ชินโซ อาเบะ ทำความรู้จักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ยืนระยะได้นานสุด
โลกจะจดจำเราอย่างไรขึ้นอยู่กับผลงานที่ฝากไว้ มากกว่าจุดเริ่มต้นจากชาติกำเนิด นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไม ทายาทตระกูลใหญ่ ๆ ไม่ว่าในวงการไหน ต่างต้องพิสูจน์ตัวเองเมื่อขึ้นไปอยู่ระดับเดียวกับคนรุ่นก่อน ๆ โดย Shinzo Abe ที่มีปู่ ตา และทวด เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี คงทราบเรื่องนี้ดีกว่าใครในแวดวงการเมืองญี่ปุ่น จึงสร้างผลงานไว้มากมาย และได้ลงจากตำแหน่งในพร้อมได้การจดจำว่าเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่โลกจดจำว่ายืนระยะได้นานที่สุด
ชินโซ อาเบะ เกิดเมื่อ 21 กันยายน 1954 ในตระกูลที่รายล้อมด้วยนักการเมืองระดับสูงของญี่ปุ่น โดยนอกจากเป็นลูกของ Shintaro Abe อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นในยุค 80 แล้ว เขายังเป็นหลานปู่ของอดีตนายกรัฐมนตรี Kan Abe หลานตาของอดีตนายกรัฐมนตรี Nobusuke Kishi และเหลนของอดีตนายกรัฐมนตรี Eisaku Sato อีกด้วย
นี่จึงทำให้ Shinzo Abe เลือกเรียนต่อระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Seikei หนึ่งในมหาวิทยาชั้นนำของญี่ปุ่น ที่ศิษย์เก่าหลายคนกลายเป็น “เบอร์ใหญ่ ๆ” ในวงการต่าง ๆ ทั้ง การเมือง บริหาร รัฐวิสาหกิจ และกีฬาหรือกระทั่งนางงาม
หลังจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ Shinzo Abe ก็ทำงานกับ Kobe Steel บริษัทเหล็กเก่าแก่ของญี่ปุ่นอยู่ 2 ปี จึงเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการทำหน้าที่เป็นทีมงานกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นครึ่งแรกของยุค 80 สมัยที่พ่อเขาเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวง
จากนั้นเมื่อพ่อย้ายไปเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี Shinzo Abe ก็ได้ตามไปเรียนรู้งานตำแหน่งดังกล่าวด้วย แต่งานในฐานะทีมงานรัฐมนตรีระดับสูงของเขาก็หยุดอยู่แค่นี้ เพราะพ่อพัวพันกับคดีทุจริตใหญ่ของพรรค LDP จนต้องลาออกในปลายยุค 80 พร้อมอดีตนายกรัฐมนตรี Nobutaru Takeshita
Shinzo Abe ได้เป็นนักการเมืองเต็มตัวในปี 1993 หลังได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดยามากูชิ ซึ่งเดิมเคยเป็นของพ่อ
ถัดมาเขาก็มีความก้าวหน้าทางการเมืองตามลำดับ เริ่มจากหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมของพรรค LDP ในปี 1999 ตามด้วยรองเลขาธิการพรรคในปีต่อมา และขึ้นมาเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งเดียวกับพ่อในปี 2005
26 กันยายนปี 2006 Shinzo Abe ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก แต่เพียงปีเดียวก็ต้องลาออก จากกรณีทุจริตของรัฐมนตรีเกษตร และทัศนะเกี่ยวกับสงครามโลกของรัฐมนตรีกลาโหมที่สร้างความไม่พอใจให้คนในประเทศ ขณะที่ตัว Shinzo Abe เองก็ป่วยหนักจากโรคลำไส้อักเสบ
ระหว่าง 26 กันยายน 2006 ถึง 26 ธันวาคม 2012 การเมืองญี่ปุ่นเข้าสู่วังวนเก้าอี้ดนตรีอีกครั้ง เปลี่ยนนายกมนตรีถึง 5 คน โดยในจำนวนนี้ 3 จาก 5 มาจากพรรค DPJ อดีตพรรคฝ่ายค้าน แต่พรรค LDP ก็กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หลังชนะการเลือกตั้ง และ Shinzo Abe ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2
หลังได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง Shinzo Abe ก็เดินหน้าพาญี่ปุ่นออกจากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจที่ยาวนานได้สำเร็จ ด้วยการลดดอกเบี้ย เพิ่มการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล และปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ Abenomics
นอกจากนี้ Shinzo Abe ยังดำเนินนโยบายเชิงรุกต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ญี่ปุ่นในเวทีโลก เช่น ผลักดันจนกรุงโตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020 ซึ่งเขาเองถึงกับลงทุนใส่ชุด Mario ในพิธีปิดโอลิมปิกบราซิลเมื่อปี 2016 ที่ ’ปัง’ สุด ๆ และเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เข้าพบ Donald Trump หลังเรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีเดียวกัน
ทว่าตั้งแต่ปลายปี 2019 Shinzo Abe ก็เริ่มเผชิญมรสุมทางการเมือง จากการจุดชนวนสงครามการค้ากับเกาหลีใต้ ตามด้วยคะแนนนิยมที่ตกลงอย่างรุนแรงหลังรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิดอย่างล่าช้า
สถานการณ์เลวร้ายลงอีกเมื่อมีกระแสข่าวว่าความเครียดจากการบริหารประเทศท่ามกลางปัญหามากมาย ทำให้อาการลำไส้อักเสบของ Shinzo Abe กำเริบขึ้นมาอีก และที่สุดปัญหาสุขภาพนี่เองที่ทำให้เมื่อ 28 สิงหาคมเขาต้องจำใจประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แม้ประกาศลาออก แต่ ชินโซ อาเบะ ก็ยังได้รับการจดจำในฐานะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งนานสุดถึงเกือบ 8 ปี ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีที่เขาทำสถิติแซงหน้าคือ Eisaku Sato ผู้เป็นคุณทวดของเขานั่นเอง
ส่วนผู้ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ คือ Yoshihide Suga เลขาฯ คณะรัฐมนตรีคู่ใจของ Shinzo Abe ที่ชนะการเลือกหัวหน้าพรรค LDP อย่างท่วมท้นเมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมา และ ส.ส. ของพรรค LDP ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจะลงมติรับรอง 16 กันยายนนี้ /kyodo, cnn, nippon, vox, wikipedia
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



