ตลาดหนังสือ ยังไหวไหม ? วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและพฤติกรรมหนอนหนังสือในวันที่มีทางเลือกมากมาย

ทิศทางของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน

จากปัจจัยหลักอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการดิสรัปท์ของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์นั้นต้องปรับตัว

ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่มีกลุ่มผู้อ่านชัดเจนในเนื้อหาเฉพาะทางก็มีการเติบโตมากขึ้น

ที่สำคัญคือความท้าทายใหม่ที่คู่แข่งขันไม่ใช่ธุรกิจเดียวกันอีกต่อไป

แต่คือกิจกรรมความบันเทิงอื่น ๆ ที่เข้ามาดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่กินเวลาของนักอ่านไปเป็นจำนวนมากต่อวัน

เช่นเดียวกับตลาดหนังสือในไทย

ที่แม้ผู้คนจะอ่านหนังสือ และใช้เวลาอ่านมากขึ้น

ปี 2561 คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือและอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 78.8 หรือ 49.7 ล้านคน

และใช้ระยะเวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน

แต่ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังสือของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากที่เคยมีสำนักพิมพ์หลากหลาย หนังสือหลาย ๆ หัว และร้านหนังสือมากมาย บางรายก็จำใจต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย

หลายปีก่อนมูลค่า ตลาดหนังสือ ไทยอยู่ที่ระดับ 25,000 ล้านบาท ก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ

ปีที่ผ่านมายิ่งหนักจากที่คาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าตลาดหนังสือจะอยู่ที่ราว 18,000 ล้านบาท

พอเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีมูลค่าอยู่ที่ 12,000 ล้านบาทเท่านั้น

ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ที่เห็นได้ชัดในเรื่องการปรับตัวเพื่อไปต่อคือ “งานสัปดาห์หนังสือ” ที่ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน On Ground มาสู่ Online แบบเต็มตัวเป็นครั้งแรก

แต่เสน่ห์ของงานสัปดาห์หนังสือคือการได้ออกไปเดิน ไปเลือกซื้อหนังสือด้วยตัวเอง เห็นบรรยากาศร้าน สำนักพิมพ์ต่าง ๆ

ทำให้การจัดงานสัปดาห์หนังสือแบบออนไลน์ครั้งแรกนั้น ทำได้เพียง 36 ล้านบาท หรือหายไปกว่า 80%

ฟากร้านหนังสือในไทย 5 แบรนด์ใหญ่ B2S SE-ED นายอินทร์ Kinokuniya และ Asiabooks

B2S มีมูฟเมนต์ให้เห็นมากที่สุดทั้งการปรับตัวไปออนไลน์ในแบบ omni channel รวมทั้งปรับโฉมหน้าร้านใหม่เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้งานมากขึ้น

ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมามีเพียง 2 รายที่ยังมีกำไรคือ Kinokuniya และ Asiabooks

เรามองว่าสิ่งทำให้ Kinokuniya และ Asiabooks ยังตอบโจทย์คือความแตกต่างจากร้านหนังสือเชนสโตร์อื่น ๆ  มีหนังสือต่างประเทศที่หลากหลาย และมีหนังสือต่างประเทศที่ร้านหนังสืออื่น ๆ ไม่มี

การมีหนังสือที่จับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม ก็ทำให้ลูกค้ากลุ่มเหล่านั้นรู้เลยว่า หากต้องการหาหนังสือก็ตรงมายังที่ร้านได้เลย ไม่ต้องมัวไปเดินหาเปรียบเทียบโปรโมชั่นกับเจ้าอื่น ๆ ให้มากมายนักนั่นเอง

ส่วนในปีนี้ตลาดหนังสือไทยน่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลัก ๆ มาจากการเกิดหนังสือใหม่เปิดตัวมากขึ้น การล็อกดาวน์มีไม่มากเหมือนก่อน และคนเข้าใจในสถานการณ์โควิด-19

มูลค่าตลาดหนังสือปีนี้ก็น่าจะกลับมาโตขึ้นอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทได้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน