FED ลดดอกเบี้ย ครั้งใหญ่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมส่งสัญญาณซึมยาว
ข่าวใหญ่รับเช้านี้… ทำเอานักลงทุนทั่วโลกสะดุ้ง
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหญ่ลงถึง 1% ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยลดจากระดับ 1.00-1.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 0-0.25% กลับไปต่ำเท่ากับช่วงวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ปี 2008-2009 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
โดยมาตรการดังกล่าวคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ด้วยการทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่ำลง ซึ่งต้องบอกว่านี่เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินครั้งที่สองในรอบเดือน มี.ค. โดยครั้งแรกลดไป 0.5% หลังการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มี.ค. และครั้งนี้ลดอีก 1% หลังการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 15 มี.ค. (เวลาสหรัฐฯ)
นอกจากนี้ FED ยังได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการประกาศซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เหมือนที่เคยทำมานับตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยครั้งนี้มีวงเงินราว 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 22 ล้านล้านบาท
โดยภายหลังที่ FED มีมาตรการดังกล่าวออกมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแสดงความยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าวของ FED พร้อมกับบอกว่านโยบายเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกดีใจ… แต่ดูเหมือนนักลงทุนในตลาดจะไม่ได้คิดเช่นนั้น
ผลตอบรับจากทั่วโลกหลัง FED ลดดอกเบี้ย และ “แบงก์ชาติ” ว่าไง…
หลังการประกาศมติการประชุมฉุกเฉินของ FED ดัชนี Dow Joines Futures ปรับตัวลดลงทันทีจนถึงตอนนี้ (12.30 น. เวลาประเทศไทย) ลดลงไปแล้วกว่า 1,000 จุด
ส่วนผลตอบรับของตลาดหุ้นเอเชีย ล้วนตอบสนองต่อสัญญาณดังกล่าวออกมาเป็นแนวลบ รวมถึง SET Index ที่นับตั้งแต่เปิดตลาดก็วิ่งอยู่ในแดนลบ กระทั่งปิดตลาดเช้านี้ โดยลบไปกว่า 62 จุด หรือกว่า 5.5%
ด้านธนาคารกลางฮ่องกง ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยโยบาย 0.64% สู่ระดับ 0.86% จากระดับ 1.50% ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม FED ซึ่งการประกาศลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางฮ่องกงครั้งนี้ก็นับเป็นครั้งที่ 2 ของเดือนนี้เช่นกัน
ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจัดประชุมฉุกเฉินทันที จากเดิมที่กำหนดการจะมีขึ้นในวันพุธที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะนำมาใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะเป็นมาตรการด้าน QE เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็น “อัตราดอกเบี้ยติดลบ” โดยอยู่ที่ -0.1%
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า การดำเนินการของ FED สะท้อนความกังวลและสถานการณ์ในตลาดเงินของสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องติดตามผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาดต่อไป พร้อมกับแจ้งว่าในเบื้องต้นยังยืนยันกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงเดิมคือ วันที่ 25 มี.ค. นี้ (หรือก็คือยังไม่มีการประชุมฉุกเฉิน)
ที่มา: รูป Fed Fund Rate และเนื้อหาข่าวบางส่วนจาก The New York Times
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



