การสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ และการบริหารธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย

การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ Corporate Social Responsible – CSR ให้เกิดคุณค่าอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมาจากการส่งผ่านองค์ความรู้ หรือการนำนวัตกรรมจากภาคธุรกิจไปสู่ชุมชนและสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จนชุมชนสามารถพัฒนาและต่อยอดสร้างความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง นำไปสู่สังคมที่พึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

หนึ่งในองค์กรชั้นนำของไทยที่นำแนวคิดด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคม นั่นก็คือ “เอสซีจี เคมิคอลส์” ธุรกิจเคมีภัณฑ์ใน เอสซีจี ซึ่งเห็นได้จากหลายโครงการที่ทางบริษัท ฯ ได้ทำร่วมกับชุมชนในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์” (Fish home by SCG Chemicals)

โครงการ “บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์” เกิดขึ้นในปี 2555 โดยเริ่มจากแนวคิดเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Waste to Value ซึ่งบริษัท ฯ ได้ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งธุรกิจเม็ดพลาสติกเพื่อผลิตท่อทนแรงดันสูง หรือท่อ PE 100 สำหรับนำไปใช้ในการขนส่งน้ำ หรือ ก๊าซ ได้มีท่อที่เหลือจากการขึ้นรูปเพื่อทดสอบคุณภาพของเม็ดพลาสติก จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการหาวิธีนำท่อเหล่านี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อชุมชนแทนการกำจัดตามมาตรฐานของโรงงาน

เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ทำให้พนักงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ได้มีโอกาสพบปะใกล้ชิดกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และได้รับทราบปัญหาเรื่องการลดน้อยลงของปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ บริเวณชายฝั่งในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ ทีมงานหลายทีมภายในเอสซีจี เคมิคอลส์ เช่น ทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) ทีมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) จึงได้เริ่มศึกษาและออกแบบบ้านปลาโดยนำท่อ PE 100 ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบมาเป็นวัสดุ ซึ่งท่อเหล่านี้เป็นวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบบ้านปลาจากท่อ PE 100 ในครั้งนั้น มีหลายภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สบทช.) และยังได้ภูมิปัญญาพื้นบ้านจากกลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง มาร่วมแนะนำด้วย

จนกลายมาเป็นบ้านปลาทรงสามเหลี่ยมคล้ายหลังคาบ้านในปัจจุบัน และเกิดเป็นโครงการ “บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์” (Fish home by SCG Chemicals)

โดยเป้าหมายของโครงการบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ ไม่ใช่เพียงแค่ฟื้นฟูท้องทะเลให้สมบูรณ์อีกครั้ง แต่รวมถึงการเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้ประมงพื้นบ้านไทยกลับมามีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดย‘ความยั่งยืน’ ในที่นี้ต้องเกิดจากการร่วมมือกันจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งภาคเอกชน หน่วยงานราชการ และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

ในปีที่ 6 นี้ Marketeer จะพามาดูความคืบหน้า พร้อมผลลัพธ์ของโครงการที่จะทำให้เรารู้ว่า การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นอย่างไร

ความร่วมมือร่วมใจ คือ กุญแจสำคัญให้โครงการยั่งยืน

สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการก้าวมาสู่ปีที่ 6 และยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดจาก “ความร่วมมือร่วมใจ” และ “การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่” โดยการสร้างบ้านปลาแต่ละครั้งจะมีจิตอาสาทั้งที่เป็นพนักงานเอสซีจี และผู้สนใจจากภายนอกมาร่วมกับชุมชนประมงพื้นบ้าน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการสร้างบ้านปลา ซึ่งตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สามารถวางบ้านปลาได้กว่า 1,000 หลัง ในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

อย่างไรก็ตาม การสร้างบ้านปลาเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องจำนวนปลาที่ลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่ การดูแลพื้นที่ที่วางบ้านปลาไปแล้ว ซึ่งกลุ่มประมงพื้นบ้านหัวใจอนุรักษ์จะช่วยกันรักษาบ้านปลาที่ได้รับโดยกำหนดบริเวณให้เป็น “พื้นที่อนุรักษ์” ซึ่งกลุ่มประมงจะตกลงร่วมกันว่าจะหาปลานอกเขตนี้เท่านั้น เพื่อให้ที่นี้เป็นแหล่งอนุบาลลูกปลา ให้เหล่าสัตว์น้ำมีระยะเวลาฟื้นฟูเติบโตได้อย่างเต็มที่

และภายหลังที่วางบ้านปลาไป เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังร่วมกับ สบทช. และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ทำการสำรวจบ้านปลาที่ถูกวางเป็นประจำทุก 3 เดือน พร้อมระบุพิกัด GPS แต่ละจุดเพื่อช่วยในการติดตามอย่างต่อเนื่อง

 

ก้าวสู่ปีที่ 6 บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์

จากปี 2555 จุดเริ่มต้นโครงการบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ปากคลองแกลง จ.ระยอง ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีมีการขยายโครงการ ฯ ไปทั่วชายฝั่งระยอง และเริ่มขยายไปที่ จ.ชลบุรี จนมาถึงในปี 2560 บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ กว่า 1,000 หลังได้ถูกวางลงสู่ทะเลเป็นบ้านใหม่ให้กับเหล่าปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กมากมาย ในพื้นที่ทั้งหมด 28 กลุ่มประมง  นอกจากนี้ในอนาคต เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังมุ่งมั่นที่จะขยายโครงการ ฯ ไปยังเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านที่มีใจอนุรักษ์ในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดชายฝั่งภาคตะวันออกอย่าง ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราดอีกด้วย

 

ทำไมท่อส่งน้ำจึงเหมาะกับการทำบ้านปลา

รูปแบบบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ มีท่อ PE100 เป็นวัสดุหลัก ซึ่งรูของท่อจะช่วยให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก  และด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนจึงเหมาะกับการให้ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เข้ามาอยู่ในช่องว่างต่าง ๆ   โดยการจัดวางบ้านปลาใต้ทะเลนั้นจะถูกวางในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง น้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร โดยจัดวางใกล้กันอย่างน้อย 10 หลัง คิดเป็นพื้นที่ราว 20 ตารางเมตรต่อหนึ่งหมู่บ้านปลา

ข้อดีของบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ “ทรงสามเหลี่ยมปิรามิด”

  • มุมน้อยลง ลดปัญหาขอบท่อเกี่ยวอวนขาด
  • ประกอบง่ายขึ้น ใช้วัสดุน้อยลง
  • น้ำหนักเบาลง ใช้คนในการขนย้ายน้อยลง
  • สามารถบรรจุในเรือเล็กได้จำนวนมากขึ้น โดยการวางเรียงสลับคว่ำหงายต่อกัน
  • คงทนต่อกระแสน้ำ ไม่พลิกหรือเคลื่อนย้าย เมื่อนำไปวางในทะเล

 

ความสำเร็จของโครงการบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ในวันนี้ ไม่ใช่แค่การขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลตะวันออกเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าชื่นชมคือ การส่งผ่านองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีของภาคธุรกิจให้กับชุมชน จนกลายเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) และการร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ ฝ่ายที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และคืนความอุดมสมบูรณ์ของทะเลชายฝั่งไทยให้ดีขึ้นอีกครั้ง

หากใครอ่านแล้ว สนใจโครงการบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังสามารถไปตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scgchemicals.com/fishhome

 เมื่อปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายกลับมา วิถีชีวิตชาวประมงเรือเล็กก็ยังคงอยู่ ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online