องๆ สตาร์ทอัพมานั่งทำงานด้วยกัน รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพเองปีละประมาณ 10 ล้านบาท ในสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกมาในโครงการทุกทีม

“ถ้าเราขายวันนี้ คุ้มกับการลงทุนมาตลอด 7 ปี แน่นอน มูลค่าบริษัทรวมของสตาร์ทอัพทั้งหมดก่อนผมออกมาอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาทแล้ว ปัจจุบันมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่dtac Accelerate ถืออยู่ใน 60 สตาร์ทอัพทั้งหมดประมาณ 3-5% ก็ประมาณ 300 กว่าล้าน”

แต่ตัวเลขที่สื่อเอามาจากกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวเลขขาดทุนก็ไม่ผิด เพราะคือตัวเลขที่ ช้จ่ายจริงในเรื่องต่างๆ แต่จะมีรายได้ที่เราถืออยู่ในสตาร์ทอัพทั้งหมดที่ไม่ได้ ชี้แจงออกมา เช่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา FINNOMENA แถลงข่าวเปิดตัวพันธมิตรร่วมลงทุน Series B มูลค่า 10 ล้าน USD ซึ่งถ้าขายหุ้นไปตอนนี้ก็จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 40 เท่า

ผู้บริหารเปลี่ยนวิชั่นเปลี่ยน  

คุณอเล็กซ์ (อเล็กซานดรา ไรซ์) อดีตซีอีโอดีแทค  พูดกับผมชัดเจนตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ว่า เธอไม่ได้เชื่อว่าองค์กรจะได้อะไรกับการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ แต่สตาร์ทอัพจะได้ประโยชน์กับองค์กรมากกว่า  ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะเธอก็พูดในมุมของผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จอยู่ในหน่วยงานต่างๆ มา 20-30 ปี ในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก

แต่อาจจะเป็นวิธีคิดที่ย้อนแย้งกับผู้บริหารชุดเดิมที่บุกเบิกโครงการ dtac  Accelerateขึ้นมา  เพราะวิชั่นของผู้บริหารยุคแรกๆ และของผมมองว่าการที่เราช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ สุดท้ายแล้วเราและสังคมจะได้ประโยชน์จากสตาร์ทอัพนั้นไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ตอนนั้นเราคิดเหมือนการทำ CSR และที่สำคัญโครงการนี้ส่งผลกับภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ดีแทคอย่างมากๆ

คุณอเล็กซ์ฟันธงโครงการนี้ไว้แบบนี้ พอซีอีโอคนใหม่มาแทนเธอก็เป็นเรื่องที่ทำกันต่อเนื่อง ที่จริงพวกผมก็รู้ตัวมาตั้งแต่ dtac Accelerateปี 7 หรือประมาณ 6-7 เดือนแล้วว่าคงเป็นครั้งสุดท้ายของเรา

ดังนั้นปิดโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกำไรขาดทุนแต่เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ที่เขาอยากโฟกัสธุรกิจหลักด้านเทเลคอมมากกว่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องผิด เรามองภาพใหญ่ต่างกัน ก็ต้องยอมรับว่าผู้บริหารแต่ละท่านมีวิธีคิดในการขับเคลื่อนองค์กรที่ต่างกัน

ที่จริงผมอยากเปลี่ยนใจผู้บริหารนะว่าที่เราทำตรงนี้เป็น long-term วิชั่น ไม่ใช่ short-term วิชั่น แต่เราคงไม่มีพลังพอที่จะโน้มน้าวให้เขาเข้าใจ

ผมมั่นใจว่าต้องมีใครหรือหน่วยงานไหนที่เห็นคุณค่าเห็นความสำคัญและวิชั่นเดียวกับเราอย่างแน่นอน

ในวันที่ไร้ dtac Accelerate สตาร์ทอัพเกิดใหม่อาจจะยากขึ้น

ที่จริงบ้านเราวันนี้มีหน่วยงานสนับสนุนสตาร์ทอัพมากมายแต่ที่สนับสนุนในระดับเริ่มต้นอาจจะมีน้อย ที่มีหลายรายก็จะโฟกัสเฉพาะสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับองค์กรนั้นๆ ไม่ได้เปิดกว้างอย่าง dtac Accelerate 

ดังนั้นสตาร์ทอัพเกิดใหม่อาจจะเงียบลงเพราะรายการใหญ่ที่เปิดโอกาสให้คุณเข้ามาแข่งขันปิดไป โอกาสที่จะได้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนก็จะยากขึ้น   

แต่ในซีรีส์ A หรือ B ก็จะยังมีการพัฒนาของเขาต่อไป ผมเชื่อว่าปี 2020 กลุ่มที่จะมีบทบาทมากๆ คือกลุ่ม Pre-series A เพราะกลุ่มนี้ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เป็น A กับ B ให้ได้ ก็หวังว่าปีนี้จะเห็นรุ่นพี่ใหญ่ๆ อย่าง “ยอด” วงใน “หมู” อุ๊คบี หรือ เคลมดิ จะมีข่าวดีๆ ออกมา และที่น่าจับตาอีกคนคือ “ท็อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน อดีตผู้ก่อตั้งเว็บซื้อขาย Bitcoin รายแรกของไทย  

“วันนี้บ้านเราอาจจะยังไม่มี ยูนิคอร์น แต่ผมมั่นใจว่าอีกไม่นาน ต้องบอกว่าเมืองไทยเราเริ่มเรื่อง สตาร์ทอัพ มีอีโคซิสเท็มต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ช้ากว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียประมาณ 5-6 ปี แล้วรัฐบาลเขาก็เข้ามาสนับสนุนดีมาก รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของเขาคืออดีตซีอีโอ ของ Gojek สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของประเทศ ซึ่งยิ่งเปิดโอกาสใหม่ๆให้คนของเขามากยิ่งขึ้น”

ส่วนภาพรวมสตาร์ทอัพบ้านเรายังเติบโตขึ้นแน่นอนในปี 2019 มีตัวเลขการลงทุนใหม่ประมาณ 93-97 ล้านเหรียญในขณะที่ปี 2018 เม็ดเงินลงทุน มีประมาณ 60 กว่าล้านเหรียญ ก็เท่ากับว่าเม็ดเงินลงทุนยังเติบโตต่อเนื่อง

 แล้ว dtac Accelerate จะเป็นอย่างไรต่อไป

 มี 2 แนวทางคือ อาจจะขายโครงการนี้ออกไปตามที่เป็นข่าว เพราะวิชั่นของอดีตซีอีโอ อเล็กซานดรา ไรซ์ ต้องการขายขาดไปเลย ก็จะเป็นทางออกที่ดี เพราะกลุ่มใหม่ที่เข้ามาจะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้ก้าวต่อไปได้ หรือถ้าไม่ขายก็ยังคงถือหุ้นต่อ ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารคนใหม่

ส่วน ทีม dtac Accelerateตอนนี้ก็แค่รอเวลา เพราะยังมีองค์กรใหญ่ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กร และต้องการคนที่มีประสบการณ์ทำงานกับสตาร์ทอัพ ไปร่วมทีม

หรืออาจจะเข้าไปเป็นทีมงานให้กับนักลงทุนที่เข้าไปซื้อบริษัท dtacAccelerate มารันต่อก็ได้   คาดว่าประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีความชัดเจน

“หรือถ้ายังไม่มีอะไรชัดเจน ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้มีเวลากับเจ้าลูกชายมากขึ้น” พี่เหม็ง ปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ ก็มารอดูกันว่าเขาจะได้รับโอกาสนี้หรือไม่  อีกไม่นานก็รู้ 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online