เวลากาแฟ /วิรัตน์ แสงทองคำ
อย่างที่ว่าไว้ …“คอกาแฟ” เป็น “..นักผจญเผชิญ มักมีมุมมองโลกในแง่ดี” จะขอเติมอีกช็อตให้หนักแน่นขึ้น “มีมุมมองที่แตกต่าง” ด้วย
“ช่วงปลายปี ผู้คนเคลื่อนไหว เดินทางขวักไขว่มากที่สุดช่วงหนึ่ง แม้ว่าปีนี้มีข้อจำกัดในเชิงภูมิศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งแห่งโลกาภิวัตน์ ภายใต้ Great Lockdown กำลังจะเป็นไปหนึ่งปีเต็ม ๆ นั้น อย่างไรเชื่อว่า โลกกำลังจะค่อย ๆ เปิดกว้างอีกครั้งในไม่ช้านี้” (จากตอนที่แล้ว) สรุปความขมวดปมตอนท้าย ยังเชื่อจะเป็นเช่นนั้น แม้ว่าสถานการณ์จะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง โลกจะเปิดกว้างขึ้นอย่างไม่มิพักสงสัย แม้ว่าจะช้ากว่าที่คาดไว้เดิม
ส่วนท่อนแรก ๆ ที่ว่า “ช่วงปลายปี ผู้คนเคลื่อนไหว เดินทางขวักไขว่..” เป็นเช่นนั้นจริง ที่เป็นไปได้เฉพาะภายในประเทศ
หนึ่งในนั้น Road trip เดินทางท่อง(เกือบ)ทั่วอีสาน เติมเต็มประสบการณ์ กับฉากตอนใหม่ๆ ตื่นเต้น และเร้าใจไปอีกแบบ
เราตั้งใจเดินทางออกนอกเส้นทาง “ธรรมทัวร์” ยอดนิยม และคลาสสิก ไม่ได้เดินตามรอยตำนานอีสานดั้งเดิม เรื่องราวพญานาคแห่งแม่น้ำโขง และตั้งใจไม่ขึ้นหอคอยสูงที่เพิ่งสร้างกัน ณ ใจกลางเมืองหลายจังหวัดอีสาน ดูจะเป็นความพยายามสะท้อนกระแส และย้ำ “จุดขาย” วนเวียนและสืบสานกับตำนาน กับอดีต อย่างไรก็อย่างนั้น
Road trip ที่ว่า พยายามแสวงหาสิ่งเล็ก ๆ หลากหลายซึ่งซ่อนอยู่ เป็นไปอย่างเป็นจริง พยายามแสวงหาสีสันและพลังใหม่ ๆ หวังจะขยายจินตนาการอีสานให้ดูกว้าง เป็นไปอย่างยืดหยุ่น และยั่งยืนยิ่งขึ้น


เส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขงไหลเลาะคดโค้งเป็นมาและเป็นไป ตั้งต้นที่ตัวเมือง นครพนม ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็น แขวงคำม่วน ประเทศ ลาว จนถึง มุกดาหาร ตรงข้ามเป็น แขวงสะหวันนะเขต ชุมชนเมืองฝั่งไทยดูสงบในยามเช้าตรู่หน้าหนาว พึงสังเกตวิถีชีวิตผู้คนสนใจสุขภาพ ออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน อย่างคึกคักพอควร มองไปอีกฝั่งดังฉากหลังซึ่งตัดกัน ผืนป่า เทือกเขา เขียวครึ้ม สะท้อนซึ่งความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์แบบพึ่งพา ระหว่างชุมชนเมืองที่มีแสงสี กับชุมชนท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา หวังว่าจะรักษาความสัมพันธ์ด้วยจังหวะช้า ๆ ไว้นาน ๆ




เรื่องราวผู้คนกับแม่น้ำโขงมีมากมายเหลือเกิน เฉพาะ “ไปมาหาสู่กัน” จากดินแดนทั้งสองฟากฝั่งยังคงอบอวล ตัดฉากประวัติศาสตร์สำคัญไม่ช้าไม่นานซึ่งเชื่อมโยง จากยุคที่เรียกกว่า “อินโดจีนแห่งฝรั่งเศส” (Indochine française หรือ French Indochina) ในช่วงปี 2430-2473 อาณานิคมฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามและลาว จนถึงยุคสมัยผู้คนหลากหลายในภูมิภาคหลอมรวมอย่างเป็นเอกลักษณ์ ด้วยวิถีและวัฒนธรรม การอยู่การกินเฉพาะตัว กลมกลืนลื่นไหลตามกาลเวลา ด้วยความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและเข้าถึงกันมากยิ่งขึ้น ๆ แม้สิ่งที่คงทนอย่างอาคารยุคอาณานิคม แม้รักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ แต่ได้เปลี่ยนหน้าที่ตามบริบทใหม่ ๆ อย่างพิพิธภัณฑ์ ร้านค้า และคาเฟ่ ทั้งที่ริมฝั่งโขง นครพนม-มุกดาหาร จนลึกเข้าไปในแผ่นดินถึง ยโสธร ที่มีชุมชน เมืองเก่า ในยุคเดียวกันคงเหลือร่องรอยอิทธิพลอย่างผสมผสานไว้


อีสานซ่อนความหลากหลายเชิงคุณค่า ทรัพย์สินสังคมไทยที่มีค่ายิ่งอย่างหนึ่งคือ ข้าวหอมมะลิ แม้ช่วงเดินทางผ่านทุ่งนาอันกว้างใหญ่ในทุ่งกุลาร้องไห้ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้ว แต่ตั้งใจค้างแรมที่พักกลางทุ่งนา สุรินทร์ สัมผัสวงจรต่อจากนั้น กับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ในวิถีเกษตรสมัยใหม่ที่เติบโต และพัฒนาอนุพันธ์แปรรูปหลากหลาย




อีสานซ่อนความหลากหลายชาติพันธุ์และประเพณี อย่างเชื้อสายกูยแห่งอีสานใต้ (นอกจากเชื้อสายลาวและเขมร) มีเรื่องราวตำนานสัมพันธ์ดั่งครอบครัวกับช้างมาช้านาน 3-4 ศตวรรษ ด้วยภารกิจแห่งตำนาน เรื่องเล่า กับบันทึกประวัติศาสตร์ เมื่อบริบทคลี่คลาย กลายเป็นกระแสแห่งยุคสมัย เรื่องราว ช้างกับสังคมไทย ใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น ยิ่งเข้าถึงและเชื่อมโยง เมื่อมองเรื่องราวเบื้องล่างจากหอคอยสูงโดดเด่นแห่งเดียวในหมู่บ้านเล็กๆ


งานฝีมือมีคุณค่าอีกอย่างที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์ การ ทอผ้าไหม ตามฝีมือและประเพณีโบราณ ประสานกับยุคสมัย เยือนหมู่บ้านอันเงียบสงบและร่มรื่น วิถีชีวิตกับงานในชนบทห่างไกล มีชื่อเสียงขจรขจาย ด้วยผลงานทอเสื้อผ้าไหมให้ผู้นำ APEC ซึ่งมาประชุม ณ กรุงเทพฯ เมื่อเกือบ ๆ สองทศวรรษที่แล้ว
ตามเส้นทาง Road trip อย่างไม่รีบร้อน มีโอกาสมองเห็นสีสันที่แตกต่าง สัมผัสบางกระแสอีสาน พลังซึ่งขับเคลื่อนโดยพวก Startup หนุ่มสาว






มื้อค่ำ-ร้านอาหารฟิวชั่นอีสาน (ภาพ 10) โดยเชฟหนุ่มสองพี่น้องผู้พกประสบการณ์เกือบ ๆ 10 ปีจากสหรัฐฯ และพัก โรงแรมเล็ก ๆ สไตล์ Tropical Modern (ภาพ 11) ผลงานสถาปนิกรุ่นใหม่ ใน อุดรธานี มื้อเที่ยงอีกวัน ณ ริมฝั่งโขง ที่ มุกดาหาร มองเห็นสะพานมิตรภาพและฝั่งสะหวันนะเขต ใน ตึกสถาปัตยกรรมอิทธิพลอาณานิคมฝรั่งเสศ ที่เป็นทั้งโรงแรม ผับและร้านอาหาร (ภาพ 12-13) หนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งผ่านประสบการณ์ธุรกิจร้านอาหาร ผันตัวจากกรุงเทพฯ มาที่นี่ วันท้าย ๆ ปลายทางทริป พักค้างแรม ฟาร์มสเตย์ (ภาพ 14-15) กลางทุ่งนาข้าวหอมมะลิ สุรินทร์ มื้อค่ำเป็นอาหารพื้นถิ่นอีสานใต้ ชิมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแปรรูปจากข้าว และยามค่ำชมหิ่งห้อยริมห้วย ตามมาด้วยเรื่องเล่ายามดึก เกี่ยวกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่เชื้อสายกูย ผู้มีประสบการณ์กิจการโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวภาคใต้พักใหญ่ ก่อนจะกลับบ้านเกิด


มีอีกสิ่ง คือ “ชิ้นส่วน” เล็กมาก ๆ ที่ขาดไม่ได้ มีพลังบางอย่างที่เหลือเชื่อ ในปรากฏการณ์สีสันอีสานใหม่
คือเรื่องราวที่จะว่าต่ออีกตอน
วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

