อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ มาทำความรู้จักกับ CEO คนที่ 10 ของ ปตท. กัน

เพียงแค่เวลา 1 ปีกว่า ๆ  ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

เขาทำให้ภาพของ ปตท. รัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของประเทศ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชัดมากขึ้นทุกที

อรรถพลขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อ 13 พ.ค. 63 ท่ามกลางปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ วิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลก

โควิด -19 จะไปต่อหรือหยุดตรงจุดไหนไม่รู้ แต่วันนี้ในงาน เวทีธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เขาประกาศเดินหน้าต่อ โดยเผยว่า  

ในแผน 5 ปีของกลุ่ม ปตท. มีเงินลงทุนสำหรับธุรกิจที่มีแผนงานชัดเจนแล้ว และเผื่อไว้ในโครงการในอนาคตที่จะเข้ามารวมเป็นเงิน 1.7-1.8 ล้านล้านบาท  

หลายคนอาจจะคิดว่าเมื่อ ปตท. แยกส่วนงานธุรกิจทางด้านรีเทล คือโออาร์ ออกไปแล้วรายได้หลักจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมอาจจะมีความเสี่ยง ในเมื่อรูปแบบของพลังงานในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลงไป

แต่วิสัยทัศน์ของผู้นำคนใหม่มองไกลไปกว่านั้นมาก

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ใช้หลัก 4R เข้ามาบริหารจัดการเพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤตในระยะสั้น รวมถึงพลิกมาเป็นโอกาสการเติบโตในยุค New Normal  คือ

Resilience เป็นการสร้างความยืดหยุ่น เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 Restart เตรียมความพร้อมในการที่จะนำองค์กรให้กลับมาให้ได้

 Reimagination เป็นการจินตนาการว่าโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร เตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับโลกอนาคต 

Reform การปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

กลยุทธ์นี้คือที่มาของการประกาศเปลี่ยนวิชั่นองค์กรเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมาจาก “Thai premier multinational energy company”  มาเป็น “Powering life with future energy and beyond”

เพราะรูปแบบของพลังงานในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป  ดังนั้นการดำเนินงานของ ปตท. ในอนาคตไม่ใช่แค่พลังงานแต่เป็น  Future Energy and Beyond

Beyond คือ new business (ธุรกิจใหม่) และ future energy ที่เราเห็นการเปิดตัวมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ตัวอย่างของ Future energy  เช่น การร่วมมือของ ปตท. กับบริษัทจากไต้หวัน ในการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนด้านการผลิตยานยนต์ EV โดยเฉพาะคาดว่าจะเริ่มดำเนินการประมาณปี 2566 หรือ 2567  

เดินหน้าเพิ่มสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับ EV ทั่วประเทศให้พร้อมใช้งาน

ในเรื่อง Beyond จะมีอยู่หลายธุรกิจ เช่น ร่วมมือกับไออาร์พีซี ตั้งบริษัท Innopolymed สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดูแลทางด้านผลิตภัณฑ์ยา บริษัท ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่าย เพื่อเจาะตลาดผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร

ส่วนธุรกิจทางด้านไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ จะเป็นหน้าที่ของโออาร์ บริษัทในเครือ

โดยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2030 ธุรกิจที่เป็น future energy and beyond จะต้องทำกำไรให้กับกลุ่มไม่ต่ำกว่า 30%

 40 กว่าปีก่อน ปตท. สามารถขับเคลื่อนองค์กรบรรลุถึงเป้าหมาย การเป็นบริษัทที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตขนาดใหญ่สุดในประเทศ  และการทำธุรกิจที่ติดอันดับโลก 

 ในทศวรรษที่ 50 ปตท. กำลังเป็นมากกว่าธุรกิจพลังงานในรูปแบบเดิม ๆ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน บทบาทของ อรรถพล  ซีอีโอคนที่ 10 จึงสำคัญอย่างมาก ๆ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน