ช่วงค่ำวันที่ 20 มี.ค. ผลการประชุมฉุกเฉินของ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มี.ค. 2563

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้คือ การหั่นอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ หรือ “ประชุมฉุกเฉิน” ซึ่งในรอบ 20 ปี เคยเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง โดย 2 ครั้งนั้นล้วนเกิดขึ้นในสมัย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการ ธปท. ในปี 2545 และ 2546

สำหรับเหตุผลหลักของการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยฯ เนื่องจากคณะกรรมการฯ เห็นว่า การระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ

ดังนั้น  เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 ของปี ขณะที่การประชุม กนง. ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 มี.ค. 2563 ก็ยังคงจะเกิดขึ้นตามปกติ … ทำให้หลายคนคาดการณ์กันไปว่า “จะมีการปรับลดอีกครั้งในการประชุมที่จะถึงนี้ หรือไม่?”

พร้อมกับมีการคาดเดาถึงเหตุผลที่ กนง. ไม่ปรับลดไปคราวเดียวเลยที่ร้อยละ 0.5 อาจเป็นเพราะตลาดจะตื่นตระหนก (Panic) เหมือนกรณีที่ FED ช็อกตลาดสหรัฐฯ ด้วยการลดดอกเบี้ยคราวละร้อยละ 0.5 ตามมาด้วยร้อยละ 1 ซึ่งเสียงตอบรับในช่วงแรกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ออกมาไม่ดี โดยเฉพาะครั้งหลัง

…ซึ่งสมมุติฐานนี้ยิ่งทำให้การประชุมนัดวันที่ 25 มี.ค. นี้ ยิ่งน่าจับตา!!

Photo from Shutterstock

“ดอกเบี้ยต่ำ” มีผลกระทบอย่างไร?

ผลกระทบด้านบวก

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธุรกิจ  ทำให้ธุรกิจสามารถนำเงินส่วนนี้ไปหมุนเวียนในกิจการและขยายการลงทุนได้มากขึ้น
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง จะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่มีความจำเป็น/ความต้องการกู้เงิน จะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำลง
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ช่วยสนับสนุนมาตรการทางการคลังของรัฐบาล เพราะทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้ลดลง หรือถ้ากู้ใหม่ก็จะเกิดภาระทางการคลังในระยะยาวที่ลดลง จึงเอื้อให้รัฐบาลลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาต่างๆ ได้สะดวกขึ้น
  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง โดยหลักการแล้วจะมีส่วนในการกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้นเพราะต้นทุนในการบริโภค(ดอกเบี้ยเงินฝาก) ต่ำ  ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง

ผลกระทบด้านลบ

  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลง โดยทั่วไปจะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ไหลออกไปยังประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า

แต่เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ เรียกว่า ธนาคารกลางของหลายประเทศล้วนใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำแทบทุกประเทศ ผลกระทบข้อนี้จึงอาจไม่มีผลมากในตอนนี้ และเมื่อเงินทุนไหลออกมักจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง  

  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง ทำให้ผู้ฝากเงินได้ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงโดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (Search for Yield)

แต่ครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า ด้วยภาวะความเสี่ยงของสถานการณ์แพร่ระบาด Covid-19 ที่ยังไม่รู้จะยาวนานแค่ไหน ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเริ่มไม่กล้าเสี่ยงหรือลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงลง แล้วกลับมาเก็บ  “เงินสด” ไว้กับตัวมากขึ้น

  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง ทำให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น จนอาจทำให้ไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน หรือใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งอาจเป็นปัญหาได้ในระยะยาวเพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาและเยียวยาเหตุการณ์เฉพาะหน้า อย่างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด Covid-19 ก่อนที่ธุรกิจจะล้มจนยากฟื้นตัว …เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในขณะนี้

ภาพจากการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2563

สุดท้ายนี้ กนง. ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งที่ผ่านมาและเครั้งนี้ รวมถึงครั้งที่ผ่านมา จะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจได้ ก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

จึงได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีเรื่องที่น่ายินดี เพราะในช่วง 1 เดือนกว่าที่ผ่านมานี้ (ทันทีหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งที่ผ่านมา) สถาบันการเงินหลายแห่งตบเท้าตอบรับที่จะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องและผ่อนปรนด้านหนี้สินให้กับภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงภาคประชาชน … เพื่อให้ทุกฝ่ายรอดพ้นวิกฤตคราวนี้ไปด้วยกัน!

 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online