สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะคลี่คลายและจบลงเมื่อไร
หากให้เปรียบเทียบประเทศไทยอยู่จุดไหนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดเผยมุมมองผ่าน Facebook Live Press Conference
ในหัวข้อ “มองศักยภาพประเทศไทยกับการรับมือ COVID-19 และ New normal หลังวิกฤตโรคระบาด” ว่า
จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจากความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง
แต่ให้เปรียบสถานการณ์ตอนนี้คือ เหมือนเราวิ่งมาราธอน ถ้าให้เทียบสเกลไทยอยู่ระดับ 3 ใน 10
จากมีคนเริ่มติด 5 คน 10 คน มาเจอจุดพลิกผันจากทองหล่อและสนามมวย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น


หากถามถึงความพร้อมในการบริการทางการแพทย์นั้น ไทยยังไม่มีบริการทางการแพทย์ที่สามารถรองรับได้มากขนาดนั้น ในเคสที่หากอยู่ในขั้นวิกฤตจำนวนมาก โรงพยาบาลของภาครัฐในกรุงเทพฯ มีห้องผู้ป่วยไอซียูความดันลบเพียง 30-40 ห้อง การแพทย์ของไทยสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละ 20-30 คน
ขณะที่สถานการณ์ในไทยพบผู้ติดเชื้อน้อยลง หากถามว่าวางใจได้หรือไม่นั้น นายแพทย์บุญกล่าวว่า ไทยมีความเสี่ยงอยู่ 3 อย่างด้วยกัน
1. ไทยมีผู้ป่วยที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ 80%
2. ไทยมีชุมชนแออัดค่อนข้างมาก รวมทั้งเรือนจำ บ้านพักคนชรา
3. คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ 1 หมื่นคนที่กำลังกลับบ้าน รวมถึงแรงงานที่กลับไปบ้าน และเตรียมกลับเข้าไทยอีกมาก
แม้ความเสี่ยงจากคนไทยในประเทศจะลดลง แต่ความเสี่ยงที่ระบุไปข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ไทยจะ “การ์ดตก” ไม่ได้ ต้องติดตาม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
และถึงแม้ว่าไทยจะถูกประเมินจากต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีระดับความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขอยู่ในอันดับ 6 จาก 195 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นศักยภาพทางการแพทย์ของไทย
แต่ความด้อยของไทยคือ การเทสต์ที่ตรวจเชื้อน้อย ถ้าเราจะเริ่มเปิดประเทศเราจะเจอปัญหา 2 อย่าง
– เราต้องตรวจเชื้อให้มากที่สุด
– การตรวจแอนติบอดี้ก็ยังไม่ชัวร์ว่าจะใช่ได้หรือไม่ได้ ภูมิคุ้มกันของคนเราจะสามารถกันไวรัสได้หรือไม่
เพราะฉะนั้น 2 เดือนข้างหน้าสำคัญที่สุด ไทยจะต้องคุมให้อยู่ เราจะปิดประเทศตลอดไปไม่ได้เพราะเรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องสภาพจิตใจของคนที่อยู่อาจจะเกิดความเครียด
ถ้าจะเปิดประเทศจะต้องเปิดเป็นขั้นตอนไป สเต็ปต่อไปของด้านสาธารณสุขคือ การติดตามและรุกไปรักษา
ฟากเศรษฐกิจโลก IMF ปรับเป้าประมาณการของทั่วโลกอยู่หลายรอบ จากเดิมที่จะเติบโต 3% กลับเป็นติดลบ 3%
ขณะเดียวกันธนาคารโลกเองก็มองประเทศไทยว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 3% และในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจติดลบถึง 5%


ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า ตนมองตรงกันข้ามกับธนาคารโลก ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย ถ้า GDP ปีนี้ติดลบ 5% มองว่าค่อนข้างดี เพราะดูแนวโน้มแล้วอาจจะติดลบถึง 10% ด้วยซ้ำ และความเสียหายของเศรษฐกิจยังคงเป็นปลายเปิด
ประเมินว่าจะถูกล็อกดาวน์แค่ 1-2 เดือน และค่อยๆ คลาย และเริ่มกลับมาในเดือน มิ.ย. เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นเป็นไปได้สูงมากหากตอนปลายปีมี second wave เศรษฐกิจก็จะแย่ลงไปอีก
การล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อปราบโควิด ก็เหมือนการล็อกดาวน์ GDP ไปด้วย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในเรื่องของนโยบาย รวมทั้งผลกระทบ หรือต้นทุนทางเศรษฐกิจจะสูงแค่ไหน
การปราบโรคนี้คือการให้ทุกคนอยู่ที่บ้าน แต่การอยู่ที่บ้านก็ทำให้ไม่เกิดผลผลิตทางจีดีพี ฉะนั้นต้นทุนของการล็อกดาวน์สูงมาก ตอนนี้เราจึงเห็นกระแสทั่วโลกพยายามเปิดเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ยังมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องลำบาก และท้าทายว่า จะเปิดเศรษฐกิจอย่างไร ไปพร้อมกับยังสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้ท่วมระบบสาธารณสุข
ศุภวุฒิระบุอีกว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมในการทดสอบ การเทสต์ ส่วนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมก็ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญ
ที่สำคัญคือการตรวจเชื้อให้พบมากที่สุด ซึ่งหากเกิดการระบาดระลอกที่สอง การไม่เทสต์เหมือนการสู้กับไฟแบบปิดตาตัวเอง เพราะฉะนั้นจะต้องเปิดตาตัวเองว่าโรคอยู่ตรงไหน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



