20.02.2020 เป็นอีกวันประวัติศาสตร์ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” เมื่อหุ้น IPO ของ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ CRC หุ้นที่ได้ชื่อว่ามูลค่า IPO ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เข้าไปทำการซื้อขายวันแรกด้วยราคา 42 บาทต่อหุ้น

แต่ก็ดูจะไม่หวือหวาเท่าไรนัก เพราะปิดเทรดวันแรกราคาของหุ้น CRC ต่ำกว่าราคาจอง 0.60% อยู่ที่ 41.75 บาท

ซึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะซบเซา นักลงทุนยังกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานปิดต่ำกว่า 1,500 จุดอีกครั้ง

และอีกหนึ่งหุ้นของจิราธิวัฒน์ที่ใช้นามสกุลมหาชน คือ “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ  CPN ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2538 นับจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาราว 25 ปี

หุ้นของซีพีเอ็นเคยทำราคาขึ้นไปสูงถึง 87 บาท เมื่อปี 2560 ในปีถัดๆ มา ราคาหุ้นของซีพีเอ็นก็ลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทำราคาต่ำกว่า 60 บาทไปเมื่อช่วงสิ้นเดือน ม.ค. ส่วนราคาปิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 60.00 บาท

แม้รายได้ของซีพีเอ็นจะโตขึ้นทุกปี และมีกำไรก็ตาม

ปิดปีแต่ละปี หุ้น CPN ราคาอยูที่เท่าไร

2559       56.75 บาท

2560       85.25 บาท

2561       74.75 บาท

2562       62.25 บาท

แล้วภาพรวมปีที่ผ่านมาของซีพีเอ็นเป็นอย่างไร

ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนา มีรายได้รวม 38,403 เติบโตขึ้น 9% จากปี 2561 ที่มีรายได้ 35,341 ล้านบาท

โดยรายได้หลักคาดเดากันไม่ยากคือ มาจากการให้เช่าและให้บริการศูนย์การค้าที่มือยู่ในมือ ซึ่งคิดเป็นรายได้เกือบ 80% จากรายได้ทั้งหมด

CPN  มีอะไรอยู่ในมือบ้าง

ศูนย์การค้า 34 โครงการ

– กรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ

– ต่างจังหวัด 18 โครงการ

– ต่างประเทศ 1 โครงการ

ศูนย์อาหาร 30 แห่ง

อาคารสำนักงานให้เช่า 7 อาคาร

โรงแรม 2 แห่ง

โครงการที่พักอาศัย (แนวสูง) 9 โครงการ

โครงการที่พักอาศัย (แนวราบ) 1 โครงการ

 

หมายเหตุ: ตัวเลข ณ สิ้นปี 2562

 

ในส่วนของกำไรปีที่ผ่านมาซีพีเอ็นมีกำไรทั้งสิ้น 11,738 ล้านบาท

ขณะที่ในปีนี้ซีพีเอ็นตั้งเป้าให้มีรายได้เติบโตจากปีก่อนราว 8% โดยหลักๆ มาจาก

รายได้จากการให้เช่าและให้บริการศูนย์การค้าที่มีที่น่าจะเติบโตได้ดี โดยในปีนี้ซีพีเอ็นจะยังไม่มีการเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่

รายได้ที่ได้มานั้นก็จะมาจากศูนย์การค้าเดิม บวกกับสาขาที่มีการปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรับปรุงสาขานั้นน่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยภายในห้างมากขึ้น

รวมทั้งรายได้จากส่วนอื่นๆ ที่น่าจะมากขึ้นตาม

ซีพีเอ็นไม่ได้คิดแค่จะเติบโต 8% เท่านั้น แต่ในแผนธุรกิจระยะ 5 ปี (2563-2567) ซีพีเอ็นตั้งเป้ามีรายได้โต 12% ต่อปี

เกมที่ซีพีเอ็นจะใช้เดินคงหนีไม่พ้นการพัฒนาธุรกิจอสังหาแบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูสมากขึ้น เห็นได้จากโครงการบิ๊กโปรเจกต์ที่จับมือร่วมทุนกับกลุ่มดุสิตธานีอย่าง ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่า 36,700 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567

การขยายศูนย์การค้าแห่งใหม่ โดยปีที่ผ่านมาซีพีเอ็นกางแผนบุกหัวเมืองใหญ่อีก 3 โครงการ คือ อยุธยา ศรีราชา และจันทบุรี

และก็น่าจะเห็นโอกาสที่ซีพีเอ็นลงทุนเข้าซื้อกิจการในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและให้ผลต่อแทนได้ดี

รวมทั้งพัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่ในมือให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ที่น่าจับตาคงเป็นการที่ซีพีเอ็นซื้อหุ้นของบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด จากกลุ่มบีทีเอส ในสัดส่วน 50% เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเบย์วอเตอร์นั้นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณถนนพหลโยธินซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพ

ส่วนปีนี้ซีพีเอ็นจะทำรายได้ และมีกำไรแค่ไหน แล้วหุ้นจะปิดปีที่ราคาเท่าไรต้องติดตาม

ล่าสุดซีพีเอ็นแจ้งกลต. เตรียมซื้อหุ้นคืนโดยเป็นการซื้อจากตลาดหลักทรัพย์ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ระหว่าง 6 มี.ค.-5 ก.ย. โดยให้เหตุผลว่า เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการเงิน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online