Creative Technologist รู้จักกับอาชีพคนเบื้องหลัง อีกฟันเฟืองสำคัญที่คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ขาดไม่ได้

บนโลกนี้มีอีกมากมายหลายอาชีพที่เรายังไม่รู้จัก

เช่นเดียวกับอาชีพ Creative Technologist ที่พอพูดถึงการเป็น Creative คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง Creative โฆษณา Creative รายการโทรทัศน์ ซึ่งล้วนแต่เป็น Creative เชิงคอนเทนต์ซะส่วนใหญ่

แต่เมื่อคำว่า Creative นั้นหมายถึง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และในเมื่อความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเหมือนน้ำที่เอาไปใส่ปรับใช้กับแก้วได้หลากหลายรูปทรง

วันนี้เราเลยจะพาผู้อ่านมารู้จักกับความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในแก้วของ ‘เทคโนโลยี’ กัน

จริงๆ แล้วงานของคนที่เป็น Creative Technologistนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวเรามากสักเท่าไร

เพียงแต่ความตื่นตาตื่นใจเวลาที่เราได้เห็นแสง-สี-เสียงจากชิ้นงาน อาจกลบความสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง

พูดไปก็คงจะไม่เห็นภาพ เอาเป็นว่าให้คลิปด้านล่างนี้อธิบายความเป็น Creative Technologistดีกว่า

โดยผู้ทำให้เกิดแสง-สี-เสียงต่างๆ ในคลิปด้านบนนี้ คือ หมี-ชวนันท์ อินทร์คำน้อย Creative Technologist และ Co-Founder ของ H-Lab สตูดิโอขนาดเล็ก ที่ทำคอนเสิร์ตสเกลใหญ่ระดับ Impact Arena มาแล้วมากมาย

(ด้านบนคือผลงานจาก H-Lab กับกำไลข้อมือไฟฟ้า ที่เอาไว้ให้ผู้เข้าชมคอนเสิร์ต D2B ได้สวมใส่

และทาง H-Lab ก็จะควบคุมกำไลไฟฟ้า จนกลายเป็นบรรยากาศคอนเสิร์ตที่สวยงามอย่างที่เราได้เห็นกันในคลิปด้านบน )

หมีอธิบายว่า Creative Technologistคือคนที่เอาความคิดสร้างสรรค์มาบวกกับเทคโนโลยี

และเมื่อสองสิ่งนี้มาเจอกัน มันก็จะกลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่สร้างประสบการณ์และความรู้สึกร่วมกับผู้คนได้มากขึ้น

ไม่เชื่อก็ลองจินตนาการตัวคุณเอง เวลาเห็นแสง-สี-เสียง ต่างๆ ในคอนเสิร์ตแล้วรู้สึกตื่นเต้นขนาดไหน

(หมี-ชวนันท์ อินทร์คำน้อย)

และแม้งานของ Creative Technologistจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพและเข้าใจกันในเวลาที่รวดเร็ว เราจึงขอยกตัวอย่างงานคอนเสิร์ตมาเล่าเป็น Case Study ให้ฟังกัน

โดยหลักๆ แล้วขั้นตอนการทำงานของ Creative Technologist จะเริ่มจากรับแบบและดีไซน์ของลูกค้ามา

ดูว่าลูกค้ามีไอเดียอยากทำให้งานออกมาเป็นแบบไหน และ Creative Technologistก็จะใช้เทคโนโลยีเข้าไปทำให้ไอเดียนั้นกลายเป็นจริง

หมียกตัวอย่างงาน J ADRENALINE 360 CONCERT ของเจ-เจตริน มาเล่าให้ฟังว่า

“สิ่งที่ลูกค้าบรีฟมาคือ มันจะมีวัตถุที่เป็นทรงกลมขนาดใหญ่อยู่กลางเวทีแบบ 360 องศาเหมือนกับชื่อคอนเสิร์ต

และอยากให้มีดวงไฟออกมาจากจุดต่างๆ อยู่รอบๆ ซึ่งไฟแต่ละดวงก็ต้องมีลูกเล่นของมัน สามารถสั่งงานเฉพาะแต่ละดวงได้ หรือยิงแสงออกมาตามจังหวะเพลงได้

พอได้โจทย์มาแบบนี้ สิ่งแรกที่ผมกับทีมทำ ก็คือต้องย่อส่วนวงกลมกลางเวทีนั้นให้เป็นวงกลมขนาดเท่าฝ่ามือก่อน

เป็นการทำโมเดล เพื่อนำมาพล็อตจุดต่อ ว่าไฟดวงนี้จะต้องต่อตรงเข้ากับมอนิเตอร์ตัวนี้ เพื่อให้สามารถควบคุมไฟทุกดวงแบบแยกออกจากกันได้

เมื่อทดลองพล็อตจุดดวงไฟต่างๆ ในโมเดลเสร็จ ก็จะย้ายมาทดลองกับของจริงบนเวที

ซึ่งนอกจากความยากเชิงเทคนิคแล้ว ก็ยังมีความยากในการสื่อสารด้วยเหมือนกัน

เพราะการทำงานใหญ่แบบนี้มันไม่ได้มีแค่ทีมเราทีมเดียว แต่ยังมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะแยะมากมาย ก็เลยต้องคุย ต้องสื่อสารให้คนอื่นเขาเข้าใจ ว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นเป็นแบบไหน”

แม้จะดูเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคเยอะ แต่หมีบอกว่าคนที่จะเป็น Creative Technologistนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานเรื่องงานช่างหรือจบวิศวะ-คอมพ์เสมอไป

เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้กันทีหลังได้ หากมีความคิดสร้างสรรค์ และความพยายามที่จะ Adapt ความคิดเหล่านั้นกับเทคโนโลยีให้เกิดความน่าสนใจมากพอ

แม้จะเป็นงานที่ดูซับซ้อน แต่เพราะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หมีจึงอยู่กับการเป็น Creative Technologistมาได้หลายปี

เพราะนอกจากจะได้สร้างสรรค์งานตามโจทย์ของลูกค้าแล้ว นี่ยังเป็นงานที่ทำให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามโจทย์ความต้องการของตัวเองด้วยเหมือนกัน

โดยเมื่อมีเวลาว่างเขาจะใช้เวลาขลุกอยู่กับอุปกรณ์ Hardware ต่างๆ เพื่อแกะมัน รื้อมัน แล้วต่อมันให้กลายเป็นสิ่งใหม่

เป็นเหมือนกับเชฟเพียงแต่เปลี่ยนจากวัตถุดิบที่เป็นอาหาร มาเป็นวัตถุดิบที่เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ แทน

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ H-Lab แตกต่างและทำเงินได้ ก็เพราะความรื้อแคะแกะเกาของเรานี่แหละ

มันเลยทำให้เรามีอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีขายในท้องตลาด อยากครีเอตงานอะไร ก็ทำอุปกรณ์ขึ้นมารองรับไอเดียเองได้

และด้วยความซนของเรา ก็เลยทำให้กรอบในการทำงานของเรากว้างขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน

เหมือนเป็น Hacker อุปกรณ์นั่นแหละ

พอซนเยอะก็พังเยอะ ที่สตูดิโอของเราก็เลยมีกล่องล้มเหลววางเอาไว้ นับวันจะเริ่มกองสูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ผมว่าความล้มเหลวตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ดีนะ มันเป็นเหมือนสิ่งเตือนใจว่าเราเคยทำอะไรพลาดไปแล้วบ้าง เวลาทดลองอะไรใหม่จะได้หลีกเลี่ยงในสิ่งที่เคยทำพลาดไปแล้ว

เพราะต้องยอมรับพลาดแต่ละครั้งเงินทั้งนั้น เวลาสายไฟไหม้ อะไรระเบิด มันเสียของทั้งนั้น

แต่พอมีกล่องนี้มาคอยเตือนใจ ก็ทำให้เราทำพลาดน้อยลง

แล้วก็เหมือนเป็นการตัดช้อยส์ที่ทำให้เราเจอกับสิ่งที่ถูกต้องได้มากขึ้น”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online