“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” คือวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศก้าวสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0” ด้วยความมุ่งมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยึดหลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่ว่าคนไทยจะมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม

ซึ่งหากต้องการให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกำลังในการผลักดันสูง ไม่ว่าจะในแง่ของเงินทุน ทรัพยากร บุคลากร และเครือข่ายต่างๆ

และเป็นเรื่องน่ายินดีว่า ภาคธุรกิจหลายฝ่ายก็เริ่มหันมาทำธุรกิจแบบที่ให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วม (Inclusive Business) โดยเน้นสร้างผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนมากกว่าจะสร้างภาพลักษณ์และผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนในระยะเวลาสั้นๆ เหมือนแต่ก่อน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองต่อไปได้โดยไม่ต้องคอยพึ่งพาความช่วยเหลือหรือเงินสนับสนุน

แอดมินชอบตัวอย่างแนวคิดหนึ่ง ในเรื่อง Inclusive Business ที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้แก่คนในชุมชน

ก็คือ ชุมชนต้นแบบท่ามะนาว เริ่มต้นเกิดจากความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์กับกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู ทาง ปตท. และชาวบ้านจึงร่วมกันวางท่อส่งก๊าซชีวภาพ จากฟาร์มหมูไปสู่ชุมชน ทั้งนี้การเลี้ยงหมู 700-800 ตัวต่อ 1 ฟาร์ม สามารถผลิตเชื้อเพลิงให้ชาวบ้านใช้ได้ประมาณ 40 ครัวเรือน ช่วยชุมชนประหยัดเงินค่าใช้ไฟฟ้าได้ราว 6,990 บาท/ปี ลดค่าใช้จ่ายด้านก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ประมาณ 65,230 บาท/ปี และประหยัดค่าน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในฟาร์มถึง 67,500 บาท/ปี รวมถึงยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 196.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี อีกด้วย

 

 

อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นโซล่าเซลล์ลอยน้ำ พลังงานสะอาดเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีแนวคิดแบบ Inclusive Business ระบบโซล่าเซลล์แบบติดตั้งลอยน้ำ หรือ Floating PV ในชุมชน ต.คำแคน จ.ขอนแก่น เป็น 1 ใน 4 แห่งที่ ปตท. ทำการศึกษาและขยายผลไปสู่ศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชนทั่วประเทศ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำให้ชุมชนได้ถึง 22,000 บาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.56 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน 22 ครัวเรือน

นอกจากนี้ บางธุรกิจก็ทำธุรกิจเพื่อช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม สร้างงานและอาชีพที่มั่นคงให้แก่คนในชุมชน อันเป็นรากฐานความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์

อย่างเช่น ธุรกิจ Once Again Hostel โฮสเทลที่ร่วมมือกับคนชุมชนย่านเก่าแก่ในกรุงเทพมหานครที่กำลังจะถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยความคึกคักของนักท่องเที่ยว ด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชน ที่ให้แขกที่มาพักในโฮสเทลได้ลงไปสัมผัสวิถีชีวิตในย่านเก่าแก่ การว่าจ้างงานคนในชุมชนให้มาทำงานในโฮสเทล รวมไปถึงการสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ในวันหยุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน เป็นวงจรธุรกิจที่ยั่งยืน

หรือกิจการการท่องเที่ยวชุมชนไอเดียดีอย่าง Local Alike ก็สร้างธุรกิจขึ้นมาภายใต้แนวคิดที่ว่า การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนคือ การที่ชาวบ้านหรือชุมชนต้องเป็นเจ้าของทรัพยากร สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นๆ ได้ โดยมี Local Alike เป็นพาร์ทเนอร์เชื่อมโยงระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนเข้าด้วยกัน

Local Alike จะทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อค้นหาว่าอะไรคือจุดแข็งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากเข้ามาสัมผัสประสบการณ์เฉพาะตัวของชุมชน เช่น วิถีชีวิตชาวประมงที่เกาะยาวน้อย จ.ภูเก็ต บริการโฮมสเตย์ หรือจุดชมวิวที่สวยงามแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ซึ่งธุรกิจนี้ นอกจากจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับทั้งชุมชนและ Local Alike เองแล้ว ยังช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนไปพร้อมกันด้วย เช่น เมื่อหมู่บ้านหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมเยอะขึ้น ก็เกิดการจัดการขยะที่ดีขึ้น หรือเกิดการอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรให้สวยงามคงเดิมหรือดียิ่งๆ ขึ้น เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามเอาไว้นั่นเอง

เพราะว่าการสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย 4.0 นั้น ทุกๆ ฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือชุมชน ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นแต่การสร้างผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และพลวัตของวิถีชุมชนในสังคมที่จะต้องไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และยังคงดำเนินอยู่ไปพร้อมกัน อย่าง “เกื้อกูล”นั่นเอง

 

อ้างอิง

http://www.thaigov.go.th/uploads/document/22/2016/09/pdf/p1.pdf

http://www.prd.go.th/ewt_news.php?nid=182784&filename=index5

http://www.creativemove.com/interview/local-alike/

http://www.jobthai.com/REACH/inspiration/ทำความรู้จักตัวอย่างธุรกิจ-social-enterprise-ที่น่าสนใจในเมืองไทย.html



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online