การบินไทย ฟื้นฟูกิจการ ไปอย่างไรต่อในวันที่มีแม่ทัพคือ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” กับภารกิจพา ‘การบินไทย’ กลับมาสยายปีก…ต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่
“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” อดีตซีอีโอ ปตท. คนที่ 9 ตอนนี้กำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่หลวง
ที่จะต้องมากอบกู้ “การบินไทย” ให้กลับมาสยายปีกบนน่านฟ้าอย่างสง่างามอีกครั้ง
จากลูกหม้อที่ร่วมชายคากับ ปตท. มาถึง 38 ปี เขาเริ่มทำงานในตำแหน่งเศรษฐกร
ก่อนจะไต่เต้าสร้างผลงานต่างๆ ไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือการฟื้นฟู IRPC ให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
ปี 2561 เขาสวมหมวกเป็นซีอีโอ ปตท.คนใหม่ คนที่ 9 ที่ถูกมองว่าเป็นม้ามืด
แถมยังเป็นคนแรกที่เป็นผู้บริหารสูงสุดที่จบเศรษฐศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาจบวิศวะกันทั้งสิ้น
หลังจากหมดวาระ และส่งไม้ต่อให้ซีอีโอ ปตท.คนถัดไป
ชาญศิลป์ ถูกแต่งตั้งให้ร่วมทีมนั่งบอร์ด “การบินไทย” ก่อนที่จะถูกเลือกให้สวมหัวโขนกับตำแหน่งรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี การบินไทย
นำทีมเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้กลับมาสยายปีกอีกครั้ง
ที่เมื่อวานนี้ (24 ธ.ค.) เขานำทีมมาแถลงข่าวเป็นครั้งแรกถึงภาพรวมของปีนี้ และทิศทางในอนาคตของการบินไทย
อ่าน : การบินไทยขายประสบการณ์บนฟ้าไม่ได้ ก็ขายประสบการณ์บนดินสิ
เขาบอกว่า ปี 2011 ธุรกิจการบินถูกกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ 911 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกขาดทุนไปกว่า 12,000 ล้านเหรียญฯ
ปี 2020 โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกับประเทศไทยอย่างเดียว แต่ส่งผลให้ความต้องการเดินทางหายไปเยอะมาก จึงทำให้ปีนี้เป็นปีที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจการบินขาดทุนไปกว่า 98,000 ล้านเหรียญฯ
แต่โควิด-19 ก็ทำให้ ‘การบินไทย’ ต้องปรับตัวอย่างมาก
ช่วงที่ผ่านมาการบินไทยมีเที่ยวบินในประเทศเริ่มกลับมา 60-70% แต่เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ที่เชียงราย ที่สมุทรสาคร ปริมาณหายไปเกือบ 10%
เที่ยวบินต่างประเทศจะเป็นเที่ยวบินคาร์โก้ และไฟลต์ไปรับคนไทยจากต่างประเทศ แม้จะไม่สามารถชดเชยรายได้ที่เราเคยได้ก็ตาม
3 ส่วนที่สำคัญ ที่จะทำให้การบินไทยไปต่อได้คือ
- รายได้ ที่ต้องหาเพิ่ม และต้องลดค่าใช้จ่ายด้วย โดยในช่วงปี 2021-2023 ที่ยังไม่สามารถทำไฟลต์ให้กลับไปเหมือนปี 2019 ได้ เพราะฉะนั้นรายได้หลักในปีหน้าจะมาจากกลุ่ม non-flight และคาเทอริ่ง
- การบินไทยเป็นองค์กรใหญ่ ที่ผ่านมาไขมันเยอะจึงต้องรีดไขมันให้ลีนต่อไปได้
- การปรับปรุงการทำงานให้ได้มาตรฐานสากล จะใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย และปรับปรุงการทำงานใหม่เพราะที่ผ่านมาการบินไทยทำงานแบบไซโล
แม้วันนี้การบินไทยยังไม่สามารถยื่นแผนฟื้นฟูกิจการได้ เพราะยังเจรจากับเจ้าหนี้ไม่เสร็จ และต้องขอขยายเวลาการส่งแผนฟื้นฟูออกไป
ไทม์ไลน์ที่ชัดเจนของการบินไทยหลังจากวันนี้คือ
– คาดว่าจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการได้ 2 ก.พ.64 (เดิม 2 ม.ค.64)
– เจ้าหนี้ประชุมพิจารณาเห็นชอบแผนฯ ได้ช่วงกลางเดือน มี.ค.
– ส่งต่อให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาเห็นชอบช่วง เม.ย.-พ.ค.
หลังจากนั้นเมื่อศาลฯ เห็นชอบแล้ว จึงจะสามารถทำตามแผนที่วางไว้
ขณะที่กำลังจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเตรียมเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การบินไทยเองก็ยังทำแผนธุรกิจ กำหนดแผนการบิน รวมทั้งปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม ควบคู่ไปด้วย
เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้สิ่งที่การบินไทยทำคือ ต้องเพิ่มทั้ง รายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด รวมทั้งแก้ปัญหาที่ซับซ้อนภายในองค์กร
โฟกัส 5 ปีต่อจากนี้
– เพิ่มเส้นทางการบินที่ทำกำไร จากที่ปีนี้เจอกับสถานการณ์โควิดบินได้ 25-35 เมือง ปี 2568 จะเพิ่มไฟลต์บินเป็น 75-80 เมือง
– ใช้งานฝูงบินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะใช้งานเครื่องบิน 69-75 ลำ จากการใช้งานในปีนี้ 17-25 ลำ รวมไทยสมายล์
– รายได้จะกลับมาเป็น 125,000-135,000 ล้านบาท แม้จะน้อยกว่าปี 2562 แต่มั่นใจจะมีกำไร
– ปรับโครงสร้างองค์กร จากพนักงานเกือบ 3 หมื่นคนในปีที่ผ่านมา อีก 5 ปี จะมีจำนวนพนักงานแค่ 13,000-15,000 คน
– ลดต้นทุนราว 36%
ทั้งหมดนี้คือ ‘การบินไทย’ ในวันที่ต้องหยุดเลือดไหล
และจะเลือดไหลต่อไปอีกไม่ได้
ความหวังที่จะกลับมาอย่างภูมิฐานคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
ที่รอวันพิสูจน์
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



