ธุรกิจโรงแรม เจ็บแต่ไหนช่วงโควิด ? กรณีศึกษา AWC และ SHR

“AWC” ของตระกูล สิริวัฒนภักดี แห่ง “ค่ายช้าง” และ ”SHR” ของตระกูลภิรมย์ภักดี  “ค่ายสิงห์” คือธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ที่สองผู้ยิ่งใหญ่ในธุรกิจ “น้ำเมา” ต้องการให้เป็นแหล่งเม็ดเงินแหล่งใหญ่แห่งใหม่ของตระกูล

โดยได้เข้าไปโลดแล่นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

ต่างฝ่ายต่างขยายอาณาจักรความยิ่งใหญ่โดยมีธุรกิจโรงแรมเป็นรายได้หลัก

แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ยึดหัวหาดในเมืองไทย และยังขยายความเสี่ยงไปยังธุรกิจด้านรีเทล และอาคารสำนักงานด้วย

ส่วนเอส โฮเทลแอนท์ รีสอร์ท หรือ SHR มีพอร์ตโรงแรม รีสอร์ตระดับพรีเมียมในต่างประเทศทั่วโลกเป็นฐานที่มั่นกว่า 70% โดยเฉพาะในอังกฤษมีถึง 29 แห่ง 

ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2563 ของ AWC กำไรลดฮวบ 55.6% ส่วนรายได้ ลดลง 30.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2562

 แล้วทั้ง 2 ค่ายนี้จะฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างไร คือความท้าทายสุดๆ

เป็นไปตามคาดให้ใหญ่แค่ไหนก็ต้านพิษโควิด-19 ไม่ได้ ในเมื่อรายได้หลักของ AWC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ส่งลูกสาว วัลลภา ไตรโสรัส เข้ามารับผิดชอบ ต้องเจอกับพิษโควิด-19 อย่างจัง

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ลดลงกว่า 80% ในขณะที่รายได้หลักของ AWC มาจากธุรกิจโรงแรมกว่า 60% และบริษัทยังต้องปิดให้บริการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว ตามมาตรการของรัฐ

ผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท ลดลง 55.6% จาก 243 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 2,512.9 ล้านบาท ลดลง 30.6% จาก 3,623.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

โดยแยกเป็นรายละเอียด คือ

กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ  มีรายได้ อยู่ที่ 1,534.6 ล้านบาท ลดลง 36.2% จาก 2,404.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 Retail & Commercial มีรายได้อยู่ที่ 1,014.3 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10.9% จาก 1,138.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

เป็นผลมาจากมาตรการลดหรือยกเว้นค่าเช่าชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19      

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาคารสำนักงานยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง และช่วยรักษาระดับรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ได้ผล

AWC มีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มูลค่า 124,921.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.4% จาก 109,158.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

ส่วน SHR ได้ประกาศหยุดทำการชั่วคราวโรงแรมทั้งหมดกว่า 30 แห่ง ทั้งในเมืองไทย (4 แห่ง)    

หนักสุดคือการปิดโรงแรมในสหราชอาณาจักร ที่บริษัทฯ มีโรงแรมอยู่ถึง 29 แห่ง ในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา และปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ก็ยังปิดอยู่ ในขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศยุโรปยังไม่คลี่คลาย

รวมทั้ง ธุรกิจโรงแรม ในมหาสมุทรอินเดีย ธุรกิจทั้งหมดในมัลดีฟส์ ในฟิจิ และมอริเชียส   

เรียกว่าเจอหนักสุดๆ ซ้ำเติมผลประกอบการในปี 2562 ที่ผ่านมาซึ่ง SHR ทำรายได้ 4,038 ล้าน แต่เป็นตัวเลขขาดทุนถึง 466 ล้าน

วันนี้ผลประกอบการของ SHR ไตรมาสแรกปี 63 ยังไม่ออก แต่ก็เคยมีข่าวแผนการขายหุ้นในสัดส่วน 50% ในบริษัท Prime Locations Management 3 Ltd มูลค่าราว 16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 520 ล้านบาท (อิงข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศ ณ 16 มี.ค. 63 ที่ราว 32.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่บริษัท Wai Eco World Developer Pte (EWD) ซึ่งเป็นนักลงทุนในเมียนมานั้นปัจจุบันขั้นตอนต่างๆ ได้เสร็จสิ้นแล้ว

ถ้าสามารถบันทึกรายการพิเศษจากการขายหุ้นดังกล่าวเข้าในงบการเงินได้ในช่วงไตรมาส 1/2563

ผลประกอบการของ SHR อาจจะไม่แย่อย่างที่คิด แต่แผนการรับมือในขณะที่เรื่องการท่องเที่ยวทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างหนักของกลุ่มนี้ต่อไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

  



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online