รู้จัก Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง Softbank เจาะวิสัยทัศน์แสนล้านของซามูไรเทคโนโลยี
เอเชียตะวันออกเป็นแหล่งต้นทางที่ส่งออก Technology ออกมาให้คนทั่วโลกใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Sony ,Canon และ Toyota ตามด้วยแบรนด์เกาหลีใต้อย่าง Hyundai ,LG และ Samsung โดยมี HTC กับ Asus แบรนด์ไต้หวันเป็นตัวสอดแทรก จนมาปัจจุบันที่เป็นยุคของ Huawei ,Alibaba และแบรนด์จีนอีกมากมาย ทว่าในอนาคตเป็นไปสูงว่าจะถึงคราวของแบรนด์ญี่ปุ่นอีกครั้ง เพราะบรรดา Disruptive Technology แทบทุกประเภทที่เราใช้กัน อาทิ Sharing และ Internet of Thing จะมีกองทุน Vision Fund เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเจ้าของวิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร (CEO) Softbank แบรนด์โทรคมนาคมชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น
Son เกิดที่เมืองโทสุ จังหวัดซากะ เกาะคิวชู เมื่อ 11 สิงหาคม 1957 เป็นลูกคนที่ 2 จากพี่น้อง 4 คนของตระกูลชาวเกาหลีใต้รุ่น 3 ที่ย้ายมาตั้งรกรากในญี่ปุ่น โดยวัยเด็กเผชิญการดูถูกจากชาวญี่ปุ่นต่อคนเชื้อสายเกาหลี เขาจึงทะเยอทะยานอยากสร้างความสำเร็จเพื่อสยบการเหยียดหยาม ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากการไปเดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมปลายในสหรัฐทั้งที่เรียนในโรงเรียนชื่อดังของท้องถิ่นไปเพียง 6 เดือน ท่ามกลางการทัดทานจากครอบครัว โดยเจ้าตัวกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ผมอยากพิสูจน์ตัวเองและแสดงให้เห็นว่าถ้ามีความมุ่งมั่นมากพอเราทุกคนล้วนเท่ากันไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไร”
หลังจบมัธยมปลาย Son ศึกษาต่อในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Berkley และเปี่ยมความมุ่งมั่นกระทั่งศาสตราจารย์ท่านหนึ่งยังจำได้ และคาดว่าเขาต้องประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ
คำทำนายนี้ปรากฏเค้าลางความจริงให้เห็นจากการที่เขาทำเงินได้ถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากขายเครื่องแปลภาษาแบบพกพาที่คิดค้นเองให้ Sharp และนำเงินจำนวนนี้ไปต่อยอดนำเข้าตู้เกม Space Invader จากพ่อซึ่งทำธุรกิจร้านเกมในญี่ปุ่นและตู้ปาจิงโกะมาขายในสหรัฐ ถัดจากนั้นเขา และ Masomi Ono ภรรยาชาวญี่ปุ่นที่พบรักกันระหว่างเรียนก็หอบเงินราว 3 ล้านเหรียญสหรัฐกลับบ้านเกิด
ปี 1981 บัณฑิต Berkley ผู้มี Sakamoto Ryoma ซามูไรหัวก้าวหน้าเป็นแรงบันดาลใจ ได้ก่อตั้ง Softbank บริษัทตัวแทนจำหน่าย Software โดยแม้ต้องล้มลุกคลุกคลานในช่วงแรกแต่ไม่กี่ปีถัดมา บริษัทในความดูแลของเขาก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับท่ามกลางการขยายตัวของธุรกิจ IT ของญี่ปุ่น
จนปี 1994 เข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมธุรกิจในเครือที่เพิ่มขึ้น เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี และการมีหุ้นในสถานีโทรทัศน์ Asahi TV
ได้แผลและได้ผล
ขณะที่ช่วงรอยต่อระหว่างยุค 90 กับยุค 2000 ขยับขยายไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Internet ต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่ได้แผลและได้ผล
โดยที่แย่คือการสูญเงินมหาศาลช่วงที่ฟองสบู่ธุรกิจ Dot Com แตก เพราะลงทุนใน Website มากเกินไป ส่วนที่ดีคือในจำนวนบริษัทที่เหลือรอดมา มี Alibaba ซึ่งกลายเป็น E-Commerce ดังในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย
ปี 2006 บริษัทที่ชื่อหมายถึงคลัง Software นี้ก็รุกสู่ธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (Operator) ด้วยการซื้อกิจการของ Vodaphone Japan แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Softbank Mobile
โดย 2 ปีถัดมาก็กลายมาเป็นแบรนด์ในธุรกิจนี้ที่ได้รับความสนใจผ่านการเป็นผู้ถือครองสิทธ์จัดจำหน่าย iPhone ในญี่ปุ่น
จากนั้นก็เดินหน้าลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปของการซื้อกิจการ Sprint – Operator ในสหรัฐ กับ ARM บริษัทผู้ผลิต Chip ในอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ของอังกฤษ และลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Sharing Economy ตั้งแต่ WeWork – CoWorking Space อเมริกัน ไปจนถึง App เรียกในเอเชีย Taxi ทุกค่าย รวมถึง Grab
นอกจากนี้ยังมีความสนใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อีกด้วย ยืนยันได้จากการซื้อกิจการ Boston Dynamics บริษัทอเมริกันที่สร้างชื่อจากการผลิตหุ่นยนต์รูปร่างคล้ายสัตว์ที่ทำงานอันตรายแทนมนุษย์ต่อจาก Google และร่วมกับ Alibaba ผลิต Pepper หุ่นยนต์ลักษณะท่าทางคล้ายมนุษย์ (Humanoid)
ขณะเดียวกันยังเข้าพบกับผู้นำรัฐบาลของสหรัฐ อินเดียและเกาหลีใต้เพื่อขอไปลงทุนในกิจการ Technology อีกด้วย
ส่วน Vision Fund ก่อตั้งเมื่อตุลาคมปี 2016 ผ่านวิสัยทัศน์ของ Son ที่อยากร่วมผลักดัน Technology ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคน และเห็นว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนเพื่ออนาคตที่ต้องคว้าไว้เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต
โดยเป้าหมายในการลงทุนคือบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ Internet of Things ,หุ่นยนต์ , Mobile App และธุรกิจด้าน Internet ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งรัฐบาลในชาติอาหรับ อย่าง ซาอุดีอาระเบีย และบริษัท Technology ชั้นนำ เช่น Apple เบื้องต้นระดมทุนได้แล้ว 93,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.2 ล้านล้านบาท) และคาดว่าปีนี้จะถึงเป้า 100,000 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 ล้านล้านบาท) ที่ตั้งไว้ / cnbc ,cnn ,bloomberg ,japantime ,softbank ,wikipedia
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ