เชื่อว่าสักมุมใดมุมหนึ่งในบ้านของคุณ จะต้องมีแบรนด์ Panasonic อยู่ในนั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น แอร์ เครื่องซักผ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย Panasonic ก็ครอบคลุมไปแทบจะทุกประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน
แต่จะมีสักกี่คนกันที่รู้ว่า กว่าแบรนด์เอเชียที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองโอซาก้าแบรนด์นี้จะ Go Global จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับความนิยมในไทยอย่างทุกวันนี้ได้
มันกลับมาจากจุดเริ่มต้นที่เล็ก ๆ อย่างการขายไฟติดหน้าจักรยานของเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นคนนึงก็เท่านั้น
เด็กหนุ่มคนที่ว่าก็คือ Konosuke Matsushita หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันดีในนามของ ‘ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Panasonic’
Konosuke Matsushita เกิดขึ้นมาท่ามกลางครอบครัวที่ยากจน เรียนได้ถึงแค่ชั้นประถามศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาทำงานในร้านขายของ จนในเวลาต่อมาก็ได้ย้ายมาทำงานในร้านขายจักรยาน ซึ่งเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ระบบไฟฟ้าของ Konosuke
เมื่ออายุ 15 Konosuke ก็ได้ย้ายออกมาจากร้านขายจักรยาน สู่การทำงานในบริษัท Osaka Electric Light Company ด้วยเหตุผลที่ตอนนั้นถนนหลักในเมืองโอซาก้าเริ่มจะมีรถยนต์เข้ามาวิ่ง Konosuke จึงมองว่า อีกไม่นานนี้เรื่องของไฟฟ้าจะต้องเป็นอะไรที่ผู้คนพูดถึงกันแน่ ๆ เขาจึงตัดสินใจที่จะออกมาเรียนรู้มัน
และด้วยความเป็นคนใฝ่รู้เมื่ออายุ 22 เขาจึงได้รับตำแหน่งเป็น inspector หรือช่างตรวจสอบ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ช่างเทคนิคหลายคนหวังที่จะก้าวขึ้นไปอยู่ตรงนั้น
โดยระหว่างที่ทำงานอยู่ใน Osaka Electric Light Company เขาก็ได้ใช้เวลาว่างประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า Socket หรือเต้าหลอดไฟขึ้นมา
จนเมื่อทำสำเร็จ Konosuke จึงตัดสินใจลาออกมาจากงานประจำเพื่อมาทำโรงงานผลิต Socket เล็ก ๆ เป็นของตัวเองในบ้านพัก กับเพื่อนร่วมงานในบริษัทอีกคนหนึ่ง
แต่เส้นทางการขาย Socket กลับไม่ได้สว่างไสวเหมือนกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เขาประดิษฐ์ได้ ในปี 1917 เพื่อนร่วมงานคนที่ว่าก็ตัดสินใจเดินออกมา และ Matsushita Electric Houseware Manufacturing ธุรกิจที่เขาใช้ชื่อของตัวเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัทก็เกือบเจ๊ง !
แต่สุดท้ายก็สามารถรอดมาได้ ด้วยออร์เดอร์ไม่คาดฝัน ที่มีคนสั่งแผ่นฉนวนไฟฟ้าเข้ามากว่าพันชิ้น
และออร์เดอร์ที่ไม่คาดฝันนี้ก็ทำให้ Konosuke มีเงินไปลงทุนไปขยายโรงงาน ต่อยอดไปสู่การทำปลั๊กซึ่งถือเป็นโปรดักท์ที่สองของ Matsushita Electric ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปลั๊กหรือ Socket ก็ล้วนได้รับความนิยมจากผู้คน และทำให้บริษัทมีชื่อเสียง จนต่อยอดสู่โปรดักท์ตัวที่ 3 ของ Matsushita Electric อย่างไฟติดหน้าจักรยาน
เพราะคนญี่ปุ่นนิยมขี่จักรยาน แต่แบตเตอรี่ของไฟติดหน้าจักรยานที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาดกลับอยู่ได้นานแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
Konosuke จึงอยากจะเอาชนะข้อจำกัดนี้ ด้วยการผลิตไฟติดหน้าจักรยานที่อยู่ได้นานต่อเนื่องถึง 40 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ และแม้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในตลาดได้ แต่ไฟติดหน้าจักรยานของเขากลับถูกปฏิเสธจากร้านขายส่ง
Konosuke จึงเปลี่ยนกลยุทธ์การขายด้วยการไปทำตลาดกับร้านขายจักรยานโดยตรง เพื่อให้ร้านขายจักรยานและคนที่จะมาซื้อจักรยานได้ลองใช้
ซึ่งผลจากการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว ก็ทำให้ไฟติดหน้าจักรยานของเขาได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นอย่างมาก จนต่อยอดมาสู่การทำไฟติดหน้าจักรยานรุ่นที่สอง ที่เขาตั้งชื่อให้กับมันว่า ‘National’ หมายถึงดวงไฟที่มีความสัมพันธ์กับคนในประเทศชาติ
และชื่อเดียวกันนี้ ก็เป็นชื่อเดียวกับแบรนด์ National ที่เราเคยใช้กันในอดีตนั่นเอง (ดักแก่ไหมล่ะ ฮ่า ๆ) จากนั้นแบรนด์ National ก็ได้เพิ่มไลน์โปรดักท์ด้วยการผลิตเตารีดและวิทยุในเวลาต่อมา
เมื่อถึงปี 1955 หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจากภาวะสงครามและเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน Konosuke จึงได้ตัดสินใจเปิดตัวแบรนด์ Panasonic อย่างเป็นทางการ และสามารถขายธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านเยน ถึง 10 ล้านเยนได้ภายใน 4 ปี ถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความสำเร็จในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ Konosuke ในวัย 60 ได้เป็นอย่างดี
ทำให้ชื่อของ Panasonic ก็ค่อย ๆ ขยายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดย Konosuke ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับร้านค้าปลีก ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่แข็งแรง และทำให้สินค้าของ Panasonic เข้าใกล้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ด้วยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้ ชื่อของ Konosuke จึงได้กลายเป็นตำนาน จนถึงขนาดที่สื่อชื่อดังระดับโลกอย่าง Time นำชีวิตรวมถึงแนวคิดการทำงานของ Konosuke ไปทำเป็น Cover Story ของนิตยสาร
และจากโลกนี้ไปเมื่อปี 1989 Konosuke ด้วยวัย 94
ที่ยังคงทิ้งมรดกไว้ให้กับมวลมนุษยชาติ ทั้งการสร้างอาชีพให้กับพนักงาน Panasonic ในญี่ปุ่น และพนักงาน Panasonic ทั่วโลก
และแม้ผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของ Panasonic ในตอนนี้จะไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับ Konosuke แต่อย่างใด
แต่เขาก็ยังคงยึดถือสโลแกนที่ว่า ‘A Better Life, A Better World : เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อโลกที่ดียิ่งขึ้น’ ของ Konosuke มาใช้เป็นปรัชญาหลักในการดำเนินงานของ Panasonic จนถึงปัจจุบัน
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ