ธุรกิจสายการบิน ช่วงโควิด ผลประกอบการเป็นอย่างไร ? กรณีศึกษา การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส และ AOT
นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก เกิดการปิดประเทศ ปิดน่านฟ้า จำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงที่จำกัดมากขึ้น
การจำกัดการเดินทางส่งผลกระทบกับธุรกิจสายการบินที่มีรายได้หลักมาจากการบริการขนส่งผู้โดยสารจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 ข้อมูลจาก บมจ. ท่าอากาศยานไทย พบว่าจำนวนเที่ยวบินจากในและนอกประเทศที่เข้ามาใช้บริการสนามบินที่ให้บริการโดย บมจ. ท่าอากาศยานไทย มีจำนวนเหลือเพียง 214,469 เที่ยวบิน ลดลง 52.35% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีเที่ยวบินมากถึง 450,046 เที่ยวบิน
และจำนวนผู้โดยสารเหลือเพียง 28,424,126 คน ลดลง 60.65% จาก 72,231,757 คน ในช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
สำหรับไตรมาสสองของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปิดสนามบินทั้งในและต่างประเทศจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ และเปิดให้เพียงสายการบินเช่าเหมาลำขนส่งผู้โดยสารกลับประเทศของตน ก่อนที่จะค่อย ๆ เปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันในประเทศและต่างประเทศตามข้อยกเว้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายในเดือนมิถุนายน 2563
ในไตรมาสสองมีจำนวนเที่ยวบินที่ใช้บริการ บมจ. ท่าอากาศยานไทย 24,539 เที่ยวบิน รองรับผู้โดยสาร 1,427,959 คน จากไตรมาสสองของปี 2562 ที่มีเที่ยวบินถึง 216,896 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 33,473,554 คน
ส่วนจำนวนเที่ยวบินที่ใช้บริการสนามบินของกรมท่าอากาศยาน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีจำนวน 40,788 เที่ยวบิน ขนส่งผู้โดยสาร 4,419,122 คน จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่มีจำนวนเที่ยวบิน 71,929 เที่ยว ผู้โดยสาร 9,299,011 คน
และในไตรมาสสองของปี 2563 มีจำนวนเที่ยวบิน 6,773 เที่ยวบิน ขนส่งผู้โดยสาร 493,614 คน ลดลงจากไตรมาสสองปี 2562 ที่มีจำนวนเที่ยวบิน 34,916 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 4,396,290 คน
รวมทั้ง บมจ. ท่าอากาศยานไทย และกรมท่าอากาศยาน
ครึ่งปีแรก 2563
จำนวนเที่ยวบิน 255,257 เที่ยวบิน ลดลงจากครึ่งปีแรก ปี 2562 ที่มีเที่ยวบิน 521,975 เที่ยวบิน
จำนวนผู้โดยสาร 32,843,248 คน ลดลงจากครึ่งปีแรก ปี 2562 ที่มีผู้โดยสาร 81,530,768 คน
ไตรมาสสอง 2563
จำนวนเที่ยวบิน 31,312 เที่ยวบิน ลดลงจากครึ่งปีแรก ปี 2562 ที่มีเที่ยวบิน 251,812 เที่ยวบิน
จำนวนผู้โดยสาร 1,921,573 คน ลดลงจากครึ่งปีแรก ปี 2562 ที่มีผู้โดยสาร 37,869,884 คน
เมื่อจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างที่เราเห็น แล้วสายการบินในตลาดหลักทรัพย์มีผลกระทบด้านรายได้อย่างไร
การบินไทย
กลุ่มการบินไทยและไทยสมายล์แอร์เวย์ ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการสายการบินที่มีทั้ง Full Service และ Low Cost Airline ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19
ในครึ่งปีแรก 2563 กลุ่มการบินไทยให้บริการรับส่งผู้โดยสารลดลงเหลือเพียง 3,497,000 คน จากเที่ยวบิน 15,685 เที่ยวบิน เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ที่มีผู้โดยสารเดินทางมากถึง 9,448,000 คน
ส่วนไตรมาสที่ 2/2563 ให้บริการรับส่งผู้โดยสารเพียง 5,000 คน จาก 635 เที่ยวบิน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำ รับส่งคนไทยและเทศกลับบ้าน จากช่วงเวลาปกติในไตรมาสสองของปี 2562 ที่มีผู้โดยสารมากถึง 4,490,000 คน ผ่านเที่ยวบิน 17,685 เที่ยวบิน
การลดลงของจำนวนผู้โดยสารที่ชัดเจน ผลประกอบการในไตรมาสสองที่ธุรกิจสายการบินรับผลกระทบอย่างหนักจากการให้บริการ การบินไทยมีรายได้เพียง 2,492 ล้านบาท เท่านั้น
ผลประกอบการการบินไทย ไตรมาส 2/2563
รายได้ 2,492 ล้านบาท (เม.ย.-มิ.ย. 62 รายได้ 42,509 ล้านบาท)
ขาดทุน 13,701 ล้านบาท (เม.ย.-มิ.ย. 62 ขาดทุน 7,112 ล้านบาท)
และเมื่อรวมกับผลประกอบการในไตรมาสแรก ทำให้รายได้ของการบินไทยในครึ่งแรกปี 2563 มีรายได้ 40,493 ล้านบาท
ผลประกอบการการบินไทย ครึ่งปีแรก 2563
รายได้ 40,493 ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย. 62 รายได้ 92,300 ล้านบาท)
ขาดทุน 18,308 ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย. 62 ขาดทุน 7,939 ล้านบาท)
รายได้ที่ลดลงของการบินไทยในครึ่งปีมาจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินที่ลดลงมามากถึง 57.2% จาก 75,622 ล้านบาทในปี 2562 เหลือเพียง 31,133 เท่านั้น
แต่รายได้ที่ลดลงของการบินไทยเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อผู้โดยสาร 1 คน การบินไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 17.0% จากการให้บริการเช่าเหมาลำ
สำหรับรายจ่าย การบินไทยมีรายจ่ายที่ลดลงเช่นกัน ครึ่งปีแรก 2563 การบินไทยมีรายได้จ่าย 42,957ล้านบาท จาก 70,225 ล้านบาท ในปี 2562 จากการให้บริการผู้โดยสารที่ลดลง
ไทยแอร์เอเชีย
สายการบิน Low Cost อย่างไทยแอร์เอเชียได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนเกิดภาวะขาดทุนมากถึง 3,171.2 ล้านบาท ในครึ่งปีแรก 2563 จากเดิมที่ทำกำไรได้มากถึง 324.8 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 เนื่องจากไทยแอร์เอเชีย เป็นพอร์ตรายได้หลักของบริษัท
ผลประกอบการไทยแอร์เอเชีย ครึ่งปีแรก 2563
รายได้ 9,675.3 ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย. 62 รายได้ 21,624.0 ล้านบาท)
ขาดทุน 3,171.2 ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย. 62 กำไร 324.8 ล้านบาท)
ส่วนไตรมาสสอง/2563 ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้ 2,221.0 ล้านบาท ลดลง 78% จากปี 2562 ขาดทุน 1,800.7 ล้านบาท
ผลประกอบการไทยแอร์เอเชียไตรมาสสอง 2563
รายได้ 2,221 ล้านบาท (เม.ย.-มิ.ย. 62 รายได้ 10,006.4 ล้านบาท)
ขาดทุน 1,800.7 ล้านบาท (เม.ย.-มิ.ย. 62 ขาดทุน 799.2 ล้านบาท)
รายได้ที่ลดลงของไทยแอร์เอเชียมาจากการลดลงของผู้โดยสาร จาก 11,440,000 ล้านคน 13,260,000 ที่นั่ง ในครึ่งปีแรก 2562 เหลือเพียง 4,810,000 ล้านคน 5,970,000 ที่นั่งในครึ่งปีแรกของปีนี้
ส่วนไตรมาสสอง 2563 ไทยแอร์เอเชียมีจำนวนผู้โดยสาร 280,000 คน 540,000 ที่นั่ง จาก 5,580,000 ล้านคน 6,750,000 ที่นั่ง ในช่วงเดียวกันปี 2562
การลดลงของจำนวนผู้โดยสารส่วนหนึ่งมาจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของภาครัฐที่จำกัดจำนวนที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และการงดจำหน่ายอาหารและสินค้าบนเครื่องบินซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้ที่สำคัญของไทยแอร์เอเชียชั่วคราว ส่งผลให้ไทยแอร์เอเชียมีรายเฉลี่ยต่อผู้โดยสารต่อคนเหลือเพียง 1,031 บาท ต่อคน จากเดิม 1,390 บาท ต่อคนเท่านั้น
บางกอกแอร์เวย์ส
สายการบินบางกอกแอร์เวย์สซึ่งเป็นสายการบินในเซกเมนต์บูทีคแอร์ไลน์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงจาก 35,679 เที่ยวบินในครึ่งปีแรก 2562 เหลือเพียง 17,831 เที่ยวบินในครึ่งปีแรก 2563 และจำนวนที่นั่งลดลงจาก 4,314,500 ที่นั่ง เหลือ 2,120,000 ที่นั่ง
ส่วนไตรมาสสองสามารถจำหน่ายที่นั่งได้เพียง 60,400 ที่นั่ง ให้บริการผ่าน 765 เที่ยวบิน จากที่เคยจำหน่ายได้ 2,023,100 ที่นั่ง 16,764 เที่ยวบิน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
การลดลงของผู้โดยสารของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในครึ่งปีที่ผ่านมามีผลต่อสัดส่วนรายได้ของ บมจ. การบินกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมาสายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 70% ของรายได้ทั้งหมด
แต่เพราะโควิด-19 ทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนไป
ในครึ่งปีแรก 2563 สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีรายได้ 4,602.8 ล้านบาท คิดเป็น 62.6% ของรายได้ทั้งหมด
ครึ่งปีแรก 2562 สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีรายได้ 10,105.5 ล้านบาท คิดเป็น 72.9% ของรายได้ทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนั้น รายได้ทั้งหมดของ บมจ. การบินกรุงเทพ ในครึ่งปีแรก 2563 จึงเหลือเพียง 6,881.5 ล้านบาท
ผลประกอบการของ บมจ. การบินกรุงเทพ ครึ่งปีแรก 2563
รายได้ 6,881.5ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย. 62 รายได้ 13,353.0 ล้านบาท)
ขาดทุน 3,332.8 ล้านบาท (ม.ค.-มิ.ย. 62 ขาดทุน 187.2 ล้านบาท)
ถ้ามองไปที่เฉพาะไตรมาสสองระหว่างปี 2563 และ 2562 กลับพบว่า สัดส่วนรายได้ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีรายได้ลดลงเหลือเพียง 107.6 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้ 4,0971 ล้านบาท
การลดลงของรายได้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สทำให้สัดส่วนรายได้ในไตรมาสสองของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จาก 67.4% ในปี 2562 เหลือเพียง 10.3% เท่านั้น
ผลประกอบการของ บมจ. การบินกรุงเทพ ไตรมาสสอง 2563
รายได้ 1,043.7 ล้านบาท (เม.ย..-มิ.ย. 62 รายได้ 6,077.4 ล้านบาท)
ขาดทุน 2,974.8 ล้านบาท (เม.ย.-มิ.ย. 62 ขาดทุน 698.1 ล้านบาท)
แม้การสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะมีรายได้ที่ลดลงอย่างน่าเศร้าใจ แต่ก็มียังธุรกิจขาอื่น เช่น ธุรกิจสนามบิน ธุรกิจครัวการบินกรุงเทพ และธุรกิจอื่น ๆ ที่เข้ามาพยุงรายได้ไม่ให้ลดลงไปมากกว่านี้
แม้วันนี้น่านฟ้าจะปกคลุมด้วยเมฆสีดำ และพายุฝนที่เรียกว่า โควิด-19 แต่ Marketeer เชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมสวยเสมอ ขอเพียงแต่สายการบินต่าง ๆ ประคองธุรกิจให้อยู่รอด เพื่อรอยอดอ่อนของการเติบโตผลิใบอีกครั้ง และถึงเวลานั้น ธุรกิจสายการบิน จะกลับมาผงาดบนน่านฟ้าอย่างสวยงาม
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



