บนเส้นทางที่ฝ่าวิกฤตกันมาหลายรอบ วันนี้ บริษัท 100 ปีไทย ใครมีรายได้เท่าไรกันบ้าง
บริษัท 100 ปีที่ทำรายได้และกำไรสูงสุดคือ “เอสซีจี”
อายุมากที่สุดคือ บี. กริม เพาเวอร์ 143 ปี
กำไรน้อยที่สุดคือไปรษณีย์ไทย ปี 2563 มีกำไร 160 ล้านบาท
บริหารแบบครอบครัวมานานกว่า 100 ปี คือโอสถสภา ก่อนที่จะให้มืออาชีพนอกตระกูลขึ้นมาบริหารเมื่อปีที่ผ่านมา
108 ปี บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
เป็นบริษัท 100 ปีของเมืองไทยที่ยังสามารถทำรายได้และผลกำไรเป็นอันดับ 1 ถึงแม้จะต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา
จากบริษัทที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2456 หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองและยังยึดติดอยู่กับธุรกิจหลักคือปูนซีเมนต์ ความแข็งแกร่งแบบวันนี้คงไม่เกิดขึ้น
วันนี้ รายได้หลักของเอสซีจีมาจาก 3 ธุรกิจหลักคือ เคมิคอลส์ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
139 ปี บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี”)
บีเจซี เริ่มต้นเมื่อปี 2425 โดยชาวสวิส 2 คนคือ อัลเบิร์ต ยุคเกอร์ และเฮนรี่ ซิกก์ ตั้งบริษัท ชื่อว่า “ห้างยุคเกอร์ แอนด์ ซิกก์ แอนด์ โก” จากนั้นมีการเปลี่ยนผู้บริหาร เปลี่ยนเจ้าของอีกหลายครั้ง
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบริษัทนี้เกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และโครงสร้างธุรกิจก็เปลี่ยนไป จากลงทุนกลายเป็นขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ปัจจุบันมีรายได้หลักจากกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์)
115 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
เป็นธนาคารไทยที่ไม่ยอมโบราณไปตามอายุ แต่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันสมัยอยู่หลายครั้ง
เป้าหมายการเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด” หรือ “The Most Admired Bank” ถูกขับเคลื่อนภายใต้การเป็น ธนาคารดิจิทัล องค์กรดิจิทัล จนกลายเป็นธนาคารที่เป็นอันดับต้น ๆ ทั้งรายได้และกำไรมาอย่างต่อเนื่อง
143 ปี บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด มหาชน
จากร้านขายยา “สยามดิสเป็นซารี่” ของแบรนด์อาร์ด กริม และเภสัชกรชาวเยอรมัน และนายแอร์วิน มุลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรีย ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2421
กลายมาเป็น 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจพลังงาน 2. กลุ่มธุรกิจระบบภายในอาคารและอุตสาหกรรม 3. กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ 4. กลุ่มธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ 5. กลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ 6. กลุ่มธุรกิจด้านคมนาคม และ 7. กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
มี ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัทเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 เข้ามาสืบทอดธุรกิจตั้งแต่อายุ 24 ปี เขาเป็นชาวเยอรมัน แต่มีสัญชาติไทย เป็นผู้ที่มีคอนเนกชั่นและมีบทบาทสำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย
เป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานที่สุดบริษัทหนึ่งในเมืองไทย ที่ยังสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
130 ปี โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
เป็นธุรกิจครอบครัวตระกูลใหญ่ของเมืองไทย “โอสถานุเคราะห์” ที่เริ่มธุรกิจจากร้านขายยาโบราณเล็ก ๆ ย่านสำเพ็งที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2434
ถูกบริหารโดยคนในครอบครัวรุ่นต่อรุ่นจนกระทั่งถึงรุ่นที่ 4 เพชร โอสถานุเคราะห์ แต่เขาได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารและ CEO เมื่อปี 2563 และเพิ่งประกาศขายหุ้นของตัวเองเกลี้ยงพอร์ตไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยให้นักบริหารมืออาชีพ วรรณิภา ภักดีบุตร คนนอกตระกูลขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และขับเคลื่อนองค์กรสู่ศตวรรษใหม่แทน
141 ปี ของ ไปรษณีย์ไทย
ยืนหยัดเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อสารขนส่งมานานแบบไม่มีคู่แข่งมานานกว่า 100 ปี
วันนี้มีคู่แข่งมากมายหลายแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดาหน้าเข้ามา แม้รายได้ของ ปณท ยังยืนหนึ่ง แต่ผลกำไรลดลงจนน่าใจหาย
ปี 2560 ปณท เคยทำรายได้ 27,870 ล้านบาท กำไร 4,220 ล้านบาท
ปี 2563 ปณท รายได้ 23,877 ล้านบาท แต่ผลกำไรลดลงเหลือเพียง 160 ล้าน ปล่อยให้เบอร์ 2 อย่าง เคอรี่ เอ็กซ์เพรส แซงไปได้เป็นปีที่ 2 (ปี 63 KEX รายได้ 18,917 ล้านบาท กำไร 1,405 ล้านบาท)
เป็นอีกยุคของ ปณท ที่ท้าทายมากมาก ๆ
และความสำเร็จของ 6 บริษัทดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างมากเช่นกัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



