ฟู้ดเดลิเวอรี่ ทำไมจึงเป็นเส้นทางหลักสู่ Super App ของหลายๆ แพลตฟอร์ม (วิเคราะห์)
ช่วงนี้เราเห็นแพลตฟอร์มหลายแพลตฟอร์มในประเทศไทยพาตัวเองสู่ Super App ไม่ว่าจะเป็น
-Airasia Supper App ที่เข้าซื้อกิจการ Gojek ประเทศไทย เพื่อหวังผล ขยายผลสู่ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทย ไปพร้อมกับเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาพSuper App ของ airasia Super App ชัดเจนและแข็งแกร่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียน
-แพลตฟอร์ม Shopee ที่หันมาทำ Shopee Food เพื่อพาตัวเองเข้าสู่ตลาดเดลิเวอรี่ และเรามองว่าสิ่งที่ Shopee ทำคือหวังผลระยะยาวคือสร้างความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มตัวเองสู่ Super App
-ล่าสุดแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood เพิ่งประกาศทิศทางธุรกิจปีหน้าว่า จะมุ่งสู่ Super App
และทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าจะเห็นการแข่งขันที่ชัดเจนในปี 2022
เพราะทั้ง 3 แพลตฟอร์มที่เรากล่าวมาในปัจจุบันมีการเตรียมตัวเพื่อพร้อมในการแข่งขันในปีหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่าง Airasia Food และ Shopee Food บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ของ Airasia Super App และ Shopee เริ่มทดลองระบบเตรียมความพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
Robinhood มีแผนเปิดตัวบริการ Travel ในกุมภาพันธ์ 2022 และบริการนี้อาจจะมีการทำตลาดไปพร้อมๆ กับขยายพื้นที่ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ในต่างจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ที่จะเปิดให้บริการในปีหน้า
ไม่รวมถึง Grab และ LINE ที่วางตัวเองเป็น Super App ที่มีบริการฟู้ดเดลิเวอรี่มาก่อนหน้านั้นแล้ว
สาเหตุที่แพลตฟอร์มหันมาใช้ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นหนึ่งในบริการที่จะพาไปสู่ Super App เหมือนๆ กัน แม้จุดเริ่มต้นของธุรกิจในการพัฒนาแพลตฟอร์มจะแตกต่างกันก็ตาม
เรามองว่ามาจากเหตุผลที่น่าสนใจคือ
ฟู้ดเดลิเวอรี่ สามารถเพิ่มฐานลูกค้าและความถี่ในการใช้บริการได้
แม้ฟู้ดเดลิเวอรี่จะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูง จากผู้แข่งรายใหญ่ทั้ง Grab, Line Man, Food Panda คู่แข่งขนาดกลางอย่าง Robinhoon และรายใหม่ที่จะเข้ามาเช่น Airasia Food และ Shopee Food
และยังเป็นธุรกิจที่ต้องแลกด้วยการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในระยะแรก เพื่อทำตลาดดึงดูดฐานลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์
แต่จุดเด่นของธุรกิจของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เป็นจิกซอว์สำคัญในการขับเคลื่อน Super App คือ
1.เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตด้านผู้ใช้งานสูง ที่เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้บริโภคหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น จากข้อจำกัดในด้านต่างๆ
และเมื่อผู้บริโภคเริ่มมีประสบการณ์ในการใช้บริการเดลิเวอรี่แล้ว โอกาสในการกลับมาใช้ซ้ำจากความง่าย สะดวก ไม่เสียเวลาเดินทาง และในบางช่วงเวลายังได้รับส่วนลดจากร้านค้า หรือโปรโมชั่นจากแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อีกด้วย
2.ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นธุรกิจที่สร้างความถี่ในการเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์ม เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่ผู้บริโภคต้องทานทุกวัน และเมื่อผู้บริโภคต้องการทานอาหารที่อยากทานแต่ไม่อยากเดินทาง หรือไม่รู้จะทานอะไรดี ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งจะเข้าแอปฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อสั่งอาหาร หรือไถหน้าจอเพื่อดูว่ามื้อนี้อยากทานอะไร
เมื่อผู้บริโภคเข้ามาในแพลตฟอร์มด้วยความถี่ที่ถี่ขึ้น โอกาสในการเห็นบริการอื่นๆ ที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มก็มีมากขึ้นตามมา และการเห็นที่มากขึ้นนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเช่นกัน
เมื่อพูดถึง Super App หลายคนอาจจะสงสัยว่า Super App คืออะไร
Super App เป็นคำที่ถือกำเนิดครั้งแรกในปี 2010 จากนิยมของ Mike Lazaridis CEO Blackberry ที่ให้คำจำกัดความคำว่า Super App ว่าเป็นการรวมหลายๆ แอปเข้ามาอยู่ในแอปเดียว โดยผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาสลับแอปไปมา และเกิด Ecosystem ดึงดูดให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาใช้ได้ทุกวันผ่านแอปเดียว
ซึ่งเรามองว่า Super App เป็นหนึ่งในแนวทางที่รับกับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่นิยมเก็บแอปที่ใช้ประจำเอาไว้ และลบแอปที่ไม่จำเป็นออกไป เนื่องจากต้องการประหยัดพื้นที่จัดเก็บในมือถือ และอื่นๆ ซึ่งถ้าแอปไม่แข็งแกร่งพอที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้เป็นประจำ อาจจะโดนลบทิ้งได้ง่าย
นอกจากนี้ในมุมของการตลาดเมื่อผู้บริโภคกำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจหรือซื้อสินค้า บริการใดบริการหนึ่งจากแอป แต่ต้องออกไปเพื่อทำอย่างอื่นในแอปอื่น ระหว่างตัดสินใจ โอกาสที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนมีง่ายขึ้นจากสิ่งที่พบเห็นนอกแอป เช่น ข้อเสนอที่ดีกว่า สินค้าที่ชอบมากกว่า หรือเปลี่ยนใจไม่ซื้อสินค้าเพราะโมเมนต์ที่อยากได้ค่อยๆ หายไปจากสิ่งเร้าต่างๆ เป็นต้น
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



