ปันโปร ทำไมปัง ? เจาะลึกกลยุทธ์ของเพจเล็กๆ แต่กลับมี Followers ถึงกว่า 4 ล้าน (การตลาด)

จากจุดเริ่มต้นของชายหนุ่มคนหนึ่งที่หลังจากทำงานเสร็จก็มักจะเอาเวลาไปเดินเล่นตามห้างต่าง ๆ เพื่อรอแฟนเลิกงาน จนทำให้เห็นป้ายโปรโมชั่นที่แปะอยู่ตามร้านต่าง ๆ มากมาย เขาจึงมักจะแชร์โปรโมชั่นที่เห็นไปตามกลุ่มเพื่อน เมื่อเห็นว่าเพื่อนชอบจึงขยายวงกว้างด้วยการทำเพจที่เอาไว้แบ่งปันโปรโมชั่น

และใครจะคิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในวันนั้น จะกลายมาเป็นเพจที่มียอด Followers กว่า 4.4 ล้านอย่าง ‘ปันโปร’ อย่างทุกวันนี้

ชายหนุ่มที่เรากำลังพูดถึงคือ เปาว์-ปวริศ ขาวสำอางค์ CEO และ 1 ใน 6 Co-Founder ของปันโปร เพจที่พูดชื่อไปแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก

ที่น่าสนใจคือเพจไลฟ์สไตล์ที่ดูง่าย ๆ แบบนี้ เบื้องหลังของมันกลับเต็มไปด้วยการทำงานบนพื้นฐานของ Data มากมาย

แล้วปันโปรแปลง Data สิ่งที่หลายคนมองว่ายากให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายได้อย่างไร

ด้านล่างนี้คือคำตอบ

ซ้าย -ปวริศ ขาวสำอางค์     ขวา – เจฟ-กฤษฎา ตั้งกิจ

1

Followers กว่า 75% ของเพจปันโปรคือผู้หญิง และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ Founder ทั้ง 6 คนของปันโปรล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งนั้น

โดย เจฟ-กฤษฎา ตั้งกิจ อีกหนึ่ง Co-Founder ของปันโปรบอกกับเราว่า Data คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ชายอย่างพวกเขาเข้าใจ Followers ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นได้

ยกตัวอย่างการนำ Data มาปรับใช้ให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็อย่างเช่นการนำฟีดแบคของแต่ละคอนเทนต์มาดูว่าเป็นอย่างไร รูปแบบการโพสต์แบบไหนที่คนชอบ เพื่อจะได้ใช้มันเป็นแนวทางในการทำคอนเทนต์ต่อ ๆ ไป

2

ในแง่มุมของการขายโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของปันโปร การมี Data ก็ยังเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าของโฆษณาด้วยเช่นกัน

เพราะเมื่อรู้ว่า Followers ชอบหรือไม่ชอบอะไร ต้องออกโปรแบบไหนถึงจะถูกใจ ก็ทำให้ปันโปรสามารถนำ Data ตรงนี้เข้าไปช่วยแบรนด์คิดโปรโมชั่นที่จะตอบโจทย์ความต้องการของ Followers ได้มากขึ้น

และมันก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโฆษณาได้มากกว่าการรีโพสต์ทั่ว ๆ ไป

3

ปันโปรยังนำ Data มาใช้ในการแตกไลน์ของธุรกิจ จนกลายมาเป็นอีกหลาย ๆ เพจที่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ปันโปร XL, ปันโปรตัวแม่, ตู้ซ่อนหมี

ยกตัวอย่างเช่นเพจปันโปร XL ก็ไม่ได้ทำมาเพราะแค่ความชอบ แต่ทำมาเพราะ Data ที่เห็นว่าเวลาโพสต์โปรโมชั่นที่เกี่ยวกับอาหารแล้วจะได้รับ Engagement ที่ดีกว่าโปรโมชั่นอื่น ๆ

Data ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนมีความสนใจในเรื่องของอาหารเป็นอย่างมาก และเมื่อสนใจก็แตกไลน์ธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางของรายได้

หรือแม้แต่กับ Feature รับหิ้ว ที่อยู่ใน Application ของปันโปรเองก็เกิดมาจาก Data ที่เห็นว่ามักจะมีผู้คนมาคอมเมนต์หาคนหิ้วสินค้าตามงานต่าง ๆ ให้

4

จาก Data ในเพจ ทำให้เปาว์พบความจริงบางอย่างที่ว่าบางครั้งการลดเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะแห่ไปซื้อเยอะตามเสมอไป

เพราะบางครั้งแบรนด์ที่ลดเพียง 10% แต่เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้ลดรอยู่บ่อย ๆ แม้เพียงแค่ 10% ก็ทำให้ผู้คนสนใจได้มากเหมือนกัน

กลับกันหากอีกแบรนด์หนึ่งลด 70% แต่เป็นการลดราคาที่ทำอยู่บ่อย ๆ ผู้คนก็จะคิดว่า 70% นั้นคือเป็นราคาปกติ รู้สึกว่าไม่ต้องรีบซื้อก็ได้เดี๋ยวก็คงจะเอามาลดใหม่ และจากที่คิดจะจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายก็กลายเป็นว่าผู้คนรู้สึกชินชาแม้จะลดราคามากเท่าไหร่ก็ตาม

5

ปันโปรมีทีมงานเกือบ 100 คน โดยเกินครึ่งหรือกว่า 60 คนในนั้นเป็นทีมทำคอนเทนต์

ที่ต้องใช้ทีมงานมากขนาดนี้ ก็เพราะปันโปรตั้งธงเอาไว้ในใจว่าพวกเขาอยากจะเป็นที่ 1 ในด้านของโปรโมชั่น จึงต้องส่งทีมไปให้ครอบคลุมและทั่วถึงตามงานต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

6

สิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้จักปันโปร ไม่ใช่เพราะการเป็นแค่เพจที่รวบรวมโปรโมชั่น

แต่คือการบุกเข้าไปในงานแล้วถ่ายภาพให้ผู้คนได้เห็นกันแบบชัด ๆ ว่ามีไอเท็มไหนราคาเท่าไหร่ ลดเท่าไหร่บ้าง

เปาว์เล่าให้เราฟังว่านี่เป็น Pain Point ที่เขาพบเจอมาด้วยตัวเองแต่แรก คือเห็นงานหนึ่งโปรโมทว่าลดราคาจึงขับรถไปซะไกล แต่เมื่อไปถึงกลับไม่มีอะไรน่าสนใจอย่างที่คิดไว้

ในมุมกลับกันก็มีอีกหลาย ๆ งานที่แอบอยู่ในซอบหลืบของห้างแต่โปรโมทไม่ดี ไม่ค่อยมีคนรู้จัก

นี่จึงกลายมาเป็นแนวทางหลักในการทำคอนเทนต์ของปันโปรเลยก็ว่าได้ ที่ต้องทำให้คนอ่านได้เห็นภาพในงาน ดูว่ามีไอเท็มชิ้นไหนลดราคาเท่าไหร่บ้าง เพื่อจะได้ไม่เสียเที่ยวเสียเวลาในการเดินทางไปไกล ๆ แล้วไม่ได้ของอย่างที่หวัง

ที่สำคัญคนอ่านก็จะได้ไม่เสียความรู้สึกกับเพจด้วยเช่นกัน

7

หากว่ากันด้วย Business Model ปันโปร ถือเป็นธุรกิจที่มี Barrier Of Entry ต่ำ

หมายถึงเป็นธุรกิจที่คนอื่น ๆ สามารถทำเลียนแบบตามได้ง่าย และนั่นก็หมายถึงคู่แข่งที่มากขึ้นไปด้วย

เมื่อถามว่าแล้วพวกเขามีวิธีทำให้ปันโปรแตกต่างและยืนหนึ่งในสายเพจโปรโมชั่นได้อย่างไร สิ่งที่เปาว์และเจฟตอบกลับเรามาก็ยังคงเป็นเรื่องของการนำ Data มาพัฒนาคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ตรงใจผู้คน รวมถึงการไม่หยุดนิ่งทั้งในแง่ของคอนเทนต์และมองหาอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online