วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ได้กลายเป็นวันที่สำคัญอีกหนึ่งวันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เมื่อ กสทช. ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 700MHz 1800MHz 2600MHz และ 26GHz เพื่อนำคลื่นมาพัฒนาให้บริการ 5G ในประเทศไทย
การประมูลคลื่น 5G ที่ กสทช. จัดขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะพาประเทศไทยไปสู่โลกแห่งการสื่อสารใหม่ๆ โดยเฉพาะโลกแห่งการสื่อสารระหว่างคนกับสิ่งของ หรือสิ่งของกับสิ่งของ บนคำนามว่า IoT หรือ Internet of Thing
แต่ในประเทศมีความพร้อมแค่ไหนกับการใช้งาน 5G
1. 5G มาพร้อมต้นทุนที่สูงกว่า 4G
การให้บริการ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือจะต้องมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการมากถึง 100MHz
และการประมูลคลื่นความถี่ 5G กสทช. ได้นำคลื่นความถี่ถึง 4 คลื่น 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ออกประมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
การประมูลครั้งนี้คลื่นความถี่ 2600MHz เป็นคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ให้ความสนใจ 3 ราย มีราคาตั้งต้นการประมูลมากถึง 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต โดย 1 ใบอนุญาตจะมีคลื่นความถี่จำนวน 10MHz
ราคาเริ่มต้นคลื่นความถี่ 2600MHz ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ว่า แม้การประมูลครั้งนี้ราคาเริ่มต้นประมูลจะต่ำกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G และ 4G ในครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ก็เป็นราคาเริ่มต้นที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก จะเป็นรองเพียงสิงคโปร์และอินเดียซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงกว่า 2,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ประเทศอื่นๆ ที่เปิดประมูลคลื่นเพื่อพัฒนา 5G จะมีราคาเริ่มต้นในการประมูลคลื่นต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
และหากมีการแข่งขันด้านราคาบิดเพื่อประมูลคลื่นความถี่ให้ได้จำนวนตามที่ต้องการ ยิ่งทำให้ราคาประมูลสุดท้ายมีราคาสูงขึ้นกว่าราคาตั้งต้นไปอีกตามกลไกการแข่งขัน
นอกจากต้นทุนในการประมูลคลื่นความถี่แล้ว โอเปอเรเตอร์ที่ชนะการประมูลยังมีต้นทุนในการลงทุนเครือข่าย 5G ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดว่าเครือข่าย 5G จะใช้เงินลงทุนสูงกว่าเครือข่าย 4G ราว 1.8 เท่า โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนซึ่งอุปกรณ์โครงข่าย 5G ยังมีระดับราคาที่สูง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลงทุนโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งประเทศจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 450,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งลงทุนโครงข่าย 4G ซึ่งอยู่ที่ราว 255,000 ล้านบาท
การลงทุนเครือข่าย 5G อยู่ภายใต้ข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่น กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการทำโครงข่ายสมาร์ทซิตี้ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ภายใน 4 ปี
ทำให้โอเปอเรเตอร์จำต้องลงทุนโครงข่ายในช่วง 3-4 ปีแรกเป็นเม็ดเงินมากกว่า 60-70% ของต้นทุนโครงข่ายที่ต้องลงทุนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ภายใต้แรงกดดันด้านภาระต้นทุนศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่าอาจส่งผลทำให้ราคาของแพ็กเกจบริการ 5G มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับราคาบริการ 4G โดยเฉพาะในช่วงแรกของการลงทุนที่คาดว่ายังคงมีความต้องการการใช้งาน 5G ในวงจำกัด
และแนวทางหนึ่งที่น่าจะลดผลกระทบจากต้นทุนการลงทุนโครงข่าย 5G คือ การสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการลงทุนและใช้โครงข่าย 5G ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะมีส่วนลดความซ้ำซ้อนในต้นทุนการติดตั้งโครงข่าย และช่วยย่นระยะเวลาการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้มองว่าการประมูลครั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินที่ผ่อนปรนมากกว่าการประมูลครั้งก่อน
เช่น กำหนดให้ชำระเงินงวดที่หนึ่งในปีแรกในสัดส่วนเพียง 10% ของราคาชนะประมูล และยกเว้นการชำระเงินในปีที่ 2-4 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการลงทุนและทำตลาด ก่อนที่จะมาชำระอีกครั้งในปีที่ 5-10 ในสัดส่วนปีละ 15% ทำให้น่าจะบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนคลื่นต่อราคาค่าบริการ 5G ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการได้ในระดับหนึ่ง
2. IoT ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
เทคโนโลยี 5G คุณสมบัติเด่นที่นอกจากความเร็วคือมี Latency ต่ำ ช่วยให้ระยะเวลาการเชื่อมต่อข้อมูลจากต้นทางไปปลายทางน้อยกว่า 0.001 วินาที พร้อมความเสถียรในการเชื่อมต่อที่สูง ในแต่ละสถานีเครือข่ายสามารถรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 1,000 เท่า
ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ทำให้ 5G กลายเป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะถัดไป
จากการเข้ามาเป็นตัวกลางในการต่อเชื่อมการทำงานในรูปแบบ IoT ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานกับ IoT และอุปกรณ์ IoT กับอุปกรณ์ IoT ด้วยกัน พร้อมการประมวลผลการทำงานในรูปแบบ AI และอื่นๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า IoT เป็นเทคโนโลยีที่ต้องประยุกต์ใช้คุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยี 5G ทั้งด้านความหน่วงและจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อที่สามารถรองรับได้จำนวนมาก และน่าจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้บริการให้หันมาสนใจในบริการ 5G ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับตลาดโลกรวมถึงประเทศไทย และมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในวงกว้างอยู่ไม่มากนัก
ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีกว่าเทคโนโลยี IoT จะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในไทย ทำให้เกิดแรงกดดันในการหันมาใช้บริการ 5G ของทั้งผู้บริโภคและลูกค้าองค์กร
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ผลิตมือถือเพิ่งเริ่มทยอยเปิดตัวอุปกรณ์สื่อสาร 5G และอุปกรณ์ต่างๆ ยังมีระดับราคาที่สูง สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มจำหน่ายอุปกรณ์ที่รองรับ 5G โดยคาดว่าจะเริ่มเข้ามาจำหน่ายราวกลางปีก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำว่าภายใต้สถานการณ์ด้านตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดังกล่าว ในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ 5G ผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะเผชิญแรงกดดันด้านปริมาณความต้องการการใช้งานโดยรวมที่ไม่สูงมาก การวางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
1. การวางแผนเลือกพื้นที่การลงทุนโครงข่าย 5G ที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ
การลงทุนโครงข่ายในช่วงแรกควรจะกระจุกตัวตามพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่รวมถึงพื้นที่ EEC เช่น ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพที่ผู้ใช้บริการทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีกำลังซื้อและมีความต้องการใช้บริการสื่อสารข้อมูลในระดับสูง
2. การกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพก็มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม
ตลาดองค์กรธุรกิจน่าจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันความต้องการในการใช้งานบริการ 5G โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีความพร้อมก่อนน่าจะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม และปิโตรเคมี เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่ต้องการความแม่นยำและความเที่ยงตรงในคุณภาพสูง
ประกอบกับมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ IoT เช่น หุ่นยนต์ความแม่นยำสูง การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยระบบเซนเซอร์
3. การเร่งพัฒนาบริการที่ประยุกต์ใช้ 5G
ในช่วงแรกที่เทคโนโลยี IoT ยังไม่แพร่หลาย เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากบริการเดิมในยุค 4G ที่เน้นเพียงมิติด้านความเร็วอย่างการชมภาพยนตร์และฟังเพลง
โอเปอเรเตอร์ควรหายูสเคสต่างๆ ที่ให้เห็นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น โซลูชั่นเทคโนโลยีเสมือนจริงสำหรับสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในธุรกิจค้าปลีก และโซลูชั่นบริหารสินค้าคงคลังและโลจิสติกส์แบบเรียลไทม์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอาจจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อแชร์ไอเดีย ทดลอง และลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ บน 5G รวมไปถึงการจับมือกับลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อเข้าไปร่วมศึกษาและพัฒนาโซลูชั่นเชิงธุรกิจต่างๆ
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



