ตลาดอาหารเกาหลี กับซีรีส์เกาหลี คนละเรื่อง แต่ประสานพลังดันเศรษฐกิจเกาหลีใต้เหมือนกัน (วิเคราะห์)
นโยบายอุตสาหกรรมบันเทิงที่วางไว้เมื่อกว่า 20 ปีก่อนกำลังส่งผลดีภาคการส่งออกของเกาหลีใต้จนเกิดเป็นสถิติใหม่
กระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบทเกาหลีใต้เผยว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเล ระหว่าง 1 มกราคมถึง 25 พฤศจิกายนปีนี้ สูงถึง 10,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 340,000 ล้านบาท) สูงกว่ากรอบเวลานี้ของปีก่อน 16.1% และยังเป็นการแตะระดับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก นับจากมีการเก็บสถิติการส่งออกที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 1971 อีกด้วย
ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดปี 2020 แต่เกาหลีใต้ก็ยังมีรายได้เข้าคลังจากการส่งออกมหาศาล โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารทะเล ที่ช่วง 11 เดือนของปีนั้นสูงถึง 9,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 331,000 ล้านบาท) มาปีนี้มูลค่าการส่งออกกลุ่มนี้สูงขึ้นอีกจนแตะหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตามรายงานของกระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบทเกาหลีใต้ระบุว่าในจำนวนนี้ สาหร่ายทำยอดขายได้สูงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าส่งออก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,100 ล้านบาท) ขณะที่ของขึ้นชื่ออื่น ๆ อย่างกิมจิและโสม รวมไปถึงผลไม้อย่างสตรอว์เบอร์รี่และองุ่นก็ยังมีมูลค่าส่งออกในระดับดีมาก
สื่อเกาหลีใต้ระบุว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จดังกล่าว เพราะตลอดเกือบ 2 ปีมานี้ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเพลงเกาหลี (K-pop) พากันบุกตลาดโลก
ในส่วนของภาพยนตร์และซีรีส์ต่างก็มีอาหารและวัฒนธรรมการกินเกาหลีแทรกอยู่ จนทำให้คนในประเทศอื่น ๆ อยากลองลิ้มชิมรสบ้าง จนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของ ตลาดอาหารเกาหลี นั่นเอง
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ยืนยันได้จากการไปกวาดรางวัลในสหรัฐฯ ของวง BTS และการที่วงนี้ได้เข้าไปถ่ายทำ MV ในห้องประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ
ยอดวิว MV บน Youtube ที่เพิ่มรวดเร็วจนเป็นสถิติใหม่จากซิงเกิลอัลบัมของ Lisa สมาชิกชาวไทยวง Blackpink
ขณะที่วงการซีรีส์ก็ไม่น้อยหน้า Squid Game กลายเป็นซีรีส์ยอดฮิตใน Netflix อยู่นานหลายสัปดาห์ ส่งให้ซีรีส์เกาหลีใต้เรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาติด 10 อันดับสูงสุด โดย 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Hellbound ครองอันดับ 1 Squid Game อยู่อันดับ 5 ส่วน Home Town Cha-Cha-Cha อยู่อันดับ 8
ส่วนการทุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ เริ่มช่วงปลายยุค 90 ที่เกาหลีใต้ประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย จนภาคอุตสาหกรรมโรงงานทรุดอย่างรุนแรง
ปี 1998 มีการตั้งหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วเกาหลีใต้ โดยเฉพาะตามสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ มากถึง 300 แห่ง
ภาพยนตร์เกาหลีใต้ทุนหนาเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จในประเทศคือ Shiri ในปี 1999 ที่ทำเงินไป 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 370 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) และมีหนัง My Sassy และ The Classic กับ ซีรีส์ Autumn in My Heart และ Winter Sonata ก็ต่อยอดความสำเร็จไปทั่วเอเชียในช่วงต้นยุค 2000
ส่วน H.O.T คือวง K-pop วงแรกที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ จากนั้นสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ทุกแขนงก็ทยอยบุกตลาดโลกพร้อม ๆ กับแบรนด์เทคโนโลยีร่วมชาติโดยมี Samsung เป็นหัวหอก จนได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมทั่วโลกเช่นในปัจจุบัน/koreatimes, wikipedia, reuters
I-
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ