นับเป็นหุ้นเตรียม IPO ที่น่าจับตาอีกตัว สำหรับ SCGP หรือ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง บริษัทลูกอนาคตไกลจากองค์กรธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง “เอสซีจี (SCG)” แม้จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้เพียง 20% ของรายได้ทั้งเครือ ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเคมีคอลส์ และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
SCGP เป็นใคร ทำอะไรมาบ้าง?
ระหว่างรอ ก.ล.ต. พิจารณาข้อมูลไฟลิ่งหุ้น SCGP ที่ได้ยื่นไปแล้วตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา คุณวิชาญ จิตร์ภักดี CEO ของ SCGP ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้รับรู้
SCGP เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ประกอบด้วย 2 สายธุรกิจหลัก คือ 1) สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และ 2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ รวมถึงยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
บริษัทเริ่มก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 2518 ต่อมาเมื่อธุรกิจกระดาษเติบโตและกลายเป็นธุรกิจหลัก บริษัทจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2550 กระทั่งต่อมากิจการกระดาษเติบโตลดลง ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์เริ่มมีบทบาทเพิ่มขึ้น บวกกับเทรนด์การเติบโตของสินค้าอุปโภคและบริโภค และการให้ความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้งมากขึ้น ในปี 2558 จึงมีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงโฟกัสใหม่ของบริษัท
SCGP ขยายธุรกิจและเพิ่มการเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านกลยุทธ์การเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายด้านวัสดุ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุน M&A มากถึง 18 โครงการ และในปี 2562 ปีเดียว SCGP ใช้เงินลงทุนในการ M&A ราว 2.5 หมื่นล้านบาท
ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีฐานการผลิตกว่า 40 โรงงาน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยข้อมูลจาก ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (Frost & Sullivan) ระบุว่า SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนในแง่ของกำลังการผลิต มีกำลังการผลิตรวม 4 ล้านตันต่อปี และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน กำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านตันต่อปี
มาถึงวันนี้ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร มีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging หรือ “PPP”) ทั้งแบบอ่อนตัว (Flexible) และคงรูป และรวมกระดาษบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงกระดาษรีไซเคิล และถุงอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน SCGP มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมกว่า 120,000 รูปแบบ (SKUs) เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคที่มีแนวโน้มความต้องการที่หลากหลายและเติบโตสูง พร้อมมีบริการออกแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโซลูชั่นที่เป็นความต้องการพิเศษของลูกค้า เช่น โซลูชั่นเพื่ออำนวยความสะดวก โซลูชั่นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ โซลูชั่นสำหรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และโซลูชั่นด้านกิจกรรมการตลาด ฯลฯ โดยมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร “อินสไปร์ สตูดิโอ (Inspired Studio)” เป็นผู้ช่วยตอบโจทย์ให้ลูกค้า
สำหรับสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ มีแบรนด์ Fest เป็นหัวหอกเรื่องภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จากเยื่อประเภทต่างๆ และกระดาษพิมพ์เขียน
“มองกระจกหลัง” เช็กสมรรถนะการทำรายได้-กำไร
คุณวิชาญให้ข้อมูลว่าหากมองผลประกอบการย้อนหลัง 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2559-2562) จะพบว่า รายได้จากการขายของ SCGP เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยเติบโตปีละ 6.1% ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 17% อย่างไรก็ดี ปีนี้เป็นปีแรกที่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ทั้งนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ SCGP มีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจค่อนข้างเยอะ
หากเทียบผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมากับปี 2561 พบว่า SCGP มีรายได้จากการขาย 89,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.1% มีกำไรสุทธิ 5,268 ล้านบาท ลดลงถึง 13.2% สำหรับอัตราทำกำไรย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2562 อยู่ที่ 4.4%, 5.4, 7% และ 5.9% ตามลำดับ
ปัจจุบัน SCGP มีฐานลูกค้าที่กว้างขวางและหลากหลายมากกว่า 4,000 ราย โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation หรือ “MNC“) และผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับประเทศและระดับภูมิภาค เช่น Kao, Kimberly Clark, Lion Group, อิชิตัน, Dutch Mill, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และ Kerry เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ลูกค้าของ SCGP ทำธุรกิจอยู่ในตลาดที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ อี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์
สำหรับสัดส่วนรายได้จากการขาย ณ สิ้นปี 2562 เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศถึง 43% และรายได้จากในประเทศ 57% โดยในอนาคตบริษัทวางแผนจะนำโมเดลการเป็น Packaging Solution Provider หรือเพื่อนคู่คิดในการหาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพิเศษให้กับลูกค้า ขยายไปยังต่างประเทศ
“ส่องกระจกหน้า” เช็กโอกาสเติบโตจากเทรนด์
จากการให้ข้อมูลของคุณวิชาญ (อ้างอิงงานวิจัยจาก Frost & Sullivan) พอสรุปได้ว่า มีอยู่ 7-8 เทรนด์ที่ดูเหมือนจะหนุนนำธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง โดยเฉพาะ SCGP ให้เติบโต
1) บรรจุภัณฑ์เกี่ยวข้องกับการบริโภค ยิ่ง GDP ในประเทศโต คนในประเทศก็ยิ่งบริโภคมากขึ้น ยิ่งการบริโภคภาคครัวเรือนโต การใช้บรรจุภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้น จากคาดการณ์ของ Frost & Sullivan ระบุว่า ในช่วง 7 ปีนี้ (ตั้งแต่ปี 2561-2567) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจใน 5 ประเทศที่ SCGP มีฐานการผลิตอยู่ ในภาพรวมยังมีแนวโน้มที่ GDP จะยังคงเติบโต จึงส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนของประชากร 5 ประเทศนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคครัวเรือนจะโตเฉลี่ยปีละ 7.8%
2) ภาพรวมธุรกิจแพ็กเกจจิ้งในอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% โดยคาดว่า ภายในปี 2567 มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมนี้น่าจะมีสูงกว่า 72,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2561 ที่อยู่ที่ประมาณ 51,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
3) การเติบโตของ e-Commerce กระตุ้นการใช้แพ็กเกจจิ้งอย่างมาก จากตัวเลขคาดการณ์ ธุรกิจ e-Commerce ในอาเซียนจะโตโดยเฉลี่ยสูงถึงปีละ 26%
4) การเติบโตของ Food Delivery ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมการใข้แพ็กเกจจิ้งเพิ่มขึ้น
5) ประชากร 5 ประเทศรวมกันมากถึง 583 ล้านคน (ณ ปี 2561) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
6) การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และไลฟ์สไตล์ของคนอาเซียน มีทิศทางที่เอื้อให้ใช้แพ็กเกจจิ้งมากขึ้น และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ เช่น คนเมืองรุ่นใหม่มักมีขนาดของครัวเรือนที่เล็กและเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จึงอาจต้องการสินค้าที่มีแพ็กเกจเล็กลง สามารถเก็บได้ง่ายและนานขึ้น นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น จึงมักเลือกซื้อสินค้าที่มีแพ็กเกจจิ้งที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
7) ผู้บริโภคมีแนวโน้มใส่ใจในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา SCGP มุ่งเน้นกระบวนการผลิตโดยยึดหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรักษาคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ไว้ผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำ การลดการใช้ และการรีไซเคิล เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดและปัญหาเรื่องขยะ เทรนด์นี้จึงถือว่าค่อนข้างเป็นผลบวกกับบริษัท
8) ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ต่อหัว (Per Capita Usage) ของคนอาเซียนถือว่ายังต่ำ อยู่ที่ประมาณ 10-30 กก./คน/ปี ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ต่อคนสูงถึงปีละ 80-90 กก. แปลว่าปริมาณการใช้ของคนอาเซียนยังโตได้อีก 3 เท่า
นอกจากนี้ เทรนด์สำหรับแพ็กเกจจิ้งยุคใหม่ที่ไม่ได้ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีหน้าที่เพียงห่อหุ้มเพื่อป้องกัน (Protect) สินค้า แต่ยังคาดหวังว่าแพ็กเกจจิ้งจะทำหน้าที่อื่นได้ด้วย เช่น การโปรโมต (Promote) แบรนด์และสินค้า อีกหน้าที่ที่สำคัญ คือการทำหน้าที่ยืดอายุสินค้านั้นๆ ให้ยาวนานขึ้น (Preserve) และล่าสุด บริษัทขายสินค้าในโลกยุคใหม่ยังคาดหวังว่าแพ็กเกจจิ้งจะทำหน้าที่ (Perform) เป็น Smart Package ที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถ Trace & Track ที่มาของสินค้านั้นได้ (Traceability)
CEO เล่าว่า ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ SCGP บวกกับความสามารถด้านดีไซน์ และ R&D ของบุคลากร ทำให้วันนี้บริษัทสามารถตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้ครอบคลุมทั้ง 4Ps สมกับปณิธาน “คู่คิดที่ตอบโจทย์ด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การมีบริษัทแม่เป็น “SCG” ทำให้ SCGP มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งหลายรายในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในแง่ความมั่นคง, ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงอันดี โดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรม ธรรมาภิบาล และการให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability)ในแง่ของธุรกิจ การเป็นบริษัทในเครือ SCG ทำให้ความเสี่ยงเรื่องของการขาดแคลนวัตถุดิบลดลงได้อย่างมาก
โดยนอกจาก SCGP จะสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่สำคัญและผลิตภัณฑ์ขั้นต้นได้โดยตรง เนื่องจากบริษัทมีตั้งแต่แปลงปลูกยูคาลิปตัสเอง แถมยังมีแหล่งซื้อเยื่อกระดาษ และการรับกระดาษรีไซเคิล ขณะที่บรรจุภัณฑ์กลุ่ม PPP บริษัทก็มี “พี่น้องแม่เดียวกัน” อย่าง เอสซีจี เคมิคอลส์ จัดหาวัตถุดิบให้ ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าเป็นบริษัทในเครือ อย่าง เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นผู้ซื้อถุงอุตสาหกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SCG ซื้อกระดาษบรรจุภัณฑ์และกระดาษพิมพ์เขียน พร้อมกับขายเศษกระดาษรีไซเคิลและถ่านหินบางส่วนให้ SCGP
การลงทุนที่ดี “หุ้นปัจจัยดี” อย่างเดียว… คงยังไม่พอ
มาถึงวันนี้ ยังไม่มีคำตอบจากคุณวิชาญว่าหุ้น SPCG จะพร้อมเข้าตลาดได้เมื่อไหร่ เขาตอบเพียงว่ากำลังอยู่ในการพิจารณาของ ก.ล.ต.
ตามข้อมูลไฟลิ่ง SCGP จะเสนอขายหุ้นไม่เกิน 1,374 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 1,194.8 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 179.2 ล้านหุ้น รวมแล้วจะมีสัดส่วนไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้ว โดยหลัง IPO แล้ว SCG ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SCGP
วัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อขยายกำลังการผลิต และ/หรือควบรวมกิจการ ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน ส่วนวิสัยทัศน์คือ การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและบริการที่หลากหลาย รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
จากข้อมูลธุรกิจทั้งหมดที่เล่ามานี้ อาจช่วยให้นักลงทุนเข้าใจพื้นฐานของหุ้น SCGP ขึ้นมาบ้าง แต่ในการตัดสินใจลงทุน จริงๆ แล้วยังต้องมีอีกข้อมูลที่สำคัญมาก นั่นคือ “ราคาหุ้น”
เพราะหลักการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนแบบเน้นหุ้นคุณค่า ต้องประกอบด้วย หัวใจสำคัญ 2 ประการคือ 1) หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีที่จะทำให้กิจการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ 2) ราคาหุ้นต้องไม่แพงจนเกินไป หรือต้องมี Valuation ที่เหมาะสม เพราะใครๆ ก็ต้องการได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะเวลาที่รอได้
ฉะนั้น คงต้องรอลุ้นว่าราคาหุ้นจะเปิดมาที่เท่าไร… ระหว่างนี้นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง!! และปีนี้ก็ดูเหมือนจะมีหุ้น IPO น่าสนใจมาให้เลือกไม่น้อยทีเดียว
ที่มา: Marketeer รวบรวมจากข้อมูล Filing เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562, เอกสารและข้อมูลนำเสนอ รวมถึงข้อมูลจาก CEO ของ SCGP จากงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ