ในวันที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น และเทรนด์ Food Traceability หรือกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารโลกมาแรง
เทรนด์นี้กระทบและท้าทายธุรกิจการเกษตรและอาหารของไทยแค่ไหน มาหาคำตอบ
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยระบุว่า โจทย์ใหญ่ของธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยในระยะถัดไป คือการรับมือกับมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ
โดยเฉพาะข้อกำหนดในการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร หรือ Food Traceability ที่เข้มข้นขึ้น
จากปัจจัย
1. ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร
ข้อมูลของ Tetra Pak Index 2020 ชี้ว่า 68% ของผู้บริโภคมีความกังวลเรื่อง Food Safety
ขณะที่รายงานของ Zebra Technologies ชี้ว่า 70% ของผู้บริโภคต้องการทราบที่มาที่ไปของอาหาร
เช่นเดียวกับรายงาน Focus on brand trust ของ IBM ที่พบว่า 20% ของผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น
หากพบว่าสินค้าดังกล่าวมีประเด็นด้านความปลอดภัยทางอาหาร ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาผู้บริโภคจะมี Brand Loyalty ก็ตาม
2. ประเด็นด้านสุขภาพและสวัสดิภาพแรงงาน ที่การตรวจสอบย้อนกลับแรงงานผิดกฎหมายยังถูกนำมาเป็นหนึ่งในเหตุผลของการกีดกันทางการค้า
3. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องการรู้ที่มาที่ไปของอาหาร
ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ แต่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทำให้ผู้ผลิตจะต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ปลูก/เลี้ยง ไปจนกระทั่งสินค้าถูกแปรรูปไปถึงมือผู้บริโภคมีการใช้ทรัพยากรในแต่ละกระบวนการผลิตมากน้อยเพียงใด
ข้อมูลการสำรวจของ Innova Market Insight ชี้ว่า ผู้บริโภค 3 ใน 4 ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
และ 53% ของผู้บริโภคคาดหวังว่าในกระบวนการผลิตอาหารจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคกว่า 35% ตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในกระบวนการผลิต
4. เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ระบบ Food Traceability มีความก้าวหน้ามากขึ้น
5. ผลจากการระบาดของ Covid-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้บริโภคกังวลในการบริโภคอาหาร
การระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของอาหารเพิ่มสูงขึ้น
โดยจากข้อมูลของ Food and Health Survey 2020 ของ International Food Information Council ชี้ว่า ผู้บริโภคถึง 22% ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัยของอาหารจากการปนเปื้อนของ COVID-19 มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความท้าทายที่จะเข้ามาในรูปแบบของมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิต
ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยได้หากเตรียมตัวไม่ทัน
สิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรและอาหารต้องทำต่อไปคือ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบทางการค้าที่ออกมาใหม่ ๆ อาทิ
นโยบาย Farm to Fork ของสหภาพยุโรป ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากฟาร์มไปจนถึงมือผู้บริโภค
โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตและขนส่งอาหารที่มีความโปร่งใส ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจะมีการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารโดยการบังคับติดฉลากเพื่อแสดงข้อมูลสินค้า เช่น โภชนาการ แหล่งที่มา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์
หรือมาตรฐานเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาอาหารจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเอกสารมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2023
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ยังระบุอีกว่า สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ต้องเร่งดำเนินการเรื่อง Traceability อย่างจริงจังมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ ประมง อาหารสัตว์ และสินค้าผักและผลไม้
โดยสินค้าเหล่านี้มักถูกจับตาในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในสินค้า และยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับระบบการตรวจสอบย้อนกลับอาหารค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ในระยะหลังคู่ค้าสำคัญอย่างจีนก็เข้มงวดในมาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ สินค้า 4 กลุ่มหลักมีมูลค่าการส่งออกรวมกันถึง 159,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 16% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยซึ่งอยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



