ตลาด Food Delivery ถึงจุดเดือด เมื่อ ธนาคารกสิกรไทย ขอร่วมแจมสร้างแพลตฟอร์มให้กับร้านอาหาร (วิเคราะห์)

สงครามแพลตฟอร์มสั่งอาหาร สนุกขึ้น เมื่อธนาคารกสิกรไทย ในส่วนของบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดบริการแพลตฟอร์มร้านอาหาร Eatable เข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับร้านอาหารที่ไม่ใช่บริการ Food Delivery เท่านั้น

เพราะ กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)และทีมผู้พัฒนา Eatable แจ้งกับสื่อมวลชนผ่านการแถลงข่าวออนไลน์เปิดบริการ Eatable ว่า Eatable ไม่ใช่แอปฯ สั่งอาหาร แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ร้านค้าในด้านต่างๆ เพื่อปรับตัวสู่ดิจิทัล พร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

แพลตฟอร์มนี้ประกอบด้วยบริการสั่งอาหารในร้านค้าผ่านเมนูออนไลน์สำหรับทานในร้าน สั่งอาหารกลับบ้าน และบริการเดลิเวอรี่ ในรูปแบบ 3 ภาษาทั้งไทย อังกฤษ และจีน

โดยร้านค้าที่สนใจ สมัครเข้าร่วม Eatable เพื่อให้ KBTG นำเมนูอาหารในร้านเข้าสู่ระบบออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารในร้าน สแกน QR Code เมนูอาหาร เพื่อสั่งอาหารผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเองโดยไม่ต้องสัมผัสเมนูอาหารของร้าน

บริการต่างๆ ทำงานอยู่บน Web Base ผ่าน URL เว็บไซต์ โดยผู้ใช้งานทั้งร้านค้า และลูกค้าไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นมาติดตั้ง

ซึ่งบริการนี้ทีม Eatable กล่าวว่า เป็นการลดการสัมผัสระหว่างลูกค้ากับเมนูอาหารสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการสั่งอาหารมากขึ้น

ส่วนลูกค้าที่สั่งอาหารเดลิเวอรี่สามารถสแกน QR Code ดูเมนูและสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ได้เช่นกัน โดยร้านค้าสามารถเลือกบริการส่งเอง หรือบริการส่งอาหารจากพาร์ทเนอร์ที่ร่วมกับ Eatable โดยคิดค่าส่งตามระยะทางตามผู้ให้บริการแต่ค่าย พร้อมบริการแนะนำร้านค้ามอบส่วนลดในการส่งอาหารให้กับลูกค้าในราคาที่เหมาะสม

จากบิซิเนสโมเดลที่กล่าวมา กระทิง มองว่า จะสามารถสร้างประสบการณ์ในการทานอาหาร ลดภาระของพนักงานหน้าร้าน และสร้างความสะดวกในการให้บริการเดลิเวอรี่ให้กับร้านค้า โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ

โดยในวันนี้ Eatable เปิดให้บริการ Public Bata ให้ร้านค้าที่สนเข้ามาเพื่อทำ QR Code ให้บริการกับลูกค้าได้ทัน พร้อมกับขยายบริการชำระค่าอาหารผ่านออนไลน์ได้ในเดือนกันยายน 2563 และร่วมมือกับ We Chat ให้บริการ ไคไท่เตี่ยนไช่ (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท (WeChat) ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในอนาคต

การที่ KBTG เปิดให้บริการ Eatable ไม่เก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ กระทิง กล่าวว่ามาจากวิชั่นของธนาคารในการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่ช่วยเหลือลูกค้าด้วยใจ

กระทิง กล่าวว่า Eatable ไม่ใช่แอปเหมือนกับแอปที่โลดแล่นอยู่ใน ตลาด Food Delivery ทั่วไป แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือร้านอาหารให้สามารถเติบโตบนสถานะการมูลค่าธุรกิจอาหารรวม 3.8 แสนล้านบาท ติดลบ 10% จากวิกฤตโควิด-19

แต่ลึกๆ แล้ว Marketeer มองว่ามีวัตถุประสงค์ที่มากกว่านั้น

1.ขอเป็นทางเลือกแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์จากคู่แข่ง

แม้กระทิงจะบอกว่า Eatable เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือร้านอาหาร ไม่ใช่ Food Delivery แต่หนึ่งในบริการของ Eatable คือบริการอาหาร Delivery ที่ให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านออนไลน์ได้ โดยร้านค้าจะเป็นผู้เลือกวิธีการส่งอาหารด้วยตัวเองโดยสามารถส่งเอง หรือให้พาร์ทเนอร์ที่มีบริการรังส่งสินค้าออนดีมานด์เป็นผู้ส่ง เช่น แกร๊บ สกู๊ตตาร์ และอื่นๆ พร้อมคิดค่าส่งตามระยะทาง และไม่คิดค่า GP หรือค่าธรรมเนียมจากร้านค้า

ซึ่งบริการนี้มีความคล้ายกับโรบินฮู้ดของไทยพาณิชย์ที่ไม่คิดค่า GP และคิดค่าส่งตามจริง โดยการจับมือร่วมกับสกู๊ตตาร์ในการให้บริการ

มาร์เก็ตเธียร์เชื่อว่าเมื่อ Eatable เปิดให้บริการ และมีร้านอาหารที่เข้ามาร่วมแพลตฟอร์มมากขึ้น บริการสั่งอาหารเดลิเวอร์จะเป็นหนึ่งในบริการที่สำคัญที่ลูกค้าเลือกที่จะใช้บริการ จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ New Normal ที่นิยมสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน หรือที่ทำงานมากขึ้น และทำให้ Eatable เป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้โดยปริยาย

และผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกแพลตฟอร์มที่ใช่ที่สุดสำหรับพวกเขาเพื่อเป็นใช้บริการ

2.สร้างความเป็นธนาคารที่รักของร้านอาหาร

ร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในลูกค้าที่สำคัญของธนาคารที่สามารถต่อยอดไปยังบริการต่างๆ เช่นบริการสินเชื่อ บริการบัญชีเงินฝาก รวมถึงบริการ QR Payment

และการที่ธนาคารคู่แข่งเปิดแพลตฟอร์ม Food Delivery ไม่คิดค่า GP ย่อมเป็นไปได้ว่าจะมีร้านอาหารส่วนหนึ่ง เริ่มหันไปใช้บริการคู่แข่ง

การให้บริการแพลตฟอร์ม Eatable จึงเป็นหนึ่งแม่เหล็กที่น่าสนใจของกสิกรไทยที่จะดึงให้ร้านอาหารรู้สึกผูกพันธ์กับธนาคาร และมองธนาคารกสิกรไทยเป็นแบรนด์ธนาคารที่รักและให้ความสำคัญกับร้านอาหารพร้อมเครื่องมือในการช่วยเหลือด้านต่างๆ

3.ดาต้าเบสร้านอาหารที่สามารถต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ

จุดเด่นของบริการ Eatable นอกจากจะมีบริการสั่งอาหารออนไลน์แล้ว ยังมีบริการเมนูออนไลน์ให้ลูกค้าในร้านสั่งอาหารในร้านผ่าน QR Code ได้ รวมถึงการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ในอนาคต

ซึ่งการให้บริการทั้งหมดนี้ทำให้ธนาคารกสิกรไทยรู้จักและเรียนรู้ร้านค้ามากขึ้น ทั้งยอดการสั่งอาหาร จำนวนรายได้เฉลี่ยต่อโต๊ะ รายได้เฉลี่ยต่อวัน เพื่อเป็นดาต้าเบสในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อ หรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถเรียนรู้พฤติกรรมและความชอบลูกค้าในการรับประทานอาหารเพื่อนำดาต้าเบสมารวมกับดาต้าเบสอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนำเสนอบริการได้ตรงจุดอีกด้วย

ทั้งนี้ แม้ Eatable จะพัฒนาเสร็จสิ้นตั้งแต่เมษายน 2563 ก่อนที่จะชะลอการเปิดตัวออกไปเพราะโควิด-19 แต่การเข้ามาลงเล่นในสังเวียรร้านอาหารดิจิทัล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของธนาคารกสิกรไทยที่จะพาตัวเองไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้าทุกเซ็กเมนต์บนแนวคิดการเป็นธนาคารที่อยู่ในใจผู้บริโภคต้องเป็นมากกว่าธนาคาร แต่คือธนาคารแห่งความยั่งยืนที่ช่วยเหลือลูกค้าด้วยใจ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online