Squid Game ทำความรู้จักกับซีรี่ส์ที่โดนดองยาว สู่ Content ดังอันดับหนึ่งใน Netflix
ราว 20 ปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลเกาหลีใต้ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง K-Content มากมายก็ทยอยครองใจชาวเอเชีย นับเฉพาะซีรีส์เชื่อว่าทุกคนยังประทับใจกับ Autumn In My Heart, Dae Jung Guem, Full House และ Coffee Prince
Coffee Prince
เมื่อเปลี่ยนจากยุค TV สู่ Streaming จึงไม่แปลกที่ซีรีส์เกาหลีใต้จะเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งฝั่ง Platform และผู้ชม แน่นอนว่าเหล่าสตูดิโอในเกาหลีใต้ก็ทราบถึงสถานการณ์นี้ จึงต่างพากันสร้างซีรีส์ตามมาอีกชุดใหญ่
จนทำให้เรื่องอย่าง Crash Landing on You และ Hospital Playlist เป็นหัวหอกทัพซีรีส์เกาหลีใต้ที่ดังในยุค Streaming
ล่าสุดมีอีกเรื่องที่ตอกย้ำความสำเร็จของซีรีส์เกาหลีใต้ในยุค Streaming และไปไกลถึงระดับโลกอีกด้วย โดยเมื่อ 25 กันยายน Squid Game เป็น Content ที่มีผู้ชมมากสุดใน Platform ของ Netflix ทั่วโลก
ความสำเร็จครั้งนี้น่าสนใจ เพราะนอกจากที่มาแล้ว ยังมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อวงการซีรีส์เกาหลีใต้อีกด้วย
Content เนื้อหาแรงที่คนทั่วโลกดูแล้วติดหนึบ ยุค Netflix ยึดซีรีส์เกาหลี
ผิดจากนี้ไปไม่มากถ้าจะกล่าวว่ากันยายน 2021 เป็นหมุดหมายสำคัญของวงการบันเทิงเกาหลีใต้บนเวทีโลก โดยฝั่งเพลง K-pop ลลิษา มโนบาล หรือที่แฟน ๆ วง Blackpink รู้จักในชื่อ Lisa ปล่อยเอ็มวี LALISA จาก Single พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งด้านยอดวิวบน Youtube อย่างรวดเร็ว
ถัดจากนั้น BTS ก็ขึ้นพูดในสหประชาชาติครั้งที่ 2 พร้อมเอ็มวีและปล่อยเพลงที่ทำร่วมกับ Coldplay วงร็อกดังของอังกฤษออกมา
ฝั่งซีรีส์เกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า Squid Game ใช้เวลาไม่กี่วัน ไต่อันดับขึ้นไปจนเป็น Content ที่มีคนดูมากสุดอันดับ 1 ใน 66 จาก 86 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าซีรีส์เกาหลีใต้พัฒนาไปอีกขั้น ไม่ใช่โดนใจแค่ชาวเอเชียด้วยกันเท่านั้น
ความดังของ Squid Game ยังส่งผลให้ Alice in Wonderland ซีรีส์ญี่ปุ่นเนื้อหาสุดโหดเอาตัวรอดของญี่ปุ่นกลับมาได้รับความนิยม
และดันมูลค่าบริษัทของ Bucket Studio เพิ่มเป็น 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,700 ล้านบาท) ทั้งที่มีหุ้นอยู่ใน Artist Company บริษัทของ Lee Jung-Jae นักแสดงที่รับบทนำในเรื่องและร่วมสร้างซีรีส์ด้วยเรื่องนี้เพียง 15% เท่านั้น
Lee Jung-Jae
ส่วน Neflix ก็ไม่รอช้าเกาะกระแส เผยว่าอีกไม่กี่เดือนจากนี้จะมี K-Content ออกมาให้ชมกันถึง 10 เรื่อง ทั้งหนัง ซีรีส์ รายการแนว Reality หรือแม้กระทั่งรายการอาหาร
Squid Game เริ่มขึ้นเมื่อปี 2009 จากการที่ผู้กำกับ Hwang Dong-Hyuk อยากทำซีรีส์แนวเอาตัวรอดแบบเลือดสาด หลังได้แรงบันดาลใจจาก Battle Royale และ Liar Game การ์ตูนญี่ปุ่นแนวเดียวกันที่ต่างก็สร้างปรากฏการณ์ได้พอสมควรเมื่อถูกนำมาทำเป็นหนังและซีรีส์
Hwang Dong-Hyuk
แต่เนื้อหาที่รุนแรงกลายเป็นข้อจำกัด โดยนายทุนวงการบันเทิงเกาหลีใต้ ไม่เห็นว่าซีรีส์เรื่องนี้ที่เดิมใช้ชื่อว่า Six Round จะ ‘ขาย’ ได้ ทำให้เป็นโปรเจกต์ที่ถูกพับเก็บไว้ โดยแม้ถัดมาในปี 2014 Hwang Dong-Hyuk จะดังจาก Miss Granny หนังอบอุ่นที่หลายประเทศรวมถึงไทยซื้อไปทำใหม่ (ในชื่อ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น)
แต่เขาก็ยังคงขัดเกลาบทของ Squid Game และไม่ละความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้เมื่อมีโอกาส
แล้วโอกาสของ Hwang Dong-Hyuk ก็มาถึงเมื่อ Netflix รุกเข้ามาในเกาหลีใต้เมื่อปี 2016 โดย ปี 2019 Streaming Platform เบอร์หนึ่งของโลก ให้ทุน 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 575 ล้านบาท) ให้เขาได้เดินหน้าถ่ายทำเรื่องนี้ แบบให้อิสระเต็มที่
ราวกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว Netflix เผยว่าได้ให้ทุนสร้างบริษัทในเกาหลีใต้ 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,900 ล้านบาท) เพราะมั่นใจว่า K-Content จะโดนใจผู้ชมทั่วโลก
เรื่องนี้เป็นจริงขึ้นมาช่วงกันยายน เมื่อ Squid Game ซีรีส์แนวเอาตัวรอด ที่คนกลุ่มใหญ่ในชุดวอร์มสีสดใสมาเล่นเกมพื้นบ้านเกาหลีกันแบบถึงตาย มี Lee Jung-Jae แสดงนำและ Gong Yoo เป็นแขกรับเชิญ กลายเป็นซีรีส์กระแสแรงจนติดอันดับ 1 Netflix ในหลายประเทศ
ความดังของ Squid Game ไม่ได้สร้างกระแสแค่ในวงการ Streaming และดันให้ราคาหุ้นกับมูลค่าของบริษัทที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นเท่านั้น แต่ยังสร้างความปั่นป่วนให้เจ้าของเบอร์โทรศัพท์ที่ไปตรงกับเนื้อหาในเรื่องโดยบังเอิญ เพราะคอซีรีส์กระหน่ำโทรไปจริง
ขณะเดียวกันนัก Huh Kyung-Young นักการเมืองเกาหลีใต้ที่จะลงเลือกตั้งประธานาธิบดียังขอเกาะกระแสแบบไม่หวั่นโดนวิจารณ์ว่าหิวแสง ด้วยการเสนอเงิน 85,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.8 ล้านบาท) ซื้อเบอร์นี้อีกด้วย
ความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของ Squid Game เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเนื้อเรื่องชวนติดตามและฉากที่สีสันสดใสตัดกันอย่างรุนแรงกับความเลือดสาดในเรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีเกมพื้นบ้านเกาหลีใต้ที่ผู้ชมกลุ่มผู้ใหญ่ยังพอย้อนนึกไปถึงวัยเด็ก และแทรกการวิจารณ์สังคมไว้อย่างเจ็บแสบ
ขณะเดียวกันยังใช้เนื้อหาแนวเอาตัวรอด มีความเป็นทีม และตัวละครอยู่ในเสื้อผ้าชุดเดียวกันซึ่งอาจโยงไปได้ถึง Money Heist ซีรีส์แนวปล้นสัญชาติสเปนยอดฮิตที่กำลังจะมีเวอร์ชั่นเกาหลีใต้อีกด้วย
ผู้กำกับกล่าวว่าภูมิใจกับความสำเร็จ แต่ก็เหนื่อยมากและคงยังไม่เดินหน้าทำซีซั่นสองในเร็ว ๆ นี้ ส่วนเรื่องเนื้อหาเขาเผยว่ามีการแทรกการแข่งขันที่ดุเดือดในวงการหนังและซีรีส์ในเกาหลีใต้ยุคนี้ไว้ด้วย
เพราะการที่ K-Content ดังไปทั่วโลกทำให้บรรดาคนเบื้องหลังต้องแข่งขันดุเดือดแบบเอาเป็นเอาตายยิ่งขึ้น แบบใกล้จะตายไม่ต่างจากใน Squid Game นั่นเอง
สื่อเกาหลีใต้เกาะติดความสำเร็จของSquid Game โดยส่วนใหญ่รายงานว่าถือเป็นเรื่องดี แต่ก็กำลังส่งผลรุนแรงต่อวงการหนัง-ซีรีส์ในประเทศ รวมไปถึงโทรทัศน์และ Streaming Platform ในประเทศ
เพราะผู้กำกับและทีมเขียนบทมอง Netflix เป็นเป้าหมายหลักในการขอทุนและปั้นโปรเจกต์ จนแทบจะมองข้ามบริษัทในประเทศแล้ว
นี่ทำให้สถานีโทรทัศน์เกาหลีใต้มีผู้ชมลดลง ไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก ส่วน Streaming Platform ก็มีปัญหาในการหา Content ใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และฉุดให้เจำนวนสมาชิกรายเดือนลดฮวบลงไปด้วย
ตรงกันข้ามกับ Netflix ที่ทะยานขึ้นไม่หยุด โดยสิงหาคมปีนี้ ทำเงินได้ 635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21,500 ล้านบาท) เพิ่มจาก 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,000 ล้านบาท) ของสิงหาคมปีที่แล้ว/koreaherald, koreantimes, variety, yahoofinance, allkppop, forbes, wikipedia, nme
I
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ